8 ประเด็นเด่น หลังควีนสวรรคตวันที่ 8

Queen Elizabeth II
Queen Elizabeth II (Photo by Glyn KIRK / AFP)

การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นเหตุการณ์ใหญ่ของโลก ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของ 15 ประเทศ จาก 53 รัฐสมาชิกในเครือจักรภพ ทรงเป็นผู้นำราชวงศ์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดถึง 70 ปี และทรงเป็น “ควีน” ที่รักและเคารพของผู้คนทั่วโลก หลังจากโลกผ่านเหตุการณ์ทั้งดีและร้ายมามากมาย

แม้ควีนทรงมีพระชนมพรรษา 96 พรรษาแล้ว แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าพระองค์จะทรงจากไปอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา พระองค์ทรงให้ “ลิซ ทรัสส์” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร เข้าเฝ้าเพื่อรับการแต่งตั้ง

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ควีนแย้มพระโอษฐ์กลายเป็นภาพสุดท้ายที่วังเผยแพร่ต่อสาธารณชน พร้อมเรื่องราวต่าง ๆ มากมายทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่สื่อมวลชนนำเสนอ ประมวลเป็น 8 ประเด็นเด่นได้ดังนี้

1.ทรงจากไป ณ บัลมอรัล

พระตำหนักบัลมอรัล ที่สกอตแลนด์ ห่างจากกรุงลอนดอนเกิน 800 กิโลเมตร เป็นบ้านพักฤดูร้อนของราชวงศ์วินด์เซอร์มายาวนาน ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จมาประทับที่นี่ทุกปีช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เคยตรัสว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าบัลมอรัลเป็นสถานที่ที่เราตั้งตารอที่จะมา”

ชาวอังกฤษเริ่มวิตกต่อพระสุขภาพพลานามัยของควีน นับตั้งแต่เจ้าชายฟิลิป พระราชสวามี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 เมษายนปีที่แล้ว ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา เนื่องจากทรงผูกพันใกล้ชิดและใช้ชีวิตสมรสด้วยกันมานาน 74 ปี รวมถึงการใช้เวลาแสนสุขที่บัลมอรัล

2.รุ้งทอแสง เมื่อลดธง

ภาพหนึ่งที่ชาวอังกฤษพากันแชร์ในโลกออนไลน์นาทีที่สำนักพระราชวังประกาศข่าวการสวรรคตของควีน และนาทีที่ลดธงครึ่งเสาทั้งที่พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน และปราสาทวินด์เซอร์ เมืองวินด์เซอร์ คือภาพสายรุ้งทอแสงเหนือท้องฟ้า และเป็นรุ้งที่มีสองสายหรือรุ้งแฝด

หลายคนต่างเขียนความเห็นเหมือนที่เจ้าชายลูอีส์ พระโอรสองค์เล็กของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ชันษา 4 ขวบ ตรัสด้วยความไร้เดียงสาว่า “คุณย่าทวดได้ไปอยู่กับคุณปู่ทวดแล้ว”

3.คิงสปีช

การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินของสหราชอาณาจักรเกิดขึ้นทันทีที่ควีนเสด็จสวรรคต และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

วันที่ 9 ก.ย. เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จกลับมายังกรุงลอนดอน ทรงมีพระราชดำรัสแรกในฐานะกษัตริย์ว่า “เช่นเดียวกับที่ควีนทรงทุ่มเทอุทิศพระองค์อย่างไม่หวั่นไหวมาโดยตลอด บัดนี้ข้าพเจ้าขอให้คำมั่นอย่างจริงจังว่า ตลอดช่วงเวลาที่เหลือในชีวิตที่พระเจ้าได้ประทานมาให้ ข้าพเจ้าจะยึดถือและปกป้องหลักการในรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจของประเทศชาติ”

จากนั้นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงได้รับการประกาศให้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการในพระราชพิธีที่พระราชวังเซนต์ เจมส์ กลางกรุงลอนดอน วันที่ 10 ก.ย. ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการถ่ายทอดสดพิธีนี้ทางโทรทัศน์

King Charles III-Queen Camilla
King Charles III-Queen Camilla

4.ควีนคามิลลา

คามิลลา หญิงผู้เป็นที่รักของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น ก้าวขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินี หรือ Queen Consort แล้ว โดยกษัตริย์พระองค์ใหม่ตรัสยกย่องสมเด็จพระราชินีว่า อุทิศตนอย่างเหนียวแน่นมั่นคง และจะทรงมีบทบาทสำคัญต่อไป

ทั้งสองพระองค์เสกสมรส เมื่อปี 2005 ครั้งนั้นมีประกาศว่าคามิลลาจะได้รับการสถาปนาเป็น “เจ้าหญิงพระราชชายา” แทนที่จะเป็น “ราชินี” เนื่องจากยังเป็นประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับเจ้าหญิงไดอานา และเป็นเหตุผลองค์คามิลลาไม่ทรงใช้พระยศว่าเจ้าหญิงแห่งเวลส์

กระทั่งในงานฉลองควีนทรงครองราชย์ครบ 70 ปี เมื่อเดือน ก.พ.ปีนี้ ควีนทรงมีพระราชดำรัสว่า เมื่อถึงเวลาที่พระโอรสขึ้นครองราชย์ พระองค์ปรารถนาว่าคามิลลาจะมีพระยศเป็น “สมเด็จพระราชินี”

(L-R) Britain’s Prince William, Prince of Wales, Britain’s Catherine, Princess of Wales, Britain’s Prince Harry, Duke of Sussex, Britain’s Meghan, Duchess of Sussex

5.สี่พระองค์หวนแท็กทีม

ควีนทรงเป็นศูนย์รวมใจของสมาชิกในครอบครัว แม้วันที่พระองค์จากไปแล้ว ยังทรงทำให้พระราชนัดดาที่รักของพระองค์ละวางความไม่ลงรอยกันและหวนเสด็จร่วมกันอีกครั้ง นับจากห่างเหินกันตั้งแต่ปี 2020

เจ้าชายวิลเลียม และเคท เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พร้อมด้วย เจ้าชายแฮร์รี และเมแกน ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเส็กซ์ ปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนพร้อมกันเป็นครั้งแรก วันที่ 10 ก.ย. นับจากควีนเสด็จสวรรคต โดยพระดำเนินพร้อมยังด้านหน้าปราสาทวินด์เซอร์ เพื่อทอดพระเนตรข้อความและดอกไม้จำนวนมหาศาล รวมถึงทรงทักทายประชาชนที่มารับเสด็จ

ภาพดังกล่าวนี้ทำให้ชาวอังกฤษมีความหวังว่า สองพี่น้องจะฟื้นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันได้อีกครั้ง

6.พระราชพิธีพระบรมศพ

สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแจ้งกำหนดพระราชพิธีพระบรมศพควีน ว่าจะมีขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ใจกลางกรุงลอนดอน วันจันทร์ที่ 19 กันยายน ระหว่างนี้จึงเป็นการเคลื่อนขบวนพระบรมศพทางรถยนต์จากพระตำหนักบัลมอรัล ไปยังพระราชวังโฮลีรูด ที่ประทับทางการของกษัตริย์อังกฤษ ในเมืองเอดินบะระ นครหลวงของสกอตแลนด์ ซึ่งมีประชาชนเฝ้าเคารพพระบรมศพตลอดเส้นทาง 280 กิโลเมตร

จากนั้นเจ้าหน้าที่เคลื่อนขบวนพระบรมศพไปยังวิหารเซนต์ไจลส์ ให้ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถวายสักการะพระบรมศพได้ และมีการจัดพิธีสวดภาวนาตลอด 24 ชั่วโมง จนเมื่อวันที่ 13 ก.ย. เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี ทรงเป็นผู้เชิญหีบพระบรมศพจากวิหารเซนต์ไจลส์ ไปยังท่าอากาศยานเอดินบะระ เพื่อขึ้นเครื่องบินเดินทางมากรุงลอนดอน และอัญเชิญหีบพระบรมศพไปยังพระราชวังบักกิงแฮม

7.นายกฯคนสุดท้ายที่ได้เข้าเฝ้า

“ลิซ ทรัสส์” เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้าย หรือคนที่ 15 ซึ่งควีนทรงแต่งตั้ง แต่ความพิเศษที่ไม่เหมือนใครในนายกรัฐมนตรี 15 คน ในรัชสมัยของพระองค์ คือเป็นการแต่งตั้งที่พระตำหนักบัลมอรัล ไม่ใช่ที่พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน ดังเช่นที่เคยเป็นมาตลอดการครองราชย์ 70 ปี

ทันใดเมื่อควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตอย่างไม่มีใครคาดคิด นายกรัฐมนตรีหญิงลิซ ทรัสส์ ถือเป็นผู้นำคนแรกที่กล่าวแสดงความอาลัยควีน

และเรียกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ด้วยการพูดคำว่า “God save the King”

Corgi dogs
Corgi dogs

8.สุนัขทรงเลี้ยง

พระราชประวัติส่วนหนึ่งของควีน ระบุว่า ทรงเป็นผู้ที่รักสุนัขเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพันธุ์คอร์กี้ที่กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์หนึ่งของอังกฤษ

ช่วงที่ควีนทรงจากไป สื่อมวลชนอังกฤษรายงานว่า มีสุนัขทรงเลี้ยงอยู่ 4 ตัว โฆษกเจ้าชายแอนดรูว์เผยว่า เจ้าชายแอนดรูว์ และซาราห์ เฟอร์กูสัน อดีตพระชายาจะทรงรับสุนัขคอร์กี้ 2 ตัว คือ มัค และแซนดี ไปดูแล

ส่วนสุนัข คอร์กี้อีก 1 ตัว และค็อกเกอร์สแปเนียล อีก 1 ตัว ยังคงรออยู่ว่าจะมีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดรับไปดูแล