ยุคดิจิทัลมิวสิก ฟังเพลงง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส

คอลัมน์ นอกรอบ

พิสชา คำบุยา มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ยุคสมัยที่กระแสเทคโนโลยีหมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วฉันใด เฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเพลงที่เปลี่ยนผ่านจากยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัลฉันนั้น ในช่วงชีวิตของผู้อ่านหลายท่านอาจเคยผ่านยุคเฟื่องฟูของแผ่นเสียงผ่านบทเพลงสุนทราภรณ์ของคุณพ่อเอื้อ สุนทรสนาน และยุคทองของเทปคาสเซตผ่านบทเพลงสตริงของ วงดิอิมพอสซิเบิ้ล แกรนด์ เอ็กซ์ และคาราบาว จนกระทั่งเกิดธุรกิจค่ายเพลง (record label) อย่างแกรมมี่ และอาร์เอส เข้ามาครองพื้นที่ตลาดเพลงไทย จากตลับเทปเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแผ่นซีดีและเครื่องเล่น MP3 ที่หลายท่านคิดว่าเป็นที่สุดของการฟังเพลงแล้ว ทว่าการเข้ามาของปรากฏการณ์ disruptive technology ได้เปลี่ยนแปลงวงการเพลงไทย และวงการเพลงทั่วโลกไปตลอดกาล

ความสำเร็จของ Apple ในการสร้างแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า iTunes ในปี พ.ศ. 2544 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดเพลงดิจิทัล (digital music) ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการเพลงครั้งใหญ่ นำไปสู่การล้มหายตายจากไปของเครื่องเล่นเทป หรือซีดีวอล์กแมน สิ่งที่ทำให้ Apple ประสบความสำเร็จ คือ การเล็งเห็นว่าผู้ฟังแต่ละคนมีความชอบ (preference) แตกต่างกัน จากในอดีตที่ต้องซื้ออัลบั้มเพลงยกชุด ทั้งที่อาจจะชอบเพลงเดียวในอัลบั้ม

ดังนั้น การสร้างทางเลือก (choice) เพื่อให้ผู้ฟังสามารถเลือกซื้อและดาวน์โหลดเพลงถูกลิขสิทธิ์ที่ต้องการผ่านทาง iTunes Store มาเก็บไว้ในมือถือได้ จึงตอบโจทย์ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2548 แพลตฟอร์ม YouTube ผู้ให้บริการอัปโหลดวิดีโอและแลกเปลี่ยนโดยไม่เสียค่าบริการได้เติบโตตีคู่มากับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงชื่อดังอย่าง Spotify ส่งผลให้รูปแบบการบริโภคเปลี่ยนจากการดาวน์โหลดสู่การฟังเพลงแบบออนไลน์หรือสตรีมมิ่งแทน

เมื่อความนิยมในการฟังเพลงรูปแบบสตรีมมิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเกิดแพลตฟอร์มรูปแบบเดียวกันตามมาอีกมากมาย เช่น Apple Music JOOX และ SoundCloud เป็นต้น ทำให้ในปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกในการฟังเพลงได้หลากหลายขึ้นผ่านการสตรีมมิ่ง ซื้อและดาวน์โหลดเพลงดิจิทัลผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดายผ่านมือถือ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ตลาดเพลงดิจิทัลมีลักษณะใกล้เคียงกับตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (perfect competitive market) กล่าวคือ จำนวนผู้ซื้อ (ผู้ฟัง) และจำนวนผู้ขาย (ศิลปินและค่ายเพลง) มีจำนวนมากขึ้น การเข้าสู่ตลาดเพลง (barrier to entry) ทำได้ง่ายกว่าในอดีต ที่มีค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้าที่ครองตลาด และทำให้ผลงานเพลงกลายเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) ไปในที่สุด ปรากฏการณ์นี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเกิดจากภาวะที่ marginal cost หรือต้นทุนในการผลิตและเผยแพร่ผลงานเพลงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วยลดลงจนเข้าใกล้ศูนย์

การเข้าสู่ตลาดเพลงของผู้ฟังหน้าใหม่ไม่ได้ทำให้ความพึงพอใจของผู้ฟังเจ้าเก่าลดลง (nonrival) และไม่สามารถกีดกัน (nonexcludable) การเข้ามาของผู้ฟังหน้าใหม่ได้ด้วยเช่นกัน เมื่อการเข้าถึงผลงานเพลงบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากจะกีดกันได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของผลงานหรือค่ายเพลงมีการบังคับใช้กฎหมายด้านลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันการละเมิด แต่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาในการดำเนินการ

นับเป็นสวรรค์ของนักฟังเพลง เมื่อการเข้าถึงเพลงเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่กลับเป็นเรื่องน่าเศร้าของศิลปินที่รายได้ของพวกเขาเหล่านั้นต้องแข่งขันกันที่จำนวนครั้งของการดาวน์โหลดและสตรีมมิ่ง โดยส่วนแบ่งจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงอย่าง Spotify นั้นศิลปินจะได้รับรายได้ประมาณ 15 สตางค์ต่อการเปิดฟังเพลงหนึ่งครั้ง แสดงว่าจะต้องมีการสตรีมมิ่งเพลงถึง 60,000 ครั้ง ศิลปินจึงจะมีรายได้เฉลี่ย 9,000 บาท ซึ่งเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนของไทย

การได้มาซึ่งรายได้ของศิลปินและค่ายเพลงต้องมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทำให้ระยะหลังมานี้ เราได้เห็นเหล่าศิลปินและค่ายเพลงหารายได้จากการแสดงสดมากขึ้น รวมถึงช่องทางอื่น ๆ เช่น อีเวนต์ โฆษณา และการจำหน่ายของที่ระลึก เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย BNK48 ถือเป็นตัวอย่างของการปรับตัวในตลาดดิจิทัลมิวสิกได้เป็นอย่างดี

เมื่อผลงานเพลงไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์หลักอีกต่อไป แต่กลายเป็นคอนเทนต์หนึ่งที่ช่วยต่อยอดในการสร้างรายได้ให้แก่ค่ายเพลง การเปิดตัววงครั้งแรกใน MV เพลงคุกกี้เสี่ยงทาย สามารถสร้างความนิยมให้กับตัวศิลปิน นำมาซึ่งการสร้างรายได้ซึ่งมาจากการจำหน่ายซีดีเพลง พร้อมบัตรจับมือศิลปินและของที่ระลึก 40% งานอีเวนต์ 30% งานแสดงในเธียเตอร์ 20% ขณะที่รายได้จากการสตรีมเพลงคิดเป็น 10% เท่านั้น

ขณะที่ศิลปินหน้าใหม่ทยอยเข้าสู่ตลาดดิจิทัลมิวสิกเรื่อย ๆ ศิลปินรุ่นเก่าที่อยู่ในตลาดมานานหลายคนทยอยหายหน้าออกไป แต่ก็มีศิลปินไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จในตลาดดิจิทัลมิวสิก เพราะเขาเหล่านั้นรู้จักใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักบอกต่อกันแบบปากต่อปาก จนเกิดเป็นกระแสขึ้นมาอย่างรวดเร็วในวงกว้าง หรือที่เรียกว่า ไวรัล (viral) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก ไอซ์ พาริส และ แพรวา ณิชาภัทร ศิลปินวัยรุ่นหน้าใหม่ที่ได้แจ้งเกิดผ่านบทเพลงแนว pop-hip hop อย่าง “รักติดไซเรน” ที่กำลังเป็นกระแสด้วยท่าเต้นน่ารักจนเกิดเป็นคลิปเต้น cover มากมายบน YouTube

ส่งผลให้ รักติดไซเรน ทะยานขึ้นสู่อันดับที่ 1 ของ YouTube Weekly Country Charts ประเทศไทย ด้วยยอดสตรีมมิ่งกว่า 70 ล้านครั้ง และมียอดสตรีมมิ่งใน Spotify รวม 3 ล้านครั้ง ภายใน 6 สัปดาห์หรือแม้กระทั่งศิลปินรุ่นเก่าอย่าง จินตหรา พูนลาภ ที่กลับมาเฉิดฉายในวงการเพลงลูกทุ่งสตริงอีกครั้งกับเพลง “เต่างอย” ที่สร้างสรรค์บทเพลงผ่านบรรยากาศเทศกาลบวงสรวงพญาเต่างอย ของจังหวัดสกลนคร พร้อมยอดสตรีมมิ่งใน YouTube 120 ล้านครั้ง กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากการใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ในยุคดิจิทัล การนำเสนอผลงานเพลงในรูปแบบที่แปลกใหม่และเป็นที่น่าจดจำก็ช่วยส่งเสริมให้ศิลปินมีที่ยืนในตลาดเพลงดิจิทัลได้มากขึ้น

การเข้ามาของดิจิทัลมิวสิกทำให้อุตสาหกรรมเพลงเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ ทำลายการผูกขาดของธุรกิจค่ายเพลง มอบพื้นที่ในการสร้างโอกาสใหม่สำหรับทั้งศิลปินเก่าและใหม่ ผู้ที่ปรับตัวได้ไวถึงจะอยู่รอด แต่ก็มีบางสิ่งที่ดิจิทัลมิวสิกไม่สามารถทดแทนได้ คือ ความรู้สึกมีความสุขแบบเก่า ๆ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเพลง Yesterday Once More ของวง The Carpenters ที่ร้องว่า “When I was young I’d listen to the radio. Waitin’ for my favorite songs. When they played I’d sing along, it made me smile.”


เปรียบดั่งยุคของ disruptive technology ที่หลายสิ่งเข้ามาไว และจากไปไว อาจทำให้เราหลงลืมคุณค่าของการรอคอย รอคอยที่จะได้ฟังเพลงของศิลปินที่คุณชื่นชอบทางวิทยุ ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ฟังตอนไหน รอคอยที่จะได้ซื้อและแกะกล่องแผ่นเสียงหรือแผ่นซีดีของศิลปินที่คุณรัก ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์ทางกายภาพที่ขาดหายไปในยุคเพลงดิจิทัล