ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ย้อนอดีตศึกษาเรื่องราวมนุษย์ยุคหิน

เรื่อง - ภาพ : ปนัดดา ฤทธิมัต, ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า สถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุประวัติศาสตร์ที่ได้จากการขุดค้นโบราณคดีตำบลบ้านเก่าและแหล่งอื่น ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี “ประชาชาติธุรกิจ” ขอพาย้อนอดีตเรียนรู้เรื่องราวยุคก่อน

ที่มาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า

สืบเนื่องจากการที่ เอช.อาร์.ฟาน เฮเกอเร็น (H.R.Van Heekeren) นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะและขวานหินขัด ขณะทำงานอยู่บริเวณตำบลบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อสงครามสงบลง จึงได้นำเครื่องมือหินที่พบกลับไปศึกษาวิเคราะห์ที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี สหรัฐอเมริกา นำไปสู่การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีโดยนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศในพื้นที่บ้านเก่าเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2499

จากนั้นช่วงปี 2503-2504 คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์โครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย-เดนมาร์ก ได้ศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า บริเวณที่ดินของนายลือ-นายบาง เหลืองแดง ริมแม่น้ำแควน้อย พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก

ต่อมากรมศิลปากรได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่าขึ้น บริเวณแหล่งขุดค้นในปี 2508 เพื่อเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าและแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาช่วงปี 2560-2565 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ปรับปรุงพัฒนาแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เพิ่มศักยภาพใหม่ และก็เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยลักษณะอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า โฉมใหม่นั้น เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมซึ่งได้แรงบันดาลใจจากลักษณะของหลุมขุดค้นโบราณคดี อีกทั้งสีอาคารที่เป็นสีแดงเป็นสีดินเทศ ซึ่งมีความหมายในเรื่องของการมีชีวิต

ห้องจัดแสดง

ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งห้องไว้ ดังนี้

ห้องจัดแสดง 1 จะจัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองกาญจนบุรี สภาพภูมิประเทศ ธรณีวิทยา ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ

ห้องจัดแสดง 2 จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบจากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ได้แก่ แหล่งนายบาง นายลือ เหลืองแดง แหล่งวัดท่าโป๊ะ ถ้ำหีบ ถ้ำเม่น ถ้ำทะลุ เป็นต้น โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ประกอบด้วย ภาชนะดินเผาสามขา ภาชนะทรงคนโท ภาชนะทรงพาน เครื่องมือหินกะเทาะ ลูกปัดหิน และโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ห้องจัดแสดง 3 จัดแสดงโลงศพไม้ ที่พบจากการสำรวจขุดค้นในถ้ำ เพิงผา และบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ โลงศพไม้ทำจากท่อนไม้ขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60-80 เซนติเมตร ยาว 250-300 เซนติเมตร ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียนทอง ไม้ประดู่ ฯลฯ ผ่าออกตามแนวยาวแล้วขุดเนื้อไม้ออก ตรงกลาง มีพื้นที่ว่างอาจใช้สำหรับบรรจุโครงกระดูกมนุษย์ สิ่งของเครื่องใช้สำหรับพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย ส่วนหัวและท้ายมีรูปคล้ายศีรษะมนุษย์ หรือสัตว์ ปัจจุบันพบโลงไม้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในต่างประเทศพบที่จีน พม่า และมาเลเซีย เป็นต้น

ห้องจัดแสดง 4 จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีในจังหวัดกาญจนบุรี อายุสมัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหิน ยุคโลหะ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านดอนน้อย อำเภอบ่อพลอย แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน ถ้ำพระ อำเภอไทรโยค เป็นต้น

ห้องจัดแสดง 5 จำลองการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมล่าสัตว์และสังคมเกษตรกรรม แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ และจัดแสดงภาพถ่ายโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ

ห้องจัดแสดง 6 จัดแสดงภาพถ่ายการดำเนินงานทางโบราณคดี และจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบจากการขุดแต่งและบูรณะปราสาทเมืองสิงห์เมื่อปี 2517-2530 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ประกอบด้วย ประติมากรรมรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลหลากหลายชาติพันธุ์ ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริด แท่นหินบดยา และชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม

ไฮไลต์พิพิธภัณฑ์

บริเวณชั้น 2 จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ 2 โครง ซึ่งถูกฝังมานานกว่า 3,300-3,800 ปีแล้ว พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมานำเสนอเรื่องโครงกระดูกว่าเพศหญิงกับเพศชาย สามารถดูได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ทางโบราณคดีมาจัดแสดง เพื่อสื่อถึงการขุดค้นที่เชื่อมโยงกับกระดูก ทั้งอุปกรณ์หนักและอุปกรณ์เบาสำหรับงานในขั้นตอนละเอียด

มีการจัดแสดงภาชนะสามขา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมบ้านเก่า ลุ่มน้ำท่าจีน ซึ่งค้นพบที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร และพื้นที่บ้านเก่า โดยภาชนะมีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายเต้านม มีเขา สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของเพศแม่ และสัตว์ที่มีบุญคุณในการเป็นอาหาร รวมถึงใช้งานในเรื่องเกษตรกรรม

ทั้งนี้ หม้อสามขามีหลายรูปแบบ ถ้าเป็นของบ้านเก่าจะเป็นทรงกรวย คล้าย ๆ ไอศกรีม ส่วนภาคใต้บริเวณจังหวัดกระบี่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี จะมีลักษณะคล้ายกิ่งไม้ และในจังหวัดสุพรรณบุรีมีลักษณะเป็นป้อม ๆ คล้ายกระเปาะ

นอกจากนี้ ยังมีภาชนะที่ใช้ฝังศพเด็ก และมีกระดูกเด็กอยู่ด้านในด้วย สื่อถึงเด็กที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรและต้องกลับสู่ครรภ์มารดา ซึ่งขุดพบที่บ้านหัวอุด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี และภาชนะที่มีรอยแตกซึ่งใช้การปูรองศพ

โบราณวัตถุทุกชิ้นในพิพิธภัณฑสถานบ้านเก่า กรมศิลปากรบูรณะและคืนสภาพอย่างถูกวิธี หลายชิ้นที่ชิ้นส่วนไม่ครบหรือแตกหัก จึงต้องเพิ่มวัสดุปัจจุบันเข้าไปเพื่อคงรูปและรักษาโบราณวัตถุเหล่านั้นไว้ไม่ให้พังทลายลง

นอกจากนี้ วันเสาร์-อาทิตย์ นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า โดยมัคคุเทศก์น้อยซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ พาไปดูหลุมขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านท่าโป๊ะ

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เปิดให้บริการวันพุธ-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดยค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท ส่วนเด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ และภิกษุสามเณรเข้าชมฟรี