ธุรกิจขยับรับโลกเปลี่ยน

เอไอ หุ่นยนต์ เทคโนโลยี
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

บิ๊กเทคระดับโลกเข้าสู่โหมดเตรียมรับมือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะปะทุหนักขึ้นในปีนี้ จากปัญหาเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ยังคงเป็นขาขึ้น ดังจะเห็นได้จากข่าวการปลดพนักงานของยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีทั้งหลาย ตั้งแต่ยักษ์ “เฟซบุ๊ก” หรือ เมตา, เน็ตฟลิกซ์, แอมะซอน

และเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็ถึงคิวของยักษ์เสิร์ชเอ็นจิ้น “กูเกิล” ที่ประกาศปลดพนักงานถึง 12,000 คน หรือราว 6% ของทั้งหมด ตามด้วยยักษ์สตรีมมิงเพลง และพอดแคสต์ชื่อดัง “สปอติฟาย”

กรณี “กูเกิล” ว่ากันว่าการประกาศปรับลดพนักงานรอบนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา

การชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับลดคน แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว

ท่ามกลางบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีดิสรัปต์ทำให้องค์กรต้องการ “ทักษะ” แบบใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีซึ่งมีทั้งอัพสกิล-รีสกิล คนเดิม และรับคนใหม่เพิ่มเข้ามา

คำกล่าวที่ว่า “ความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีความสำเร็จในอนาคต” ทำให้ยักษ์ “เอไอเอส” ให้ความสำคัญกับการปรับตนเองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วิสัยทัศน์ธุรกิจ ไปจนถึงการขยับเขยื้อนการทำงานภายในองค์กร โดยการปรับปรุงรูปแบบ และวิธีการทำงาน รวมถึงการบริหารจัดการ “คน” ด้วยรู้ดีว่าเป็นทรัพยากร และ “หัวใจ” สำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กร

“กานติ เลอเลิศยุติธรรม” แม่ทัพ เอชอาร์ ของ “เอไอเอส” และกลุ่มอินทัช มองว่า สถานการณ์ภาพรวมขององค์กร และภาคธุรกิจทั่วโลกยังคงเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการลดกำลังคน ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของการลดขนาดธุรกิจ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจมีเรื่องของการปรับตัว การเพิ่ม Skill Set ใหม่ ๆ ที่อาจยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร ทำให้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับองค์กรธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี

“เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยน ทุกองค์กร รวมถึง AIS ก็ปรับเปลี่ยน เพื่อให้การเคลื่อนตัวของธุรกิจสามารถเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมาย ทั้งรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และรูปแบบการทำงาน ซึ่งเรายังมองหาคนเก่งที่มีความสามารถโดยเฉพาะ Digital Talent ทั้งด้าน AI, Blockchain, Data Analytic, Data Engineering, Data Scientist, UX / UI Designer เป็นต้น”

ควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์การผลิตคนที่มีศักยภาพคืนสู่สังคมคนเก่ง และคงสถานะเป็น Hub of People Excellence ที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถ และได้เรียนรู้อย่างเต็มที่

และว่าที่ผ่านมา “เอไอเอส” ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจ้างที่ปรึกษาต่างชาติมาทำเรื่อง Lean Organization มีการออกแบบและวางโรดแมปกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว

การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาของ “เอไอเอส” แม้ไม่ได้ออกมาแบบให้มีการนำคนออก 3 พันคน แล้วเอาคนใหม่เข้ามาเติม แต่คนที่ต้องรับบทบาทในการรับความเปลี่ยนแปลงต้องบอกว่า มีความเจ็บปวด ก็คือผู้ใหญ่ ตั้งแต่การยกเลิกตำแหน่งแบบเดิม ที่เคยใหญ่โต ทั้ง SEVP, AVP เหลือแค่ Head of… เป็นวันที่เรารู้เลยว่าใจผู้ใหญ่ต้องใหญ่จริง ๆ

“เราเห็นถึงการปรับตัว และ Performance ของบุคลากรในหลายระดับ ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งคนที่พร้อมเปลี่ยนแปลง Unlearn และ Relearn เปิดรับโลกที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ขณะเดียวกัน ก็อาจมีกลุ่มที่ตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน อาจเดินหน้าต่อไปไม่ได้ รวมถึงความเข้มข้นของการบริหารจัดการผลการปฏิบัติงาน ตามวิถีงานบริหารทรัพยากรบุคคล หรือแม้แต่ Nature ของโลกธุรกิจ”

ปัจจุบัน “เอไอเอส” มีพนักงานกว่า 1.3 หมื่นคน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36 ปี ซึ่งจากนี้ไปจะเห็นการเปลี่ยนผ่าน เชื่อว่าถ้าลงไปถึง 27-28 ปี น่าจะเป็นอะไรที่กลมกล่อมขึ้น เพราะจะมีทั้งคนที่มีประสบการณ์ และคนที่มีความสามารถใหม่ ๆ

ที่ทำมาทั้งหมดก็เพื่อให้สอดรับกับบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนไปกับเป้าหมายในการรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจ