ดิจิทัลเชื่อมโลก : เศรษฐกิจและการเงิน

ดิจิทัลเชื่อมโลก
ดิจิทัลเชื่อมโลก
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ 
ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

เทคโนโลยีดิจิทัลได้รับนิยามจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาว่า คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับรูปแบบข้อมูลที่คอมพิวเตอร์สามารถจัดเก็บและจัดการได้ ขอบเขตที่คลุมความกว้างขวางนี้ทำให้ดิจิทัลสอดแทรกเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนการดำเนินงานและการดำรงชีพในแทบทุกมิติ

บทความนี้อาศัยกรอบแนวคิดจากประเด็น นัยของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ของโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัลของภาคการเงิน” ภายใต้แผนงานอาเซียนในกระแสแห่งความพลิกผัน ระยะที่ 2 ด้วยทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มาอธิบายบทบาทของดิจิทัลในการเชื่อมโยงโลกเศรษฐกิจและโลกการเงิน

ก่อนอื่นขอตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเหมือนเครื่องมืออื่น ๆ ที่ถูกพัฒนา มีต้นทุนที่จะเข้าถึง และต้องอาศัยความคุ้นเคยและคุ้นชินในการนำมาใช้งาน เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีก็จะถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง จนกระทั่งผู้ใช้งานเองก็สามารถใช้งานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเชิงลึก

               

ลักษณะเช่นนี้สอดคล้องกับการใช้งานดิจิทัลในภาคการเงิน ทั้งด้านผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่มียอดการใช้งานเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะธุรกรรมการชำระเงินที่ช่องทางดิจิทัลเป็นช่องทางหลักในปัจจุบัน การศึกษานี้จึงมุ่งอธิบายผลของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจ โดยตอบคำถาม ดังนี้

1.นัยของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินต่อแรงงานและธุรกิจคืออะไร ?

นอกจากภาคการเงินจะเป็นสาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศในทางตรงแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินยังมีส่วนสนับสนุนรายได้ประชาชาติของประเทศ ผ่านทั้งการยกระดับผลิตภาพรวมของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก และการยกระดับรายได้ของแรงงาน

การศึกษาชิ้นนี้จึงวัดผลของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินที่มีต่อผลิตภาพของธุรกิจขนาดเล็ก ในกลุ่มตัวอย่างภาคบริการบางส่วน และผลของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับรายได้ของแรงงาน ก่อนที่จะประเมินผลกระทบในระดับมหภาคที่มีต่อ GDP ในภาพรวมของประเทศ เพื่อสะท้อนช่องว่างที่ยังเติมเต็มได้

2.ความรู้สึกของผู้ใช้บริการทางการเงินที่มีต่อการให้บริการทางการเงินเป็นอย่างไร ?

แนวทางหนึ่งที่จะเข้าใจภาพรวมของสถานการณ์การใช้งานบริการทางการเงินดิจิทัลคือ การประเมินกระแสความรู้สึกของสังคมที่มีต่อการใช้งาน รวมถึงแนวทางการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งสามารถติดตามร่องรอยดิจิทัลได้

การหยั่งกระแสความรู้สึกดังกล่าว ทำให้การศึกษาชิ้นนี้นำมาใช้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย หลังเข้าใจถึงประเด็นปัญหา อุปสรรค ประโยชน์ และความคาดหวังของผู้ใช้บริการ ตลอดจนความเพียงพอของการให้บริการ ประกอบการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายด้วยแบบสำรวจเบื้องต้น แล้วจึงสำรวจเชิงคุณภาพ

3.ปัจจัยที่จะทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจของ SMEs คืออะไร ?

ปัญหาของ SMEs มีลักษณะเฉพาะและหลากหลาย จึงต้องทำความเข้าใจที่มาของปัญหาก่อน จึงจะสามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่สามารถได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ โดยในการสำรวจนั้น การเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ทำให้สร้างองค์ความรู้ผ่านความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งแม้แต่ละรายจะมีลักษณะเฉพาะ มีความแตกต่างทั้งในส่วนของขนาด ผลประกอบการ พื้นที่ สาขากิจกรรม และพื้นฐานความรู้ความเข้าใจต่อทักษะดิจิทัลในภาคการเงิน แต่ก็เปิดโอกาสให้สามารถประมวลปัญหา โอกาส และความคาดหวังที่มีร่วมกัน อันจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ตรงใจ SMEs ได้

4.สถาบันการเงินมีกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นอย่างไร ?

สถาบันการเงินมีการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทั้งในบทบาทเชิงรุกเพื่อนำหน้าตลาด และในบทบาทเชิงรับ เพื่อป้องกันส่วนแบ่งการตลาด การให้บริการทางการเงินจากผู้เล่นรายใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่มีจุดแข็งในการให้บริการลูกค้าแตกต่างออกไป

กลไกการปรับตัวของภาคการเงินอาจจะมีรูปแบบมาตรฐานตามตัวอย่างกรณีศึกษาในต่างประเทศ แต่มุมมองของกลยุทธ์การปรับตัวในประเทศไทย ที่การให้บริการทางการเงินมีความเป็นสถาบันอยู่คู่กับเศรษฐกิจไทยอย่างยาวนาน จะมีความสำคัญในการต่อยอดเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินสามารถตอบโจทย์การเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมได้เช่นกัน

5.แนวมาตรการและนโยบายที่จะส่งเสริมให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควรเป็นอย่างไร ?

หลังจากเข้าใจทั้งมุมมองเชิงมหภาค กระแสสังคมที่มีต่อการให้บริการทางการเงิน และการใช้บริการทางการเงินดิจิทัล ความรู้สึกเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนมุมมองของผู้ให้บริการในการปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแล้ว การศึกษาจะสังเคราะห์แนวมาตรการและนโยบาย

โดยถอดบทเรียนจากเครื่องมือที่ผู้ดำเนินนโยบายและระบบนิเวศการเงินไทยมีใช้งานในการส่งเสริมการพัฒนาการของดิจิทัลในภาคการเงิน และการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้งานดิจิทัลในภาคการเงิน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ไม่เพียงจะตอบโจทย์ผู้กำกับดูแล แต่จะมีความสอดคล้องกับการดำเนินการของผู้ให้บริการ และตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ

โดยสรุปแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเชื่อมโลกการเงินและเศรษฐกิจจริงด้วยการเป็นเครื่องมือให้สถาบันการเงินผู้ให้บริการทางการเงินเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ขณะที่ผู้ใช้บริการในวงกว้างสามารถใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับบุคคลและในระดับธุรกิจ

อย่างไรก็ดี แนวมาตรการและนโยบายที่จะส่งเสริมให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินสามารถส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ต้องออกแบบบนพื้นฐานของความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เพราะกลุ่มที่มีความพร้อมและเข้าถึงทั้งบริการทางการเงินและดิจิทัลอยู่แล้ว คงไม่ใช่กลุ่มที่จะช่วยปิดช่องว่างการเจริญเติบโตของประเทศได้

ขณะที่การสนับสนุนกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินอย่างเพียงพอ อาจจะทำได้ยาก เพราะมักจะเป็นกลุ่มที่กลไกตลาดไม่สามารถทำงานรองรับได้อยู่ก่อน เป็นโจทย์ที่มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนร่วมตอบได้ในที่สุด

**บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด**