“วัคซีน” ต้องเร็วที่สุด

Photo by AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

แม้ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันตกได้ระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 เกินกว่าครึ่งของจำนวนประชากร ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อและการตายลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทว่าการระบาดในซีกโลกตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียรวมทั้งไทยยังรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้

ตัวเลขการติดเชื้อสะสมล่าสุดของโลกอยู่ที่ 165,857,655 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 3,444,901 ราย (21 พฤษภาคม 2564) แต่ถ้าโฟกัสเฉพาะประเทศไทยพบว่า ในการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จากเคสสถานบันเทิงย่านทองหล่อจนกระทั่งถึงวันนี้เพียง 8 สัปดาห์ มีคนติดเชื้อไปแล้ว 94,203 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 735 ราย

นับเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงมากเฉลี่ยแล้ววันละ 20-30 คน ติดต่อกันมานานนับสัปดาห์ จากประเทศที่เคยได้รับคำชมว่าควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีเยี่ยมและมีอัตราการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอยู่อันดับท้าย ๆ ของโลก

แต่มาวันนี้ประเทศไทยได้ก้าวพรวดพราดมาอยู่อันดับที่ 90 แซงหน้าจีนต้นทางของโควิด-19 ที่หล่นไปอยู่ที่อันดับ 98 (Worldometer Coronavirus) หากนับเฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 21 พฤษภาคม เพียงวันเดียวพบว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตถึง 32 ราย ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศเบลเยียม (26 ราย) กับฮอนดูรัส (42 ราย)

เบื้องต้นรัฐบาลได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมา เพื่อควบคุมการระบาดรอบนี้ด้วยความไม่เข้าใจความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ (B 1.1.7) ที่ติดเชื้อง่ายและมีความรุนแรงของโรคสูงมาก โดยจะสังเกตได้ว่าไม่มีการล็อกดาวน์การเคลื่อนย้ายของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้เชื้อไวรัสกระจายไปทั่วประเทศจนพบว่า

ตัวเลขการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนเป็นต้นมา (1,335 ราย) มาจนถึงปัจจุบันไม่เคย “ต่ำกว่า” 1,000 คน โดยวันที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4,887 ราย คือ วันที่ 13 พฤษภาคม เมื่อเชื้อไวรัสแพร่ระบาดเข้าไปในเรือนจำขนาดใหญ่หลายแห่ง ตามมาด้วยการแพร่ระบาดในตลาดสดขนาดใหญ่-แคมป์คนงานก่อสร้าง และหวนกลับมาระบาดในโรงงานซ้ำรอยเคสมหาชัยอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ปากน้ำ ชลบุรี หรือเพชรบุรี

จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจคล้าย ๆ กับ “ยึดอำนาจ” ในการสั่งการแก้ไขโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนเมษายนด้วยการนำเรื่องเข้าสู่ ครม.เพื่อออกประกาศการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของ “นายกรัฐมนตรี” เป็นการชั่วคราว เพื่อให้การแก้ไขการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทว่า นับจากวันที่ ครม.ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมาจนกระทั่งถึงวันนี้ แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด (ยกเว้นเคสเรือนจำที่แยกตัวเลขคนติดเชื้อออกมา) แต่ก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการติดตามเส้นกราฟการแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานคร ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเส้นเดียวกันกับกราฟการแพร่ระบาดในประเทศพบว่า การติดเชื้อโควิด-19 ของกรุงเทพฯเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1,000-1,500 ราย และไม่มีวันใดเลยที่จะมีผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯต่ำกว่า 500 ราย

นั่นหมายความว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลที่ดำเนินการมาตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์นั้น อย่างดีที่สุดก็คือ สามารถ “ฉุด” ให้เส้นกราฟไม่พุ่งขึ้นสูงไปมากกว่านี้ แต่ก็ไม่สามารถ “กด” เส้นกราฟผู้ติดเชื้อให้ลดลงมาได้ (ยกเว้นเคสปิด-การติดเชื้อในเรือนจำ) ส่งผลให้ทั่วทั้งประเทศยังมีการติดเชื้อวันละ 1,000-2,000 คน อยู่ตลอดเวลาและผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็เพิ่มขึ้นตามมาอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นทุกวัน

ภาวะดังกล่าวที่เป็นไปตลอดเดือนพฤษภาคม ทำให้ความหวังที่จะ “กด” ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตให้ต่ำ 10 นั้น “ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว” ส่งผลให้ความหวังเดียวของประเทศไทยอยู่ที่ “วัคซีน” เพียง 2 ชนิด Sinovac หรือ AstraZeneca ทำอย่างไรจะฉีดให้ครอบคลุมจำนวนประชากรในประเทศให้เร็วที่สุด


อย่างน้อย “ลดเจ็บลดตาย” ยังไม่ต้องคิดไปถึงการเปิดประเทศที่หนทางยังอีกยาวไกล