“อาทิตย์” ถอดบทเรียน ทรานส์ฟอร์ม SCBX แบบไม่สิ้นสุด

อาทิตย์ นันทวิทยา

“Transformation คือการ take risk สำหรับองค์กรทุกองค์กรที่กำลังจะ transform ตัวเอง คือ พูดได้ง่ายมาก แต่พอทำจริง ๆ ผู้ถือหุ้นและบอร์ดจะเริ่มตระหนัก ว่าเรากำลังจะ take risk ในแบบที่เราไม่คุ้นเคย และจะทำอย่างไรที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ว่าเมื่อคุณจะต้อง take risk ในสิ่งที่คุณไม่คุ้นเคยแล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดสามารถที่จะสบายใจ และรู้ว่าการกำหนด take ของคุณ อันไหนที่ต้องอดทน อันไหนที่ต้องรอ”

นี่เป็นคำกล่าวของ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX บนเวที “JOURNEY TO TRANSFORM” ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 47 ของ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อค่ำวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาสะท้อนประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงองค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง “ไทยพาณิชย์” สู่ “SCBX” ในปัจจุบัน

เทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ซีอีโอ SCBX เริ่มต้นเล่าว่า ช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสนำคณะกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ และ SCBX ไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อดูงานของบริษัทด้าน generative AI บริษัทที่ทำเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้

และบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (climate change) เป็นเวลา 3 วัน และหลังจากนั้น ก็มีโอกาสเข้าร่วมงาน “ซีอีโอ ซัมมิท” ของไมโครซอฟท์ ซึ่งเชิญซีอีโอจากทั่วโลกมาร่วมเป็นประจำทุกปี

“ช่วงหนึ่งคุณ Satya Nadella ซีอีโอไมโครซอฟท์ มาพูดเรื่อง AI (ปัญญาประดิษฐ์) และวันที่ 2 มาสาธิตเรื่องที่ไมโครซอฟท์จะนำ generative AI มาใช้ หลังสาธิตเสร็จ ซีอีโอกว่า 200 คน ยกมือบอกว่า ช่วยแนะนำหน่อยว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลง ซีอีโอจะวางแผนการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างไร

ซึ่งประโยคหนึ่งที่ซีอีโอไมโครซอฟท์บอกก็คือว่า พวกคุณรู้ไหมว่า ทุกวันนี้ที่คุณพยายามรีครูท (สรรหาคน) พวก data scientist (ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูล) วันนี้ พวกคุณคิดว่าคนเหล่านี้เป็น asset (สินทรัพย์) ใครมีเยอะ คนนั้นเจ๋ง แต่อีก 2 ปีข้างหน้า หากคุณบริหารไม่ดี จะกลายเป็นหนี้สิน”

“ตอนแรกก็งง ว่าทำไม เขาก็บอกว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า 75% ของแอปพลิเคชั่นที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะเป็นการพัฒนาแบบไม่ใช้โค้ด (no-code) หรือ no-coding แปลว่า เราไม่จำเป็นต้องอาศัย data scientist ในการทำ code แล้ว ลองคิดดู ก่อนเดินทางไป เรายังอยู่ในกระบวนทัศน์ มีความคิดแบบหนึ่ง แต่พอไปถึง ก็รู้ว่าเราจะต้องปรับปรุง อันนี้เป็นเรื่องความก้าวหน้าในเชิงเทคโนโลยี”

โจทย์ใหญ่ Climate Change

ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงการคาดการณ์ถึงผลกระทบจาก climate change ที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประเทศไทยจะไปสู่ net zero ในปี 2593 (ค.ศ. 2050) เป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องคิดต่อ ทั้งในระดับมหภาค และในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโจทย์ของผู้บริหารทุกองค์กรแล้ว ว่าจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงไม่จบสิ้น

“การที่จะไปเริ่มต้น เราจะต้องพูดคำว่า transformation คำถามผม คือ จะทรานส์ฟอร์มไปเป็นอะไร อย่างตอนที่ผมเปลี่ยนจาก SCB Bank สร้างเป็น SCBX Group ผมต้องตีโจทย์ให้แตก และบอกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น บอร์ด พนักงาน

รวมถึงลูกค้า ผมคิดว่า สิ่งที่คิดว่าตีแตกแล้ว หลาย ๆ เรื่อง ก็ปรับเปลี่ยน ต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ว่าสิ่งที่เราคิด อาจจะไม่ถูกต้องแล้ว และทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลง “never normal” คือ มันไม่ใช่คำว่า “new normal” ด้วยซ้ำ เพราะว่ามันจะเปลี่ยนไปอย่างไม่จบสิ้น”

