อดีตรองเลขาฯ ก.ล.ต. ถอดสลักภาษีคริปโท เน้นเป็นธรรม ชัดเจน ปฏิบัติได้

ทิพยสุดา ถาวรามร
ทิพยสุดา ถาวรามร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเศรษฐกิจการเงิน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (ภาพจากเฟซบุ๊ก Tipsuda Sundaravej Thavaramara)

อดีตรองเลขาฯ ก.ล.ต. แนะสรรพากรถอดปมภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล เน้นเป็นธรรม ชัดเจน ปฏิบัติได้ ควบคู่ส่งเสริมอุตสาหกรรม เสนอยกเว้น capital gains tax แก้กฎหมายเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อน เร่งออกประกาศยกเว้นภาษีเงินได้จากการออก investment token

นางทิพยสุดา ถาวรามร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเศรษฐกิจการเงิน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โพสต์ในเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “Tipsuda Sundaravej Thavaramara” ว่าด้วยเรื่องภาษีคริปโท ข้อความระบุว่า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่ากรมสรรพากรจะประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการเสียภาษีจากธุรกรรมในสินทรัพย์ดิจิทัล ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้เห็นสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ปัญหาภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีมานานหลายปีแล้ว และไม่ได้มีแค่เรื่อง capital gains tax ด้วย

เนื่องจากดิฉันเคยมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะผู้กำกับดูแล และปัจจุบันก็ยังช่วยให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ ที่ผ่านมาดิฉันจึงได้มีโอกาสหารือกับทั้งผู้ประกอบการ นักกฎหมาย ตลอดจนคนสรรพากรในเรื่องนี้

ประกอบกับระยะหลังมีผู้มาขอความเห็นหลายราย จึงขอแชร์ความเข้าใจและความเห็นของตัวเองไว้ในที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการหาทางออกสำหรับอุตสาหกรรมต่อไป

เท่าที่ดิฉันทราบ ปัญหาภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลมี 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ
1. ภาษีกำไรจากการขาย (capital gains tax )
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
3. ภาษีจากการออกและเสนอขาย token

เรื่องที่ 1 : capital gains tax

ปัญหาของไทยคือเก็บอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเก็บจากรายการที่มีกำไร แต่ไม่ให้เอารายการที่ขาดทุนมาหัก และ กำหนดภาระหักภาษี ณ ที่จ่าย (withholding tax) แบบที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะ exchange เป็นเพียงตัวกลางไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้

ส่วนผู้ซื้อที่จ่ายเงินได้นั้นก็ไม่รู้ข้อมูลต้นทุนของผู้ขาย เรียกว่าทั้งไม่ fair และไม่ practicable

การมี withholding tax ยังมีผลกระทบไปถึงกรณีโอนคริปโทไปชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย เพราะเปรียบเสมือนได้ขายคริปโทจำนวนนั้นในราคารวมเท่ากับมูลค่าสินค้า เป็นเหตุให้ร้านค้าต้องหักภาษี capital gains จากผู้ซื้อสินค้า ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ต้นทุนของเขา

ทางออกมีอยู่ 3 ทาง คือ

(1) ยกเว้นไปก่อน ทำนองเดียวกับที่เรายกเว้นให้บุคคลธรรมดาที่ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะทำให้สอดคล้องกัน ไม่ดูเลือกปฏิบัติ แต่อันนี้ก็ขึ้นกับนโยบายว่าจะส่งเสริมหรือไม่

(2) ถ้าไม่ส่งเสริม จะเก็บภาษี ก็ควรทำให้ fair เก็บจาก net gain ทั้งปี ให้เอาที่ขาดทุนมาหักกลบได้ และเมื่อคิด net ทั้งปี ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ข้อมูลที่จะมาคำนวณ exchange หรือ broker สามารถช่วยส่งข้อมูล transaction เท่าที่ทำผ่านตนให้ทั้งผู้ลงทุนและสรรพากร

