คิดให้ดี-ปมหนี้ กยศ.

กยศ.
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

แม้มีเสียงคัดค้านจากสภาผู้แทนราษฎรและอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงข้อควรระวัง แต่ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับที่… ผ่านวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อย ด้วยมติเห็นด้วย 314 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงมติ 2 เสียง สาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ คือการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ และให้มีผลย้อนหลังทุกราย

การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ถกเถียงกันอย่างมากมานานนับปี กรณีมี ส.ส.เสนอยกเลิกคิดดอกเบี้ย และค่าปรับผิดนัดชำระ เพราะมองว่าทำให้เด็กรุ่นใหม่ขาดวินัยทางการเงิน และอนาคตอาจเกิดปัญหากับกองทุน กยศ. เพราะเงินกองทุนดังกล่าวอยู่ในรูปแบบเงินหมุนเวียน ใช้วิธีเก็บเงินจากคนเก่าที่จบไปแล้วและถึงเวลาชำระ มาปล่อยกู้ให้นักศึกษารุ่นใหม่ต่อเนื่องกันไป

ตัวเลขล่าสุด กยศ.ปล่อยกู้กว่า 6.9 แสนล้านบาท ลูกหนี้ 6.2 ล้านราย ปิดบัญชีไปแล้ว 1.6 ล้านราย เสียชีวิต 6.7 หมื่นราย อยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ต้องชำระหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท

กยศ.ฟ้องร้องกลุ่มผิดนัดหลายแสนรายแล้ว จากตัวเลขค่อนข้างน่าตกใจว่ามีลูกหนี้แค่ 1 ล้านรายที่ทยอยจ่ายคืน โดย กยศ.จะได้หนี้คืนตกปีละ 3 หมื่นล้านบาท และสามารถปล่อยกู้รายใหม่ได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท

กฎหมายฉบับนี้เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายคือผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา หากผ่านและประกาศใช้ หลายฝ่ายคาดกันว่าอาจเกิดความวุ่นวายตามมา ประเด็นหลัก ๆ เช่น ลูกหนี้ที่เคยจ่ายดอกเบี้ย และเบี้ยปรับก่อนหน้านี้จะได้เงินคืนหรือไม่ แต่น่าห่วงกว่าคือตัวเลขผิดนัดชำระจะเพิ่มจาก 2.5 ล้านราย ไปเป็นเท่าไหร่ รวมถึงลูกหนี้รายใหม่ที่ถึงกำหนดเริ่มชำระจะมีท่าทีอย่างไร

การยกเว้นทั้งดอกเบี้ยและค่าปรับผิดนัดชำระ ควรระวังว่าจะเปิดช่องให้คนเบี้ยวหนี้มากขึ้น หรือคนที่ยังลังเลว่าจะเริ่มจ่ายหรือรอไปก่อนตัดสินใจง่ายขึ้น เพราะไม่มีบทลงโทษใด ๆ ที่ผ่านมา กยศ.ออกหลายมาตรการผ่อนปรนอยู่เนือง ๆ

หรือบางครั้งถึงกับยกเว้นดอกเบี้ยหากลูกหนี้ติดต่อเข้ามาเพื่อเริ่มชำระ หรือแสดงตัวขอผ่อนผัน หลัก ๆ แล้วคนที่หายเงียบไปไม่ต่างจากตั้งใจผิดนัดชำระหนี้

หากเจตนารมณ์ของผู้เสนอกฎหมาย เพราะไม่ต้องการหารายได้จากดอกเบี้ย-ค่าปรับ เนื่องจากมองว่าเป็นเงินเพื่อการศึกษา ถ้าเช่นนั้นผู้เกี่ยวข้องควรออกแบบการเรียกหนี้คืนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ อาทิ การหักผ่านเงินเดือนโดยตรง จูงใจผ่อนชำระด้วยการนำรายจ่ายส่วนนี้ไปหักภาษี หรือคาดโทษให้มีชื่อติดเครดิตบูโร ฯลฯ

เพราะต้องไม่ลืมว่าหากมีหนี้ค้างชำระมาก ๆ ย่อมกระทบถึงจำนวนเด็กที่ต้องการเงินกู้เพื่อเข้าสู่สถาบันการศึกษาในอนาคตด้วย