“เราเริ่มต้นจากการ set mission จากการที่จะบอกทุกคน และสื่อสารให้คนในองค์กรทราบว่า องค์กรเราจะเปลี่ยนเป็นอะไร และหลังจากนั้น สิ่งที่เราพยายามบอกว่าตัวตนของเรา เมื่อเราเชื่อว่า เราเคยเป็นแบงก์ เรารู้ว่าการเป็นแบงก์อย่างเดียว มันไม่น่าจะมีความสามารถในการแข่งขัน หรือตอบสนองในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เราพยายามเซต pain point ของเอสซีบี เอกซ์ 3 เรื่อง คือ

1.เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการกระจายรายได้ 2.เราเชื่อว่าการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงินไป และ 3.เราเชื่อว่า climate change จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี จะทำอย่างไรให้ SCBX เกาะอยู่ใน 3 ธีมนี้ แล้วก็สร้าง แล้วก็ทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยี เพื่อที่จะสามารถทำธุรกิจตอบสนองกับ pain point ใหญ่ของโลกใน 3 อันนี้”

สร้างความเข้าใจผู้มีส่วนได้เสีย

“เราเริ่มต้น journey และเราก็บอกผู้ถือหุ้น บอกบอร์ดของเรา บอกพนักงานของเรา เราบอกลูกค้าของเรา ฉันทามติแรก เมื่อไปบอกผู้ถือหุ้นให้เข้าใจดีพอ เราก็ได้รับการโหวต เพื่อให้เกิด SCBX เกิดขึ้นมา แปลว่าต่อจากนี้ไปเงินกำไรที่ได้มาจากแบงก์ คุณไม่ต้องส่งให้ฉันหมด คุณได้สิทธิเอาไปขยายธุรกิจต่อใน SCBX ใน 3 ปีนี้ที่เราเซตไว้”

โดยการสร้างความเข้าใจ ต้องตอบเรื่อง what, why และ how ได้ อย่าง why พยายามตอบให้ได้ว่าสิ่งที่สำคัญจากนี้ไม่ว่าระดับประเทศ หรือในระดับภาคเอกชน ต้องเปลี่ยนแนวคิด ซึ่งเมื่อถึงเวลานำไปใช้ จะเป็นเรื่องของการลงมือทำ transformation

โดยจากประสบการณ์ที่ทำมา สิ่งที่สำคัญก็คือ การจัดลำดับความสำคัญในองค์กร โดยเฉพาะในเรื่องของ what โดยเฉพาะในเรื่องของ how ทำให้คนในองค์กรรู้ว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของ transformation อย่างไร

“ตัวอย่างของกลุ่ม SCBX คำว่าทรานส์ฟอร์ม ไม่ได้แปลว่าต้องทรานส์ฟอร์มทุกอย่าง และก็ไม่ได้แปลว่าต้องทรานส์ฟอร์มอย่างรวดเร็ว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทรานส์ฟอร์มได้ 100% แล้วถ้าไม่ได้ ผมจะไม่ทำ แต่เราบอกว่า ของที่ดีอยู่แล้ว และมีอยู่แล้ว เราควรจะเก็บไว้ โดยแบงก์ของเอสซีบี จะไม่กลายเป็นฟินเทค จะไม่กลายเป็นสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น จะยังเป็นแบงก์ และจะเป็นแบงก์ที่ดีขึ้น เป็นแบงก์ที่แข็งแรง”

ทรานส์ฟอร์ม คือ การ Take Risk

“ส่วนที่เราจะทรานส์ฟอร์ม ส่วนที่เราจะออกไป take ความเสี่ยง เพราะการทรานส์ฟอร์เมชั่น คือการ take risk สำหรับองค์กรทุกองค์กรที่กำลังจะทรานส์ฟอร์มตัวเอง คือ พูดได้ง่ายมาก แต่พอทำจริง ๆ ผู้ถือหุ้นและบอร์ดจะเริ่มคิดหนัก ว่าเรากำลังจะ take risk ในแบบที่เราไม่คุ้นเคย แล้วจะทำอย่างไรที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ว่า เมื่อคุณจะต้อง take risk ในสิ่งที่คุณไม่คุ้นเคยแล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดสามารถที่จะสบายใจ และรู้ว่าการกำหนด take ของคุณ อันไหนที่ต้องอดทน อันไหนที่ต้องรอ”

“transformation เป็นเทคนิคที่จะต้องอาศัยความอดทน อาศัยการสื่อสาร และอาศัยความเข้าใจของคนที่อยู่ในสังคมและในองค์กรเดียวกับเรา และรู้จังหวะอันไหนต้องหนัก และอันไหนต้องเร็ว อันไหนต้องช้า และอันไหนต้อง compromise (ประนีประนอม) อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะแชร์” ซีอีโอ SCBX กล่าวทิ้งท้าย