เชิญชม “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” ท่องประวัติศาสตร์พื้นที่วังหลัง

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

เชิญชม “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์พื้นที่วังหลังในยามค่ำคืน กับงานบางกอกน้อยเฟสติวัล 2022 ตั้งแต่วันที่ 25-29 พฤษภาคม 2565 เวลา 18.00-20.45 น.

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” จัดงานบางกอกน้อยเฟสติวัล 2022 ให้ประชาชนได้เข้าชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์พื้นที่วังหลัง ด้วยบรรยากาศแสงสลัว 3 ห้องในยามค่ำคืน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส, พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน และพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา

โดยพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งก่อตั้งโดย แอลเลอร์ เอลลิส นักพยาธิวิทยาชาวอเมริกัน และเป็นพยาธิแพทย์คนแรกของไทย ที่ริเริ่มการเก็บรวบรวมอวัยวะผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจพิสูจน์โรคแล้วไว้สำหรับสอนในวิชาพยาธิวิทยา

ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจัดแสดงตัวอย่างอวัยวะและโรคที่คร่าชีวิตคนเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ พัฒนาการและความพิการของทารกแต่กำเนิด พร้อมแนวทางการรักษาและป้องกัน เทปโทรทัศน์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนเรื่องโรคหัวใจ

ถัดมาพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน ก่อตั้งในสมัยของ ศ.นพ.สงกรานต์ นิยมเสน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มงานด้านนิติเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลศิริราช และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ในขณะนั้น โดยในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับนิติพยาธิวิทยา แสดงชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ตายด้วยโรคตามธรรมชาติ และตายโดยผิดธรรมชาติ

เหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ การจัดแสดงเกี่ยวกับยาเสพติดชนิดต่าง ๆ วัตถุพยานจากคดีต่าง ๆ เช่น คดีฆาตกรรมฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุ ฯลฯ จัดแสดงกะโหลกศีรษะจำนวนมากที่ได้จากการทดลองยิงเพื่อการศึกษาทิศทางบาดแผลในระยะต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และมีการจัดแสดงศพต่าง ๆ เช่น “ซีอุย” ศพไม่เน่า เสื้อผ้าในวันเกิดเหตุของคดีนวลฉวี ฯลฯ

และพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา ก่อตั้งเมื่อปี 2513 โดย ศ.นพ.วิจิตร ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยาในขณะนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้คือ 1.พยาธิตัวกลม 2.พยาธิตัวแบน 3.โปรโตซัวทางการแพทย์ และ 4.แมลงนำโรคและสัตว์มีพิษ

โดยแต่ละหมวดหมู่ประกอบไปด้วยสิ่งแสดงหลากหลาย เช่น อวัยวะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อปรสิต ตัวพยาธิของจริง หุ่นจำลองแบบต่าง ๆ แผนภาพ เป็นต้น ทั้งยังมีการจัดแสดงตู้จำลองแสดงการติดเชื้อหนอนพยาธิชนิดต่าง ๆ และการจัดแสดงภาพแวดล้อมของสัตว์มีพิษชนิดต่าง ๆ เช่น งู แมงมุมพิษ ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น การเก็บรวบรวมตัวอย่างชิ้นส่วนจากผู้ป่วย จากการตรวจสอบ ฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และตระหนักถึงอันตรายและโทษของการบริโภคแบบผิด ๆ

นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้ายังมีร้านอาหารหลากหลายมาร่วมออกบูท ให้ผู้ที่มาเที่ยวงานได้ซื้อไปรับประทาน และเป็นของฝาก อาทิ ข้าวแช่วังหลัง ยำโบราณ ชุมชนวัดมะลิ 1 ข้าวเม่าหมี่ ชุมชนตรอกข้าวเม่า และข้าวเกรียบปลาปัตตานี

ทั้งนี้ เริ่มเปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 17.30-20.00 น. ผู้ใหญ่ราคา 50 บาท และเด็กราคา 20 บาท (สแกนจ่าย) โดยเปิดให้ชมด้วยกัน 3 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 เวลา 18.00-18.45 น., รอบที่ 2 เวลา 19.00-19.45 น. และ รอบที่ 3 เวลา 20.00-20.45 น. จำกัดจำนวนรอบละ 3 ท่าน