
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน
ช่วงนี้เราได้ยินคำว่า soft power กันค่อนข้างบ่อย และกลายเป็นหัวข้อที่ทางภาครัฐและเอกชนดูเหมือนจะเดินบนถนนคนละเส้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นหรือรูปแบบของ soft power ที่ไทยเราควรหยิบมาชู หรือการให้การสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทั้ง 2 ฝ่ายยังดูไม่ค่อยลงตัว
เรื่องวัฒนธรรมการกินการอยู่ของไทย เป็นอีก soft power หนึ่งที่เราภูมิใจ ซึ่งผมอยากโยงมาถึงเรื่อง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า อันเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน และหลายฝ่ายรอลุ้นให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านเสียที
ไม่ว่าจะเป็นสาเกของญี่ปุ่น โซจูของเกาหลี หรือเตกีลาของเม็กซิโก เครื่องดื่มชื่อเหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมการกินอยู่ของประเทศเหล่านี้ และเป็นรูปแบบ soft power หนึ่งที่แพร่หลายไปทั่วโลก
มีผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างสรรค์มาตอบสนองความต้องการตลาดที่หลากหลายจากทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย มีการประกวดยกย่องแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพดี แนวคิดสร้างสรรค์ และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคกันทุกปี มีการผลิต การส่งออก สร้างรายได้และสร้างงานให้กับคนในประเทศเขากันถ้วนหน้า
ที่จริงแล้ว ไทยเราเองก็มีภูมิปัญญาพื้นบ้าน สมุนไพร พืชพันธุ์พื้นบ้านเฉพาะถิ่นที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ตั้งมากมาย
อีกทั้งปัจจุบันคนรุ่นใหม่ ๆ ก็มีความสนใจเรื่องประสบการณ์การดื่มกินที่มีความละเมียดละไมและมีความหลากหลายมากขึ้น
ผมเชื่อว่าทางด้านศักยภาพตลาดและองค์ความรู้ในการผลิตเราไม่แพ้ประเทศเหล่านี้ แต่เรากลับติดหล่ม ไม่สามารถฉกฉวยโอกาสในเรื่องนี้ได้
เพราะรัฐบาลยังพร้อมที่จะเท พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าทุกขณะ
ตัวเลขมันชัดเจนอยู่แล้วว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยถูกผูกขาดอยู่กับรายใหญ่ไม่กี่ราย
กลุ่มทุนยักษ์มีส่วนแบ่งตลาดของการบริโภคเบียร์และสุราในประเทศกว่า 93% และ 80% ตามลำดับ
ผมคิดว่าการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยได้ชิงส่วนแบ่งการตลาดไปสัก 5-10% คงไม่ได้หนักหนามากนักกับผลกำไรที่ได้จากธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นหลักหลายหมื่นล้านต่อปีของกลุ่มทุนดังกล่าว
เมื่อมีการผูกขาดโดยมีกฎหมายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก เกิดการกระจุกตัวของเม็ดเงิน และเป็นตัวถ่วงนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
เมื่อไม่มีคู่แข่ง นวัตกรรมทางด้านผลิตภัณฑ์ก็ไม่เกิด โอกาสในการสร้างมูลค่าเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจจากห่วงโซ่อุปทานใหม่ ๆ ก็ไม่เกิด
ข้ออ้างเรื่องความกังวลต่อการขายสุราเถื่อน ที่ไม่ได้มาตรฐานรับรองความปลอดภัย เป็นการตีกรอบตัดตอนอย่างแยบยล เป็นข้ออ้างที่ผมว่ารัฐบาลจะโยนความผิดให้กับภาคเอกชนรายย่อยที่มีความประสงค์จะสร้างธุรกิจ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค
เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องออกกฎมาควบคุมให้ชัดเจน ไม่ใช่ตัดตอน
ถ้ากลัวเรื่องการบริโภคที่มากเกิน ภาครัฐต้องออกมาดูพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการห้ามการโฆษณาเกี่ยวกับสุรา ไม่ให้สามารถอาศัยช่องว่างในการโฆษณาได้หลากหลาย
อย่างที่ในปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีการโฆษณาขายน้ำดื่ม โดยยังคงนำเสนอผ่านแบรนด์ที่ใช้รูปแบบเดียวกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ลองเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม series Y ที่เราผลักดันไทยขึ้นเป็น soft power เรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงที่อ้างอิงเรื่องของความหลากหลายทางเพศนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมากเลยทีเดียวในเวทีโลก
ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีการผูกขาดจากผู้ผลิตคนใดคนหนึ่ง และไม่มีกฎหมายที่กีดกันการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับผู้ผลิตรายใหม่ ๆ
ดังนั้นอยากบอกว่าภาคเอกชนและสังคมพร้อมที่จะสนับสนุน soft power ใหม่ ๆ ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอยู่แล้วครับ ขอรัฐอย่าสมรู้ร่วมคิดกับขาใหญ่ตัดตอนผู้เล่นรายใหม่ ๆ เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยไปได้ไกลกว่านี้เยอะ
- นับคะแนนซ้ำ 2 รอบ สภาคว่ำ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า 196 ต่อ 194 เสียง
- สภาคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แต่ก้าวไกล งัดแท็กติกขอนับคะแนนใหม่
- กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ประกาศใช้แล้ว มีผลทันที 2 พ.ย. 65
- พิธา โวย รัฐบาลชิงแก้กฎกระทรวง จงใจคว่ำ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก้าวไกล
- ครม.ปลดล็อกสุราพื้นบ้าน คราฟท์เบียร์ ไม่จำกัดกำลังการผลิต-ทุนจดทะเบียน