(3) อีกวิธีก็เก็บเป็น transaction tax จากมูลค่าซื้อขายแทน แบบเดียวกับอากรแสตมป์ แต่อัตราต้องไม่สูงเกินไป เก็บแล้วจบ

เรื่องที่ 2 : VAT

ปัญหาคือสรรพากรมองคริปโทเป็นสินค้า ผลที่ตามมาคือ

  • เวลาธุรกิจขายของ มี VAT จากขายสินค้า ถ้ารับชำระเป็นคริปโทแล้วตอนเอาคริปโทไปขายเป็นบาทก็ถือเป็นสินค้าอีกตัว โดน VAT ซ้ำ
  • เวลาผู้ลงทุนขายคริปโทก็หาว่าขายสินค้า ถ้าคนไหนมี volume ขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องจด VAT และเสีย VAT ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเขียนใบกำกับภาษียังไง ขายใครยังไม่รู้เลย

ประเทศอื่นเขาเห็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งลูกค้าและธุรกิจ ทยอยแก้กันแล้ว ไม่ต้องเสีย VAT หรือ GST สำหรับการโอนคริปโทเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการหรือในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ว่าสหภาพยุโรป (EU) ออสเตรเลีย สิงคโปร์ คือเขายอมรับแนวคิดการใช้คริปโทเพื่อการชำระเงิน (payment) จึงยกเว้น VAT/GST ให้

ปัญหานี้กระทบมากกว่าผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง กิจการใดที่รับคริปโทหรือถือคริปโทเป็นสินทรัพย์ลงทุนก็กระทบ ดีไม่ดีเขาอาจจะเลือกไปจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ประเทศอื่นเลย

เรื่องที่ 3 : ภาษีจากการออกและเสนอขาย token

ดิฉันเคยคุยกับคนสรรพากรเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่า เวลากิจการระดมทุนด้วยการออก investment token ไม่ควรจะถือเป็นเงินได้ที่ต้องเอามาคำนวณภาษี (เหมือนเงินที่บริษัทได้จากการออกหุ้นหรือหุ้นกู้ไม่ถือเป็นเงินได้)

สรรพากรบอกว่า ทุกอย่างถือเป็นเงินได้ไว้ก่อน เว้นแต่จะมีประกาศยกเว้นให้เป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่ง investment token ควรจะมี แต่ยังไม่มี รอมา 3 ปี ก็เข้าใจว่ายังไม่มี

แม้ตอนที่มีธุรกิจออก investment token ระดมทุนปีที่แล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นประกาศสรรพากรที่ชัดเจนเรื่องนี้ แต่ดิฉันหวังว่า พอธุรกิจออกมาแล้วก็คงจะนำไปสู่การตีความไปในทางที่ควรจะเป็น และประกาศออกมาต่อไป (ถ้าตีไปอีกทางคงจะปั่นป่วนแน่)

การพิจารณาปัญหาภาษีคริปโทมีประเด็นคำถามว่า

1. เป็นธรรมหรือไม่ (fairness)

2. ชัดเจนหรือไม่ (clarity)

3. ปฏิบัติได้หรือไม่ (practicability )

4. เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้หรือไม่ (promotion)

เรามักจะให้ความสำคัญกับข้อ 4 และยกเหตุผลต่าง ๆ นานามาสนับสนุนการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วยการยกเว้นภาษี ซึ่งดิฉันก็เห็นด้วยกับที่หลาย ๆ คนยกขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ดิฉันคิดว่าเราต้องพยายามแยกแยะประเด็นเหล่านี้ อย่าไปปนกันหมด เพราะการส่งเสริมอุตสาหกรรมใดเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งอาจมองคำตอบที่แตกต่างกันได้ แต่การเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ภายใต้กติกาที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ น่าจะเป็นหลักที่สรรพากรควรจะยึดถือ ไม่ว่านโยบายจะต้องการส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม
#คริปโต #ภาษีคริปโต