รื้อดอกเบี้ยกู้-ผิดนัดชำระหนี้ แก้ ปม.แพ่งฯ หลังบังคับใช้ 90 ปี (1)

คอลัมน์ นอกรอบ
พิเชษฐ์ ณ นคร

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….(แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย) ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ลดภาระลูกหนี้ไม่ให้ต้องแบกรับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีที่มาอย่างไร จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้มากน้อยแค่ไหน ต้องย้อนไปดูหลักการ เหตุผล และสาระสำคัญของกฎหมายที่จะปรับแก้ ช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดรับฟังความคิดเห็น พร้อมกรณีตัวอย่างเปรียบเทียบการคิดอัตราดอกเบี้ยก่อนและหลังการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

1.หลักการและเหตุผล

โดยที่มาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงยกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และโดยที่บทบัญญัติมาตรา ๗ (อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นิติกรรมหรือกฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง) และมาตรา ๒๒๔ (อัตราดอกเบี้ยผิดนัด) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในอัตราคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี มีการใช้บังคับมากว่า 90 ปี โดยมิได้มีการแก้ไข ปรับปรุง ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

สำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกา โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้เป็นอัตราลอยตัว โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศทุกรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยคำนวณจากอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยในตลาดเงินบวกด้วยอัตราเพิ่มที่เหมาะสม

เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยในกฎหมายมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในกรณีที่มีการคิดดอกเบี้ยโดยอาศัยอัตราในกฎหมาย

นอกจากนี้เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยผิดนัดจากลูกหนี้ในอัตรา หรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร จึงกำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด และกำหนดให้ข้อตกลงที่ขัดกับวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนดมีผลเป็นโมฆะ

2. สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

2.1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นิติกรรมหรือกฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง จากอัตราคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราลอยตัวที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศทุก 6 เดือน โดยคำนวณเฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจําประเภท 12 เดือน ของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดจำนวน 5 แห่งในรอบระยะเวลา 6 เดือนก่อนหน้า บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ให้ใช้สำหรับ การคิดดอกเบี้ยในรอบระยะเวลา 6 เดือนหลังจากวันที่มีการประกาศ

2.2 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๒๔ แห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยปรับปรุง อัตราดอกเบี้ยผิดนัด จากอัตราคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราลอยตัวโดยให้เท่ากับอัตราดอกเบี้ย ตามมาตรา ๗ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 3 ต่อปี แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

2.3 กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ ผ่อนชำระเป็นงวด โดยหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด ได้เฉพาะจากเงินต้นของค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น และกำหนดให้ข้อตกลงของเจ้าหนี้และลูกหนี้ ที่ขัดกับวิธีการที่กฎหมายกำหนดมีผลเป็นโมฆะ

2.4 กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติตามมาตรา ๗ และมาตรา ๒๒๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ใช้กับการคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระ ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลา ก่อนที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

2.5 กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติตามมาตรา ๒๒๔/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเพิ่มโดยพระราชบัญญัตินี้ ใช้กับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในงวดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

ตัวอย่างการใช้บังคับอัตราดอกเบี้ยในกฎหมายตามร่างมาตรา ๗ และร่างมาตรา ๒๒๔ และวิธีการ คำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวดตามร่างมาตรา ๒๒๔/๑

1. มาตรา ๗ อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นิติกรรมหรือกฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง บทบัญญัติปัจจุบัน มาตรา ๗ ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

ร่างบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๗ ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่ไม่เกินร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่ง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคำนวณเฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจําประเภทสิบสองเดือนของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดจำนวนห้าแห่งในระยะเวลาระหว่างวันที่หนึ่งมกราคมถึงสามสิบมิถุนายน และระยะเวลาระหว่างวันที่หนึ่งกรกฎาคมถึงวันที่สามสิบเอ็ดธันวาคมของทุกปี

โดยให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ช้ากว่าวันที่สิบกรกฎาคมสำหรับงวดแรก และวันที่สิบมกราคมสำหรับงวดหลัง บวกด้วยอัตราเพิ่ม ร้อยละหนึ่งต่อปี อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้ใช้สำหรับการคิดดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่งสำหรับ รอบระยะเวลาหกเดือนหลังจากวันที่ใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

กรณีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นิติกรรมมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ตัวอย่าง นาย ก. ตกลงกู้เงินจากนาย ข. 100,000 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 มีกำหนดชำระคืนในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยในสัญญากำหนดให้เสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ จำนวนดอกเบี้ยที่ นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. ตามบทบัญญัติปัจจุบัน หากนาย ก. ชำระหนี้ให้นาย ข. ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามกำหนดระยะเวลา ในสัญญา นาย ข. อาจเรียกดอกเบี้ยจากนาย ข. ได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือปีละ 7,500 บาท รวมจำนวนดอกเบี้ยทั้งสิ้น 15,000 บาท จำนวนดอกเบี้ยที่ นาย ก. ต้องเสียให้นาย ข. ตามร่างบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติม ร่างมาตรา ๗ ที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศอัตราดอกเบี้ย ทุกรอบระยะเวลา 6 เดือน

โดยคำนวณเฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจําประเภท 12 เดือน ของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดจำนวน 5 แห่งในช่วงระยะเวลา 6 เดือนก่อนหน้า บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 1 ต่อปี ในตัวอย่างนี้ หากพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยเงินฝากประจําประเภท 12 เดือนในช่วงระยะเวลา 6 เดือนก่อนหน้า อยู่ที่ร้อยละ 0.49 ต่อปี เมื่อบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 1 ต่อปี อัตราดอกเบี้ย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จะเท่ากับร้อยละ 1.49 ต่อปี

และหากอัตราเฉลี่ย ของดอกเบี้ยเงินฝากประจําประเภท 12 เดือนในช่วงระยะเวลา 6 เดือนต่อมา อยู่ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เมื่อบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 1 ต่อปี อัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จะเท่ากับร้อยละ 1.50 ต่อปี จำนวนดอกเบี้ยตามสัญญาที่นาย ก. จะต้องเสียให้นาย ข. จะเป็นดังนี้ 1) อัตราดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 (1 ปี) ร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่ากับ 7,500 บาท 2) อัตราดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (181 วัน) ร้อยละ 1.49 ต่อปี เท่ากับ 739 บาท 3) อัตราดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (184 วัน) ร้อยละ 1.50 ต่อปี เท่ากับ 756 บาท 4) รวมจำนวนดอกเบี้ยทั้งสิ้น 8,995 บาท

กรณีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ตัวอย่าง บริษัท ก. กำหนดให้นาย ข. ผู้ถือหุ้น ส่งใช้เงินค่าหุ้นตามเรียกจำนวน 100,000 บาท ในวันที่ 1 เมษายน 2564 หากนาย ข. มิได้ส่งใช้เงินค่าหุ้นในวันที่กำหนด นาย ข. จะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าหุ้นดังกล่าวนับแต่วันที่บริษัท ก. กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งใช้เสร็จ ตามความในมาตรา ๑๑๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำนวนดอกเบี้ยที่ นาย ข. ต้องส่งใช้ให้บริษัท ก. ตามบทบัญญัติปัจจุบัน หากนาย ข. ส่งใช้เงินค่าหุ้นให้บริษัท ก. ครบถ้วน ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นาย ข. จะต้องส่งใช้เงินค่าหุ้นจำนวน 100,000 บาท บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อนาย ข. ส่งใช้เงินค่าหุ้นล่าช้าไป 61 วัน จึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินค่าหุ้นดังกล่าวรวมจำนวน 1,253 บาท