ซีอีโอยานแม่ SCBX แชร์ประสบการณ์ “ทรานส์ฟอร์ม”

อาทิตย์ นันทวิทยา
อาทิตย์ นันทวิทยา
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

ได้ฟัง “คุณอาทิตย์ นันทวิทยา” ซีอีโอ เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) เล่าไว้ในงานเอ็กซ์คลูซีฟดินเนอร์ทอล์ก “JOURNEY TO TRANSFORM” ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 47 “ประชาชาติธุรกิจ” ที่มีผู้บริหารธุรกิจเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เมื่อค่ำวันที่ 24 พฤษภาคม 2566

ทำให้ได้เห็นว่า โจทย์ใหญ่ ๆ ของการทำธุรกิจสมัยใหม่นี้ มีทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนตามแทบไม่ทัน

“คุณอาทิตย์” เล่าว่า ได้ฟัง “คุณ Satya Nadella” ซีอีโอไมโครซอฟท์ บอกว่า data scientist (ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูล) กำลังมีความสำคัญลดลง จากปัจจุบันที่หลายบริษัทต่างพยายามจะรีครูตบุคลากรด้านนี้กัน

“วันนี้ พวกคุณคิดว่าคนเหล่านี้เป็น asset (สินทรัพย์) ใครมีเยอะ คนนั้นเจ๋ง แต่อีก 2 ปีข้างหน้า หากคุณบริหารไม่ดี จะกลายเป็นหนี้สิน”

“คุณอาทิตย์” อธิบายต่อว่า เนื่องจากภายใน 2 ปีข้างหน้า 75% ของแอปพลิเคชั่นที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะเป็นการพัฒนาแบบไม่ใช้โค้ด (no-code) หรือ no-coding แปลว่า ไม่จำเป็นต้องอาศัย data scientist ในการทำ code แล้วนั่นเอง

นี่คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไปเร็ว ซึ่งคนทำธุรกิจต้องตามให้ทัน

ส่วนอีกเรื่องที่เป็นโจทย์ใหญ่เหมือนกันก็คือ กระแส climate change (การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลก) ที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประเทศไทยจะไปสู่ net zero ในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนต้องคิดต่อ ทั้งในระดับมหภาค และในเชิงอุตสาหกรรม เป็นโจทย์ของผู้บริหารทุกองค์กร ว่าจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

จากเทรนด์ที่ “คุณอาทิตย์” เล่ามานี้ ทำให้ที่ผ่านมา ได้เห็นธุรกิจต่าง ๆ พยายามจะปรับตัว เปลี่ยนแปลงองค์กร หรือที่เรียกกันว่า “ทรานส์ฟอร์ม (transform)” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ไทยพาณิชย์” ทำในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “SCBX” แล้ว และ “คุณอาทิตย์” ได้ยกตัวอย่างให้ฟัง

“ตัวอย่างของกลุ่ม SCBX คำว่าทรานส์ฟอร์ม ไม่ได้แปลว่าต้องทรานส์ฟอร์มทุกอย่าง และก็ไม่ได้แปลว่าต้องทรานส์ฟอร์มอย่างรวดเร็ว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทรานส์ฟอร์มได้ 100% แล้วถ้าไม่ได้ จะไม่ทำ แต่เราบอกว่า ของที่ดีอยู่แล้ว และมีอยู่แล้ว เราควรจะเก็บไว้”

“ทรานส์ฟอร์ม คือ การ take risk ! ในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย” ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญว่า “เมื่อคุณจะต้อง take risk ในสิ่งที่คุณไม่คุ้นเคยแล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดสามารถที่จะสบายใจ และรู้ว่าการกำหนด take ของคุณ อันไหนที่ต้องอดทน อันไหนที่ต้องรอ”

“คุณอาทิตย์” สรุปในตอนท้ายว่า “transformation เป็นเทคนิคที่จะต้องอาศัยความอดทน อาศัยการสื่อสาร และอาศัยความเข้าใจของคนที่อยู่ในสังคมและในองค์กรเดียวกับเรา และรู้จังหวะอันไหนต้องหนัก และอันไหนต้องเร็ว อันไหนต้องช้า และอันไหนต้อง compromise”

นับเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ “ซีอีโอ SCBX” ได้มาแชร์ให้กับผู้ร่วมงานเอ็กซ์คลูซีฟดินเนอร์ทอล์กของ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับฟังกัน