เฉลิมชัย ยืนยันไม่มีทุเรียนไทย เน่าคาด่านจีน มั่นใจครองแชมป์ส่งออกผลไม้

เฉลืมชัย ศรีอ่อน ทุเรียน

“เฉลิมชัย” ยืนยันไม่มีทุเรียนเน่าคาด่านชายแดนจีน มั่นใจครองแชมป์ สร้างรายได้กว่าแสนล้าน สมาคมทุเรียนไทยชี้ราคาปีนี่ดีกว่าปีที่แล้ว “อลงกรณ์”เผยไตรมาสแรกปีนี้ ส่งออกเพิ่ม 42%

วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า การส่งออกทุเรียนไทยไปจีนยังเป็นไปตามแผนปฏิบัติการผลไม้ปี 2565 และมั่นใจว่าทุเรียนไทยจะครองแชมป์ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง นำรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 1.2 แสนล้าน

ทั้งนี้ ได้ประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน จากรายงานล่าสุดว่าด่านจีนเปิดดำเนินการทุกด่าน แต่บางด่านเริ่มติดขัด เพราะมีออร์เดอร์จากจีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

จึงขอความร่วมมือภาคเอกชนเพิ่มการขนส่งทางเรือและทางรถไฟจีน-ลาว มากขึ้น ตามเป้าหมายกลยุทธ์การบริหารโลจิสติกส์ของฟรุ้ตบอร์ด ที่ให้เพิ่มการขนส่งทางเรือเป็น 55% ทางบก 40% ทางราง (รถไฟสายจีน-ลาว) และทางอากาศรวมกัน 5%

เพื่อลดความแออัดของด่านทางบกในช่วงผลผลิตทุเรียนออกมาก ลดความเสี่ยงจากการปิดด่านเพราะโควิด19 และเพื่อรับมือกับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมากส่งผลให้ค่าขนส่งเพิ่มตามไปด้วยจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

จีนเป็นตลาดหลักของทุเรียนไทย

ปี 2564 การส่งออกทุเรียนสดไปจีนจำนวน 875,097 ตัน คิดเป็นมูลค่า 109,205 ล้านบาท ขยายตัว 68.4% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยผลไม้ไทยสามารถครองตลาดจีนมีมาร์เก็ตแชร์กว่า 40 % อันดับ 2 คือ ชีลี 15% เวียดนาม 6% อยู่อันดับ 3 ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผลไม้ไทย

แม้จะเผชิญปัญหา มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในจีนซึ่งกระทบการขนส่งและการส่งออกเป็นระยะ ๆ ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

“ปีนี้รัฐบาลโดยฟรุ้ตบอร์ด กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์จะพยายามช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนและผู้ประกอบการล้งผู้ส่งออกในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่อทำให้ราคาทุเรียนและผลไม้ได้ราคาที่ดีและเพิ่มการส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศของเรามากขึ้น” นายเฉลิมชัยกล่าว

สถานการณ์ราคาทุเรียนวันนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ และประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าในคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ราคาผลไม้ไทยในตลาดจีนเพิ่มขึ้น 40%

ส่วนราคาในประเทศ ทางนายกสมาคมทุเรียนไทยแจ้งว่า ราคาทุเรียนดีกว่าปีที่แล้วโดยราคาหน้าล้งอยู่ที่กิโลกรัมละ 130-140 บาท ถ้าตกเกรดก็ลดลงมาตามคุณภาพ

“วันนี้ได้ตรวจสอบสถานการณ์ราคากับผู้นำเข้าของจีนรายใหญ่ที่กว่างสี ยืนยันว่าราคาทุเรียนไทยในตลาดจีนตอนนี้ดีกว่าปีที่แล้ว แม้เริ่มเข้าช่วงที่ทุเรียนไทยเริ่มออกมามาก นอกจากนี้ได้รับรายงานจากพาณิชย์จังหวัดจันทบุรีว่า ราคาทุเรียนยังสูงอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-150 บาท แล้วแต่เกรดและคุณภาพ”

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไทยเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 42% ลำไยเพิ่มขึ้น 36% มะม่วงเพิ่มขึ้น 21%

ส่งผลทำให้ราคาผลไม้ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ราคาเพิ่มขึ้น 40% ส้มเขียวหวานเพิ่มขึ้น 8% ส้มโอขาวน้ำผึ้งเพิ่มขึ้น 28% เป็นต้น

รวมทั้งมาตรการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศจาก 30% เป็น 40% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้วางมาตรการด้านการตลาดไว้แล้วรองรับผลไม้ 566,000 ตัน

โดยประกอบด้วย หนึ่ง ตลาดตามมาตรการเชิงรุก 18 ประกาศ ตั้งแต่ครึ่งปีที่แล้วช่วยระบายผลไม้ได้เตรียมไว้ 244,000 ตัน

สอง มาตรการเตรียมสต๊อกสำหรับทำผลไม้แช่เย็น แช่แข็ง เตรียมไว้ 120,000 ตัน และสามกระจายทั่วประเทศโดย เตรียมระบายไว้ 145,000 ตัน

และส่วนหนึ่งคือการจัด “พาณิชย์ Fruit Festival 2022” งานวันนี้จะมีส่วนช่วยระบายผลไม้ ได้ไม่ต่ำกว่า 3,500 ตัน จัดตั้งแต่วันที่ 2-8 พฤษภาคม 2565 เตรียมจุดจำหน่ายไว้ทั้งหมด 1092 จุด ประกอบด้วยห้างโมเดิร์นเทรด ร้านค้าปลีก-ส่ง ร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น โดยเป็นที่กรุงเทพมานครและรถเร่ 500 จุด

ที่เหลือเป็นต่างจังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเตรียมรับมือช่วงพีก ซึ่งผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น จาก 575,542 ตัน ในปี 2564 เป็นจำนวน 729,110 ตัน ในปี 2565

อลงกรณ์ พลบุตร
อลงกรณ์ พลบุตร

นายอลงกรณ์ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนบางสำนักได้รายงานข่าวเกี่ยวกับมาตรการซีโรโควิดของทางประเทศจีน และมีการกักด่าน สร้างผลกระทบต่อการส่งออกทุกเรียนของประเทศไทยนั้น อยากชี้แจงว่า สื่อมวลชนอาจได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง ทำให้การเสนอข่าวออกไปมีความคาดเคลื่อนและส่งผลกระทบอย่างมาก

โดยเฉพาะการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรชาวสวน ที่จะมีผู้ไม่หวังดีใช้ข่าวที่นำเสนอมาเป็นประเด็นในการกดราคารับซื้อจากเกษตรกร


ดังนั้นจึงอยากให้สื่อมวลชนได้มีการตรวจสอบข้อมูลให้แน่นชัดก่อน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมให้ข้อมูลในทุกด้านตามที่สื่อต้องการ เพื่อให้นำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และสร้างประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกร และประเทศชาติ จึงอยากให้สื่อมวลชนได้พิจารณา และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอ