“วิชาวาดเขียน… ในวันที่ไม่มียางลบ” โดย สุวภา เจริญยิ่ง

“วิชาวาดเขียน… ในวันที่ไม่มียางลบ” โดย สุวภา เจริญยิ่ง
ภาพ: cottonbro

เมื่อยังเล็กในตารางสอน มีวิชาหนึ่ง ชื่อว่า วิชาวาดเขียน และสมัยนั้น จะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก…เพราะชอบ แต่ก็มีบางคนบอก ไม่ชอบเลย ไม่รู้จะเรียนไปทำไม…

โดยทุกครั้งจะได้รับแจกกระดาษขาวแผ่นใหญ่แผ่นหนึ่ง แล้วก็จะมีโจทย์ให้ทำแต่ละอาทิตย์ เช่น วาดรูปผลไม้ วาดภาพทะเล วาดรูปตัวฉัน วาดภาพแม่ของฉัน วาดวันลอยกระทง วาดเสร็จก็ลงสี

เมื่ออยู่ฉันโตขึ้น ก็มีความซับซ้อนของรูปที่วาดมากขึ้น บางทีก็เปลี่ยนเป็น ภาพสเกตช์ ภาพวิว ภาพเหตุการณ์สำคัญ

แต่ครั้งที่จำแม่น คือวันที่อาจารย์ บอกในวิชาวาดเขียน ว่าวันนี้ อนุญาตให้ใช้ดินสอ 2B หรือมากกว่า ใครมี EE ก็ได้

โจทย์คือ วาดภาพคน แต่ที่พิเศษคือ วันนี้ไม่ให้ใช้ยางลบ โอว… ทุกครั้งวาดไปลบไป ขี้ยางลบนี้กองเต็มโต๊ะแถมวันนี้ใช้ดินสอไส้อ่อน เขียนทีก็ดำปื้ด ลากหนักไป บางทียางลบยังลบไม่หมดด้วยซ้ำ

แต่เชื่อไหมว่า… วันนั้นรูปออกมาสวยแทบทุกคน

เป็นไปได้หรือ การวาดรูปที่ไม่มียางลบ แล้วรูปจะสวย ตอนแรกมันก็เก้ ๆ กัง ๆ บางคนลงหนักไป บางคนลงเบาไป

แต่วันนั้นทุกคนเรียนรู้การใช้นิ้วเกลี่ยรูป เส้นที่ลงไว้ พอใช้นิ้วเกลี่ย ภาพมันนุ่มนวลขึ้น ตรงไหนลากเส้นไม่ได้ดั่งใจ ก็ลากเส้นใหม่ทับไปบ้าง ขยับไปข้าง ๆ บ้าง หลายปีต่อมา ก็ได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่อาจารย์สั่งให้ทำ คือ วิชา drawing และการวาดภาพลายเส้น ถือเป็น การเรียนรู้ขั้นต้นของศิลปะ

ศิลปินที่มีชื่อเสียงทุกท่าน เริ่มต้นจาก drawing ทั้งนั้น มีคำกล่าวว่า drawing ที่คนทั่วไปจะมองว่า คือ วาดเส้นให้สวยงาม หรือฝึกเส้นให้สวย แต่แล้วจริง ๆ ไม่ได้มีเท่านั้น มันเป็นกระบวนการสร้างคนคนนั้นให้เข้าใจ ศิลปะ อย่างแท้จริง

“ศิลปิน” ที่เชี่ยวชาญยังต้องฝึก drawing อยู่เสมอ ๆ แต่วันนั้น เราเรียนรู้ที่จะสังเกต… คน

บางคนวาดคนในห้อง บางคนวาดอาจารย์ บางคนวาดหน้าตัวเอง บางคนวาดหน้าดารา บางคนวาดใครไม่รู้ แต่ดูออกว่าเป็นคน และเมื่อไม่อนุญาตให้ใช้ยางลบ ทุกเส้นเลยไม่นับว่าผิด เพราะเราจะค่อย ๆ แก้โดยวาดเส้นใหม่ลงไป

ชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น Life is the art of drawing without an eraser.

บทเรียนชีวิตติดลบ ผู้สร้างความสำเร็จจากความไม่มี

มีชายหนุ่ม อายุยังไม่ถึง 20 ปี 3 คน

คนแรก บ้านมีฐานะ ครอบครัวอบอุ่น แต่คุณพ่อไปค้ำประกันเงินกู้ให้เพื่อน เพื่อนทำธุรกิจล้มเหลว เบี้ยวหนี้ ไม่มีเงินจ่าย เจ้าหนี้มาตามที่พ่อ พ่อกลัวความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัว เลยตัดสินใจหนีเจ้าหนี้ ฝากแม่ และน้อง ๆ ไว้กับพี่ชายคนโตที่อายุยังไม่ 20

พี่คนโตคนนั้น เสียสละ บอกกินข้าวมาจากข้างนอก เพื่อให้แม่ให้น้องกิน ที่จริงคือ เขานั่งรอคนกินอาหารเหลือในโรงอาหาร แล้วเข้าไปกินต่อ กินน้ำจาก “ก๊อก” และขอทำงานทุกอย่าง เป้าหมาย คือ ขอแค่ข้าวให้น้องกับแม่กินทุกวัน

