หนี้ครัวเรือน ระเบิดเวลาประเทศไทย

หนี้ครัวเรือน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

จากที่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตประมาณ 3.9% (YOY) และด้วยเศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสิ้นปี’64 หนี้ครัวเรือนทะลุ 90.1% ของจีดีพี จากระดับ 89.7% ในปี 2563

และต้องเข้าใจว่านี่เป็นเพียงตัวเลขหนี้ในระบบของสถาบันการเงินเท่านั้น ยังไม่นับรวม “หนี้นอกระบบ” อีกจำนวนมหาศาล

ขณะที่ ธปท. และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ต่างออกมาส่งสัญญาณเตือนว่าปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ของไทย คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ที่จะเป็นตัวฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นระเบิดเวลาของประเทศไทย

เพราะการขยายตัวของ “หนี้สิน” มากกว่า “ความสามารถในการชำระหนี้” เป็นเสมือนระเบิดเวลาของเศรษฐกิจ หากไม่ได้แก้ไขอย่างจริงจังและรวดเร็ว

ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” รุนแรงมากขึ้นหลังจากคนไทยติดหล่มอยู่กับวิกฤตโรคระบาด ทำมาหากินไม่ได้ตามปกติ และสถานการณ์วิกฤตมากขึ้นในยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้น จากปัญหาราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่รายได้ประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่า

สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 65 เร่งตัวขึ้นสูงถึง 5.73% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี และคาดว่าเฉลี่ยทั้งปี’65 อยู่ที่ 4-5%

ขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ยังเชื่องช้า และล่าสุด “เวิลด์แบงก์” ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.9% จากเดิมอยู่ที่ 3.9% และในกรณีเลวร้ายก็มีโอกาสจีดีพีจะโตแค่ 2.6% โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาพลังงานสูงขึ้น

รวมทั้ง ธปท.ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 3.2% ไม่ว่าสำนักไหนเรียกว่า “เงินเฟ้อ” พุ่งแซงหน้าการเติบโตของเศรษฐกิจไปแล้ว ยิ่งเป็นตัวกดดันให้ทิศทางหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น

ที่สำคัญคือมีการส่งสัญญาณจากหลายฝ่ายว่า “หนี้นอกระบบ” กำลังเติบโตอย่างมาก เพราะภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ คนตกงานขาดรายได้ ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ จึงนำมาซึ่งวงจรอุบาทว์ของ “หนี้นอกระบบ”

“อีไอซี” (Economic Intelligence Center) ของธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า ข้อมูล Google Trends พบว่า ปริมาณการค้นหาคำว่า “เงินกู้-เงินด่วน” ในไตรมาส 1/65 สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ราว 30% สะท้อนถึงความต้องการเงินกู้ของประชาชนในระดับที่สูง

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สถาบันการเงินต่าง ๆ มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ส่งผลให้ครัวเรือนต้องหันไปพึ่งพาเงินนอกระบบมากขึ้น และมีแนวโน้มที่หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

เพราะรายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและครัวเรือนช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่า ตัวเลขหนี้นอกระบบอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท หรือ 1.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ปริมาณหนี้นอกระบบอยู่ที่ 4.78 หมื่นล้านบาท

ถือเป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นของหนี้นอกระบบหลังจากที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2562 และในยุคที่ค่าครองชีพแพง-ค่าแรงถูก ก็จะยิ่งหนุนในหนี้นอกระบบขยายตัวมากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางล่าง ที่ยังต้องก่อหนี้เพื่อดำรงชีวิต ไม่ว่าเป็นหนี้บ้าน รถ มือถือ หรือเพื่อใช้จ่ายยังชีพ

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้บริหารประเทศ ที่ไม่สามารถมองแค่ภาพรวมการเติบโตของจีดีพี เพราะปัจจุบันครัวเรือนหน่วยเล็ก ๆ ของประเทศกำลังเปราะบางมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย

แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาประชาชนอย่าง “คนละครึ่ง” แต่ก็เป็นแค่ยาแก้ปวด แบบปูพรมที่ใช้เงินมหาศาล และช่องว่างทางการคลังก็ลดน้อยลงทุกที ในภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมเพิ่มสูงขึ้น โอกาสของประชาชนคนตัวเล็กลดน้อยลงทุกที

นี่คือระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย ที่คนไทยจำนวนมากต้อง “ติดกับดักหนี้” ไปตลอดชีวิต