คู่แฝดดิจิทัลของกรุงเทพฯ สนองเป้าหมายเมืองอัจฉริยะ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ทีมกรุ๊ป

 

กรุงเทพฯเป็นเมืองอัจฉริยะ

การที่เมืองเมืองหนึ่งจะประกาศตัวเป็น “เมืองอัจฉริยะ” จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ? แนวคิดเมืองอัจฉริยะ คือ การนำข้อมูลที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาประมวลผล เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ การขับเคลื่อนพลเมืองให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเมืองที่ดีขึ้น และการสรรหารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ

ในโลกดิจิทัล อุปกรณ์เซ็นเซอร์และเกตเวย์ที่ถูกติดตั้งไว้ จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟ ตามถนน พื้นที่จอดรถ ระดับน้ำท่วม เป็นต้น เพื่อส่งข้อมูลต่อไปยังระบบคลาวด์ ซึ่งจะถูกจัดระเบียบตามมาตรฐาน สำหรับการวิเคราะห์และแปลผลแบบทันทีทันใดซึ่งผู้บริหารเมืองสามารถนำผลที่ได้เหล่านั้น มาตัดสินใจในการบริหารงานบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานแบบเชิงรุก หรือเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วมฉับพลัน เป็นต้น

กล่าวสรุปง่าย ๆ คือ เมืองจะเป็นอัจฉริยะ เพราะการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำมาจัดการกับการให้บริการของเมืองให้มีคุณภาพดีขึ้น ตัวอย่าง เช่น เราสามารถใช้ข้อมูลที่ได้จากสภาพการจราจรปัจจุบัน เพื่อจัดการและลดความแออัดของถนนในกรุงเทพฯ ในเวลาต่อเนื่องกัน หรือใช้สถิติน้ำใต้ดินในปัจจุบันเพื่อบริหารควบคุมไม่ให้น้ำท่วมในเวลาต่อมา

ดังนั้น แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังเมืองอัจฉริยะ คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บได้ให้มากที่สุด เพื่อใช้ในการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

คู่แฝดดิจิทัล (Digital Twin)

คู่แฝดดิจิทัล เป็นโมเดลดิจิทัลของทรัพย์สินทางกายภาพ เช่น อาคาร โครงสร้างพื้นฐาน จนถึงเมือง ซึ่งนอกจากเป็นการจำลองทางกายภาพใน 3 มิติแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์ โดรน หรืออินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IOT) อย่างต่อเนื่องในระหว่างการใช้งาน เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ ที่สามารถนำไปแปลงผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน โดยใช้การวิเคราะห์ขั้นสูง

การเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร (machine learning) และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำผลนี้กลับไปปรุงแต่งทรัพย์สินนั้น แนวคิดเดิมของคู่แฝดดิจิทัลนั้นพัฒนาขึ้นสำหรับระบบการผลิตในอุตสาหกรรม แนวคิดนี้ได้แพร่หลายไปสู่การปฏิบัติการของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

เทคโนโลยีคู่แฝดดิจิทัล เป็นแนวทางแบบองค์รวมในการเพิ่มประสิทธิภาพข้ามแนวตั้ง ของการออกแบบการจัดการและการดำเนินงานของโครงสร้างพื้นฐานในเมือง การสร้างแบบจำลองคู่แฝดดิจิทัลของเมืองมีประโยชน์ต่อการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และการประหยัดต้นทุน การปรับปรุงบริการสำหรับประชาชน การยกระดับความปลอดภัยและความมั่นคง ตลอดจนถึงความเป็นไปได้ในการออกแบบอัตโนมัติ

กรณีมาตรฐานของการใช้งาน ได้แก่ การสร้างแบบจำลองความเสี่ยงจากน้ำท่วม การจัดการพลังงานหลายอาคาร การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของการจราจร การติดตามการเข้าพัก การจำลองการอพยพ และการออกแบบส่วนขยายของเมือง