เขาเติบโตขึ้น ด้วยความขยันอดทน มือประสานสิบทิศ วันนี้เขาคือ organizers ชื่อดัง ที่ทำงานระดับ Talk of the Town

คนที่สอง ขณะที่ยังเรียนหนังสือระดับมัธยม คุณพ่อเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ด้วยเหตุคาดไม่ถึง ทิ้งธุรกิจที่ยากที่เด็กผู้ชายอายุยังไม่ 20 ต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบ เขาขอให้แม่พาไปเจอเพื่อนของพ่อ ยืนยัน สิ่งที่พ่อรับปาก สิ่งที่พ่อทำ เขาจะสืบสาน

ไม่มีใครเชื่อลมปาก เขาขอให้แม่เซ็นเช็ค เอาไปวางเป็นหลักประกัน ในใจก็ขอบคุณแม่ เพราะถ้าเขาพลาด เขาอาจส่งแม่เข้าคุกได้ และเริ่มเข้าใจคำว่า “มิตรแท้” และการถูกเอาเปรียบจากการที่มองว่า เขาเป็นเด็ก … แค่เด็กเมื่อวานซืน

มีคำกล่าวว่า ไม้ล้มอย่าข้าม แต่ความจริงในชีวิต ทุกคนมักเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่าเสมอ จากบทเรียนนั้นก็พิสูจน์ตัวตนเขา ที่เขาจะไม่เอาเปรียบใคร และทำให้วันนี้ เขาเป็นเจ้าของกิจการที่มีรายได้ หลายพันล้านบาท และอยู่แบบแทบจะไม่มีหนี้เลย

ชายหนุ่มคนที่สาม ไม่ได้มีความเดือดร้อนจากครอบครัว แต่มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของกิจการ พออายุ 17 เขาก็ตั้งบริษัทแรกในชีวิต กิจการค่อย ๆ เติบโต เขาชอบทานอาหารแบบไหน ก็ลงทุนในร้านอาหาร ชอบเสื้อผ้าแบบไหน ก็เอาแฟรนไชส์ร้านนั้นมาเปิด ธุรกิจตั้งหลัก

แต่พอเกิดวิกฤตการเงินปี 2540 สิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดหายวับไปกับตา แถมมีหนี้ก้อนโต นายแบงก์ที่มีความสนิทสนม ก็เป็นคนแรกที่เรียกเงินคืน ที่จริงวันนั้น ถ้าเขาจะเลิก ครอบครัวเขาก็ไม่เดือดร้อน หนี้ก็หนี้บริษัท

แต่เขาเลือกที่จะสู้ เจรจาหาผู้ร่วมทุน ได้ partner ที่ยอมขายทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อมาลงทุนกับเขา และวันนี้เป็นเพื่อนและเหมือน คนในครอบครัว สร้างตัวจากติดลบในปี 2540 มาจนสิ้นปี 2562 บริษัทเขากำไรหมื่นล้าน กิจการของเขา มีมูลค่าตลาด กว่าแสนล้าน

ชายหนุ่มทั้งสามคนวันนี้ ยังโลดแล่นอยู่ และรอบนี้ เขาทั้งสามก็คงเจอเหตุการณ์ที่เรากำลังเจออยู่ และถ้าถามว่า โดยส่วนตัวคิดว่าอย่างไรหรือ จะบอกว่าเขาทั้งสามจะนำพาบริษัทเขารอดอีกครั้ง เพราะไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ในสารานุกรมของเขา

Impossible = I’m possible ชีวิตมันก็มหัศจรรย์ แบบนี้

Life is too ironic. It takes sadness to know what happiness is, noise to appreciate silence, and absence to value presence.

ในวันที่จากนี้ไป ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม และสิ่งที่เกิดแล้ว เราคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เหมือนเส้นที่วาดไปแล้ว เราจะเกลี่ยอย่างไร วาดเส้นใหม่เพิ่มตรงไหน

Drawing รูปนี้อยู่ในมือคุณแล้ว


สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ มีประสบการณ์ในแวดวงการเงินกว่า 30 ปี เริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่เจ้าหน้าที่สินเชื่อ เป็นวาณิชธนกรนำหุ้นเข้าตลาดกว่า 80 บริษัท เป็นผู้จัดการกองทุน และกรรมการผู้จัดการ เมื่ออายุเพียง 33 ปี เป็นเจ้าของหนังสือขายดี อาทิ Show Me the Money-บอกสิจะมีเงินได้ไง…, โตแล้วแบ่งกันรวย ฯลฯ

สาเหตุที่ลุกขึ้นมาจับปากกาเขียนหนังสือ เพราะอยากแบ่งปันความรู้ด้านการเงินให้คนทั่วไป “คนไทยส่วนใหญ่ เรียนวิธีหาเงิน แต่ไม่มีวิชาใช้เงิน เก็บเงิน”

ในวิกฤตครั้งนี้ที่เรียกได้ว่า เป็น perfect storm ส่งผลกระทบถึงกันทั่วทั้งโลก “คุณสุวภา” กลับมาเขียนอีกครั้ง ผ่านคอลัมน์ “เรื่องเล่าจากประสบการณ์” ที่จะปรากฏใน “ประชาชาติธุรกิจ : รวมพลังสู้โควิด-19”


ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์  “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน