คณะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลประยุทธ์ สู่รัฐบาลพิธา โควตารัฐมนตรี-บทบาทเพื่อไทย

คณะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลประยุทธ์ สู่รัฐบาลพิธา โควต้ารัฐมนตรี-บทบาทเพื่อไทย

8 พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล แต่งตั้งคณะบุคคลร่วมเป็น “คณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” รุกโครงสร้างข้าราชการฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ ปูทางรัฐบาลพิธาเข้าแทนที่รัฐบาลประยุทธ์

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 หลังผลการเลือกตั้งออกมา 5 วัน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จาก 5 พรรค เพิ่มเป็น 10 พรรค ด้วยจำนวนเสียง 316 เสียง

รัฐบาลพิธา จึงประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 152 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อพลังใหม่ พรรคใหม่  พรรคละ 1 เสียง ล่าสุด พรรคชาติพัฒนากล้า ได้นำ ส.ส. 2 เสียง เข้าร่วมรัฐบาลเป็นพรรค ที่ 10 รวมรัฐบาลพิธา มีเสียงทั้งสิ้น 316 เสียง

เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกล ที่ทำการ “บังคับทาง” แบบ 2 ลู่คู่ขนาน ทางหนึ่งคือเดินหน้าหาจำนวนเสียงเพิ่ม จาก ส.ว. ทางหนึ่งคือดีลกับสภาล่าง รวบรวมพรรคจิ๋ว ที่ได้คะแนน 1-2 เสียง เข้าร่วมเป็นเสียงฝ่ายรัฐบาลให้ได้มากที่สุด พร้อม ๆ กับจุดประเด็น สร้างกระแส ให้ ส.ว.หันมาสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ 376 เสียง

ระหว่างนี้คณะบุคคลที่เป็นทีมพิเศษที่จะมีส่วนสำคัญทำให้นายพิธา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีบทบาทสำคัญ ในนามของ “คณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” จากรัฐบาลประยุทธ์ สู่รัฐบาลพิธา ซึ่งมีนักการเมืองจากพรรคใหญ่ ๆ เป็นตัวหลักคือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย และทุกพรรคร่วมรัฐบาล

แน่นอนว่าฝ่ายก้าวไกลต้องมีพริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล และชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ส่วนฝ่ายเพื่อไทย นำโดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นประธานคณะกรรมการ ประสานงานกับพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคประชาชาติ มีพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการ ร่วมด้วย น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย

ภาระ-พันธกิจ ของแกนนำคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล นอกจากออกแบบนโยบายหลัก ๆ เพื่อบรรจุใน MOU แล้ว ยังต้องเตรียมการไปสู่วันเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อโหวตประธานสภา ปูทางไปสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้เสียง 2 สภาร่วมกันไม่น้อยกว่า 376 เสียง ดังนั้น ยังต้องพยายามเข้าถึง ส.ว.ให้ได้อีกไม่น้อยกว่า 60 เสียง เพื่อเปลี่ยนผ่านแบบไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ “คณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” ถูกคาดหวังว่า แกนนำพี่ใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยจะสามารถใช้คอนเน็กชั่นพิเศษ เพื่อเจรจาวุฒิสมาชิกบางส่วนให้ได้เสียงโหวตนายกรัฐมนตรีเพิ่มได้ เพราะอย่างน้อยก็มี ประวีณ์นุช อินทปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับ 22 สถานะภรรยาของ พล.อ.นพดล อินทปัญญา ส.ว.ผู้กว้างขวาง ทั้งในกรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อนสนิท พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัฐ

นอกจากนี้ ยังมีคำยืนยันจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าได้มีการเจรจากับ ส.ว.บางรายไว้แล้ว เพื่อขอเสียงสนับสนุน “รัฐบาลพิธา 1”

หากบทบาทของแกนนำพรรคเพื่อไทยชัดเจนว่า ออกแรง-ออกฤทธิ์ ในการช่วยหาเสียงสภาสูง เปิดสวิตช์ ส.ว.ได้เป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญ เสียงคำครหาเรื่องดีลลับ-จัดรัฐบาลแข่งก็จะค่อย ๆ เงียบลง

แน่นอนว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี-ทุกตำแหน่งมีราคาค่างวด พรรคเพื่อไทยจึงออกเสียงก่อนเข้าถึงวงเจรจาพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่วันแรกไว้ว่า “จำนวนเสียง ส.ส.ระหว่างเพื่อไทย ก้าวไกล ห่างกันแค่ 11 เสียง ดังนั้น จำนวนโควตารัฐมนตรีควรจะหาร 2 จาก 35 ตำแหน่งก่อน จากนั้นจึงจะเกลี่ยไปที่พรรคถัดไป”

โผโควตารัฐมนตรี ที่ว่อนอยู่ในสื่อ และในมือของพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีที่มา-ที่ไป หากคำนวณจำนวนตำแหน่งรัฐมนตรีสไตล์เพื่อไทยดั้งเดิม จะใช้สูตรจำนวน ส.ส. 8-9 คน ต่อรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง ตัวเลขรัฐมนตรีที่เหมาะสมจึงอยู่ที่ 15-16 ตำแหน่ง ส่วนก้าวไกลจะเกลี่ยแบบไหนก็น่าจะมากกว่าเพื่อไทยราว 1-2 ตำแหน่ง

ความเป็นไปได้ของตำแหน่งหลัก ๆ อาทิ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คือหัวหน้าทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจฝ่ายเพื่อไทย อาจจะตั้งต้นที่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ/หรือควบ รมว.พลังงาน คู่ขนานกับศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจฝ่ายก้าวไกล และ รมว.คลัง

ขณะที่ฝ่ายพรรคก้าวไกล ยืนอยู่บนหลักการในการเคลื่อนเนื้อหานโยบาย มากกว่าจำนวนโควตารัฐมนตรี ตามคำให้สัมภาษณ์ของ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” ที่บอกไว้ว่า “เราจะต้องมี MOU ที่ชัดเจนว่าวาระการเข้าร่วมรัฐบาลจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ถ้านโยบายตรงกันทุกพรรคก็ไม่ต้องมีการถกเถียง บรรจุเป็นวาระร่วมไปเลย แต่ถ้ามีความแตกต่างก็ต้องมีการเจรจาต่อรองกันว่า สุดท้ายแล้ววาระร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลคืออะไร”

“และแน่นอน เราจะพยายามผลักดันวาระ 300 ข้อ เข้าไปใน MOU ให้เยอะที่สุด ซึ่งจำนวน ส.ส.ก็จะเป็นตัวแปรถึงความชอบธรรมที่จะบรรจุในวาระร่วมรัฐบาล แต่วาระที่เราไม่สามารถผลักดันเข้าไปใน MOU ได้ เราก็จะขับเคลื่อนต่อ เรายืนยันว่ากฎหมาย 45 ฉบับเราเสนอหมด และขอการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นในสภา”

นี่คือแนวทางของ 2 พรรคแกนนำ สไตล์การเปลี่ยนผ่านรัฐบาล วาระการปักธงนโยบาย และระบบโควตารัฐมนตรี