เมืองที่มีการสร้างคู่แฝดดิจิทัลแล้วในปัจจุบัน ได้แก่ นิวคาสเซิล รอตเตอร์ดัม บอสตัน นิวยอร์ก สิงคโปร์ สตอกโฮล์ม เฮลซิงกิ ชัยปุระ และอัมราวตี โดยเฉพาะเมืองอัมราวตี ที่เป็นเมืองหลวงใหม่ของรัฐอันธรประเทศ เป็นเมืองแรกของโลกที่เกิดมาพร้อมกับคู่แฝดดิจิทัล

ทำไมกรุงเทพมหานคร จึงควรมีคู่แฝดดิจิทัล ?

กรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้เป็นเมืองอัจฉริยะภายใต้เครือข่าย ASEAN Smart Cities Network เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯยังไม่ได้เป็นเมืองอัจฉริยะ เพราะยังมีมลพิษทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ ควบคู่ไปกับสภาพอากาศที่ผิดปกติ และสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง อีกทั้งภัยแล้ง ภัยอากาศร้อนที่รุนแรง

สิ่งที่กรุงเทพฯต้องรีบจัดทำ คือ การบริหารเมืองแบบองค์รวม โดยใช้ “คู่แฝดดิจิทัล” ของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลขนาดใหญ่แบบเรียลไทม์ สำหรับการวิเคราะห์และส่งผลย้อนกลับ ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานแบบเชิงรุก หรือในการตอบสนองอย่างทันเวลาในยามฉุกเฉิน

การเป็นเมืองอัจฉริยะ เมืองไม่ได้ฉลาดเพียงเพราะเป็นเมืองที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่เมืองนั้นฉลาดได้ เพราะใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ในการขับเคลื่อนให้พลเมืองมีส่วนร่วม และในการจัดการกับการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมือง การติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IOT) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เมืองบรรลุเป้าหมายไปสู่ความอัจฉริยะนั้นได้

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ จำเป็นต้องมี “การบริหารแบบอัจฉริยะ” เพื่อผลักดันการริเริ่มเมืองอัจฉริยะ โดยต้องการการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากชาวกรุงเทพฯทุกกลุ่มก้อน เพื่อจัดการกับความท้าทายของสังคมดิจิทัล การประสานงานระหว่างหน่วยราชการต่าง ๆ การแบ่งปันข้อมูล การมีส่วนร่วมของประชาชน และความโปร่งใส

ความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลของกรุงเทพมหานคร จึงขึ้นอยู่ว่า ประชาชนชาวกรุงเทพฯจะเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนต่อไปเป็นบุคคลที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีหรือไม่ แนวปฏิบัติที่ดีต่อไปนี้ควรได้รับการพิจารณาจากผู้ว่าฯคนต่อไปนี้ ถ้าต้องการสร้างความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

-เมืองอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จ มักมีกฎเกณฑ์ที่เปิดกว้างและโปร่งใสสำหรับการแบ่งข้อมูลกันใช้ ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดยักษ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะทั้งหมด โดยหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถแบ่งปันข้อมูลอย่างอิสระ หรือเพียงชดเชยต้นทุนของการจัดการข้อมูลเท่านั้น

-หลายเมืองที่ก้าวหน้าสู่เมืองอัจฉริยะ มักจะลงทุนสร้างทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือข่ายการสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง โดยเปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และหลีกเลี่ยงการสร้าง “ไซโล” ของข้อมูลระหว่างหน่วยงานราชการต่าง ๆ

-เมืองอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จ มักเปิดโอกาสให้นักลงทุนภาคเอกชนลงทุน โดยเฉพาะในกิจกรรมที่สร้างมูลค่าแก่ผู้ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน เช่น การลงทุนในที่จอดรถอัจฉริยะ เป็นต้น

-โครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะต้องสามารถขยาย เพื่อให้สามารถเติบโตและพัฒนา จะได้ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตได้