วิธีสรรหาคนที่ “ใช่” SCG-CBM ตอบโจทย์โลกเปลี่ยน

wedo young talent hell day

ในยุคดิสรัปชั่น (disruption) ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ภายใต้ความปกติใหม่ (new normal)

ดังนั้น ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” อยู่ตลอดเวลา หรือเรียกว่า ทำธุรกิจแนว “zero to one” ที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ พร้อมกับตั้งคำถามใหม่ว่า ลูกค้าต้องการอะไร ? และบริษัทควรเปลี่ยนไปทำสินค้าหรือบริการอะไรที่จะตอบโจทย์ลูกค้าดีที่สุด ?

อภิรัตน์ หวานชะเอม
อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG-CBM)

“อภิรัตน์ หวานชะเอม” Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG-CBM) กล่าวว่า บริษัทได้ก่อตั้ง WEDO องค์กรด้านนวัตกรรมผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาธุรกิจใหม่ของ SCG-CBM และเรียกคนในองค์กรว่า DODER (ดูเดอร์) และเป็นคนที่มีคุณสมบัติ DODEE ที่ประกอบด้วย 3 mindset คือ

1) humble (ถ่อมตัว) ทำความเข้าใจลูกค้า ตลอดจนทีมงานที่ร่วมงานกัน ยอมรับฟังคำวิจารณ์ และนำมาปรับปรุงแก้ไข

2) passionate (แรงผลักดัน) มุ่งมั่นเพื่อสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญคือ รู้เหตุผล (why) ของตัวเองว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร

3) fearless (กล้า) ใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์ ให้กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) กล้าลองของใหม่ กล้าทดสอบไอเดียที่คนอื่นบอกว่าเป็นไปไม่ได้ หรือไอเดียที่เป็น moonshot (ยิ่งใหญ่)

“เรามีความเชื่อว่าคนทุกเจเนอเรชั่นควรได้รับโอกาสในการค้นหา passion และศักยภาพของตนเอง เราจึงทำภารกิจ talent acquisition และมองหาคนที่สามารถเป็น digital citizen ให้กับองค์กรที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐาน (innovation based)”

ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจยุค zero to one คือ “บุคลากรรูปแบบใหม่” ที่มีความสามารถ (talent) อันเหมาะสม โดยไม่เพียงแค่เก่ง แต่ต้องเป็นคนที่มีแรงผลักดัน (passion) และมีกรอบความคิด (mindset) ที่สอดคล้องกับการทำงานที่ไม่มีโจทย์หรือขั้นตอนตายตัว

ด้วยเหตุนี้ WEDO จึง “หาคนทำงานที่ใช่” คนที่มีทักษะแบบ T-shaped ซึ่งหมายถึงคนที่มีความรู้รอบด้าน ไม่กลัวการทำสิ่งใหม่ ๆ และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งที่ทำ (entrepreneurial mindset) โดยคนที่มีทักษะแบบนี้จะเหมาะสมกับงานด้านออกแบบ, ธุรกิจ และเทคโนโลยี

“คำถามที่สำคัญสำหรับทุกองค์กร รวมทั้ง WEDO คือ เราจะหา talent เหล่านี้ได้จากที่ไหน และจะทดสอบทักษะ T-shaped ดังกล่าวได้อย่างไร ในเมื่อทรานสคริปต์ที่จบจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่แสดงการวัดผลทักษะเหล่านั้นได้ เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเน้นสร้างคนที่มีทักษะ I-shaped คือผู้ที่รู้ลึกรู้จริงในงานแขนงเดียว เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญป้อนระบบอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ WEDO จึงจัดโครงการ WEDO Young Talent Program ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมสำคัญที่เรียกว่า Hell Day 2021 เป็นการค้นหา talent ในกลุ่มนิสิตนักศึกษาด้วยโจทย์สุดหินเพื่อเข้าร่วมโครงการ”

“อภิรัตน์” อธิบายว่า WEDO Young Talent Program คือการตีความหมายใหม่ให้กับคำว่า “เด็กฝึกงาน” โดยเริ่มจากการไม่มองนักศึกษาว่าเป็น “เด็ก” แต่คือ “talent ยุคใหม่” ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ และทำงานด้านนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี

“เราให้น้อง ๆ มีโอกาสพบกับความท้าทายจากโจทย์ทำงานจริง ที่ไม่ได้ถูกสมมุติขึ้นมาเพื่อการฝึกงาน เพื่อให้เขาได้ลองของจริง พลาดจริง โดยเราเชื่อว่าการเรียนรู้จากการลงมือทำ (learning by doing) คือวิธีการที่ดีสุดในการสร้าง talent ยุคใหม่”

“จากที่เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการไปเมื่อเดือนเมษายน 2564 มีผู้สมัครเขาร่วมกว่า 700 คนจากทั่วประเทศ โดยเราคัดเลือกให้เหลือเพียง 50 คนที่มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ สามารถฟันฝ่าความท้าทายและความกดดันของการทำงานด้านนวัตกรรมได้โดยไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน ทั้งยังกล้าลองตีโจทย์แบบ moonshot ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นไปไม่ได้ โดยโฟกัสที่โอกาสมากกว่าความล้มเหลว”

“กิจกรรม Hell Day เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองหาในตัวน้อง ๆ โดยเป็นการคัดเลือกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้มข้นตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่หยุด (nonstop) ประกอบด้วยบททดสอบทั้งเชิงเดี่ยวและเชิงกลุ่มในรูปแบบ hackathons และกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความกดดัน ความลังเล และความสับสนให้กับน้อง ๆ เพื่อทดสอบหาขีดจำกัดทางด้านอารมณ์ ร่างกาย ไหวพริบ และความสามารถของน้อง ๆ ซึ่งมีน้อง ๆ เกือบ 1 ใน 3 ที่ไม่สามารถรับความท้าทายนี้ได้ กระทั่งถอนตัวไปในที่สุด”

ทั้งนี้ WEDO Young Talent Program มีระยะเวลา 10 สัปดาห์ที่เข้มข้นด้วยโปรแกรมการทำงานที่เรียกว่า WEDO Young Talent Innoprise

ซึ่งน้อง ๆ จะได้สัมผัสประสบการณ์การทำโจทย์ทางธุรกิจแบบ zero to one ในลักษณะการทำงานแบบธุรกิจขนาดเล็ก (microenterprise) แบ่งเป็นกลุ่มและทำโจทย์จริงด้วยตัวเอง โดยมีพนักงานในทีม WEDO มาโค้ช และพัฒนาน้อง ๆ เริ่มตั้งแต่การหาข้อมูลเชิงลึก (insights) ไปจนกระทั่งถึงจุดที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อผู้ใช้อยู่ในตลาด (market fits) ภายใต้การวัดผลแบบ OKRs และเงื่อนเวลาที่ชัดเจน

Hell Day ในปีนี้จบด้วยการนำเสนอรอบสุดท้าย (final pitching) ที่น้อง ๆ จะต้องเอาชนะความเหนื่อย ความง่วง ความล้า และสามารถนำเสนอผลงานการออกแบบเกมกระดาน (board games) แบบ new normal ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความสนุก และโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ มาประยุกต์ให้เกิดเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้ออกมาดีที่สุด

“อภิรัตน์” กล่าวต่อว่า WEDO ให้ความสำคัญกับ EQ มากกว่า IQ และไม่ต้องการคนที่เป็นน้ำเต็มแก้วแบบ expert mindset หรือคนที่เก่งคนเดียวแบบ one man show แต่เราต้องการมองหาคนที่มีสมดุลที่ดี (well balanced) ที่มีทั้งความคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) และความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking)

“คนที่องค์กรยุคใหม่ต้องการคนที่สามารถทำงานกับคนอื่นได้ดีทั้งในบทบาทของผู้นำ (leader) และผู้เล่น (team player) คนที่ทั้งนักเล่าเรื่อง (storyteller) และที่ที่เป็นผู้ฟังที่ดี (empathizer) ที่นอกจากจะเปิดใจรับฟังแล้ว เขายังพยายามทำความเข้าใจต้นตอของปัญหาต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้น ยังต้องเป็นคนที่สามารถทำงานได้ดี ภายใต้อุปสรรคและความกดดัน ทั้งยังเป็นคนที่มีการจัดการความรู้สึกแบบผู้ใหญ่ (emotional maturity) ด้วย”

“เพราะธุรกิจปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันด้วยจำนวนและแรงงานได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว วันที่จำนวนประชากรลดลงเรื่อย ๆ และมีระบบเศรษฐกิจใหม่อย่าง creative economy และ digital economy เป็นอนาคตของประเทศไทย เราจึงต้องเปลี่ยนไปแข่งด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น”

“นอกจาก SCG-CBM จะทำโครงการสร้าง talent ที่เหมาะกับระบบเศรษฐกิจใหม่ ด้วยโครงการ WEDO Young Talent Program เรายังทำโครงการ WEDO Apprentice Program คือการ upskill และ reskill บุคลากรปัจจุบันไปสู่ธุรกิจยุคใหม่ และโครงการ WEDO Senior Talent Program การติดปีกพี่ ๆ ที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งเป็นผู้สั่งสมภูมิปัญญามาทั้งชีวิต ให้กลับมาทำงาน โดยเราจะเพิ่มทักษะทางธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้พวกเขากลายเป็น talent ยุคใหม่ผู้มากด้วยประสบการณ์”

อีกทั้งยังมีโครงการ Work from Where you are (WFW) และการทำงานแบบ result only work environment (ROWE) ที่เปิดโอกาสให้ talent จากทั่วประเทศสามารถทำงานกับ WEDO ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นความทัดเทียมในการจ้างงาน การกระจายรายได้และโอกาส เพื่อช่วยลดปัญหาสังคมและสภาพแวดล้อมอีกด้วย เพราะการสร้าง talent ยุคใหม่ไม่ได้เป็นเรื่องขององค์กรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญถึงระดับสังคมและประเทศชาติ

“อภิรัตน์” กล่าวด้วยว่า การที่บริษัทต่าง ๆ จะทำธุรกิจให้ฝ่าอุปสรรคที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ทุกคนต้องมี growth mindset และมองหาโอกาสในวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าโควิด-19 ได้ส่งสัญญาณบวกบางอย่างด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ความเชื่อเดิม ๆ หลายอย่างถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง เช่น คนทำงานจากบ้านได้ และคนปรับเข้าหาการใช้ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งยังจะเป็นเช่นนี้ต่อไปถึงแม้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 แล้วก็ตาม

“ดังนั้น คนทำธุรกิจตอนนี้ต้องพยายามทำใจให้เป็นบวก และมองว่าอะไรจะเป็น new normal ในปีหน้า และธุรกิจของเราสามารถสร้างความได้เปรียบและเปิดโอกาสใหม่ได้อย่างไร เช่น เรื่องของ cloud location (พื้นที่ร้านค้าบนคลาวด์) เพราะอาจไม่มีใครมาเช่าพื้นที่หรู ๆ เปิดร้านต่าง ๆ เหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น เราต้องมองว่าสามารถสร้างดีมานด์อะไรใหม่ ๆ ได้บ้าง ถ้าคนทำธุรกิจมองแค่ที่เดิมก็จะเห็นอุปสรรค แต่ถ้าเราตีกรอบตัวเองใหม่ก็จะเห็นว่าเรารัดเข็มขัดได้”

“ผมจึงอยากให้พวกเขาใช้โอกาสที่ตลาดกำลังสโลว์ดาวน์มาพัฒนาตนเองและพัฒนาบุคลากร ที่สำคัญควรเก็บพนักงานทุกคนไว้ แต่อาจใช้วิธีปรับลดเงินเดือนไปก่อน แต่ทุกคนยังอยู่ด้วยกัน และมีงานทำ เป็นต้น ฉะนั้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น องค์กรจะได้กลับมาและประสบความสำเร็จมากขึ้น”

นับว่ารูปแบบการหาคนที่ใช่ของ SCG-CBM จะทำให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีฝีมือและเหมาะสมกับงาน โดยมีการกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย และวิธีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมาใช้ในระยะยาว
ขณะเดียวกัน คนทำงานก็มีโอกาสทำงานที่ตรงใจด้วย