เศรษฐกิจพัง-สังคมเสื่อม ไทยแลนด์ 2023 ต้องเปลี่ยน

หมอชิต แบกเสบียงกลับกรุงหลังหยุดยาว ลดค่าครองชีพภาวะเศรษฐกิจฝืด
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยรายงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่ารายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัว (GDP Per Capita) ปี 2565 ชาวมาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 13,268 เหรียญสหรัฐ หรือ 490,916 บาทต่อคนจากปี 2564 ที่มีรายได้ 11,399 เหรียญสหรัฐ หรือ 421,763 บาทต่อหัว

ตัวเลขระดับรายได้ใหม่ส่งผลให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Nation) ตามกฎเกณฑ์ของธนาคารโลกที่ใช้จัดกลุ่มประเทศตามสถานะรายได้ จากปัจจุบันเป็นประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้สูง (Middle to High Income Nation)

ผลจากความสามารถในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการสร้างรายได้จากการขุดเจาะน้ำมัน ทำให้มาเลเซีย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 37 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน

นับเป็นเรื่องที่สลดใจไม่น้อย เพราะในอดีตประเทศไทยและมาเลเซียติดกลุ่มเป็นเสือในอาเซียน ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่นับน้องใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

แต่ทว่าผ่านมาหลายปี “สถานะไทย” ในอาเซียนเริ่มแผ่ว ไม่ใช่สาวเนื้อหอมแบบในอดีต ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มา 30 ปี โดยในปี 2564 ไทยรายได้ต่อหัวประชากร 7,097 เหรียญสหรัฐกำลังพยายามจะอัพระดับรายได้ให้ถึง 9,300 เหรียญสหรัฐ ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 13 ที่วางไว้ 2566-2570

ระหว่างที่ไทยสาละวนกับการแก้ปัญหาแบบวน ๆ ในอ่าง “เวียดนาม” ก็เติบโตเนื้อหอม เป็นที่สนใจของนักลงทุน ทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่น จำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่มีมากกว่าอัตราค่าแรงงานถูก และมีความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี กับถึง 54 ประเทศ เศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาส 2 ปีนี้ เติบโต 7.72% มีเป้าหมายจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2588

ไม่ใช่แค่เวียดนามที่แซง เพราะ สปป.ลาว ก็พัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด สามารถแก้เพนพอยต์ของตัวเองจากประเทศ Land Lock สู้ Land Link ผนึกกับจีน เชื่อมต่อรถไฟจีน-ลาว และเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ และกำลังจะขายไฟข้ามไทยไปยังมาเลเซีย

ขณะที่จีดีพีไตรมาส 2 ของไทย แม้จะขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 2.3% แต่การสร้างแต้มต่อทางการค้าน้อย มีเอฟทีเอเพียง 10 กว่าฉบับ พยายามดึงดูดการลงทุนจากนโยบาย EEC แต่ยังขาดความชัดเจนของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอฉบับใหม่ แถมยังสะกดจิตตัวเองว่าการระบาดของโควิดคลี่คลายแล้ว เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

ปัญหาเศรษฐกิจพังยังไม่พอ ปัญหาสังคมเสื่อมก็มีให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน การปล้น ชิง วิ่งราว ข่มขืน แม้แต่ในพื้นที่ที่ควรจะปลอดภัยอย่างโรงเรียนก็ยังมีเรื่องเลวร้ายให้เห็น


สภาพไทยตอนนี้เหมือนคนแก่ อุ้ยอ้าย อัพเซต ไม่มียุทธศาสตร์ในอนาคตว่าจะไปทิศทางไหน จึงไม่แปลกที่ผลโพลที่เริ่มสำรวจว่า “ใคร” จะมาบริหาร นำพาประเทศ จึงปรากฏชื่อคนรุ่นใหม่มาเป็นอันดับท็อปแซงคนรุ่นเก่า ๆ โพลอาจยังไม่ได้ฟันธง 100% แต่นี่คือสัญญาณว่าไทย 2023 ต้องการการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแล้ว