บทความนี้เผยแพร่ทางออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 16 พฤษภาคม 2564
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
วิชัย ศรีวัฒนประภา หรือเจ้าสัววิชัย แห่งคิง เพาเวอร์ มหาเศรษฐีแสนล้าน หนึ่งในมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกมีความรู้สึกสูญเสียร่วมกัน
เส้นทางการสร้างธุรกิจและความสำเร็จทางธุรกิจของเจ้าสัวในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องยาว ถ้าจะกล่าวถึงในเรื่องนี้คงไม่พอ เราจึงตัดตอนนำเสนออีกเรื่องราวช่วงชีวิตหนึ่งของเจ้าสัว ช่วงที่ขยับจากความเป็น “มหาเศรษฐีชาวไทย” สู่อีกฐานะหนึ่งคือการเป็น “เจ้าของทีมฟุตบอลดัง” ในพรีเมียร์ลีก และเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ลีกฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังที่สุดในโลก ซึ่งทุกครั้งที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อ เจ้าสัววิชัยได้พาคำว่า “Thailand” และ “Thai businessman” ไปสู่สายตาชาวโลกด้วยทุกครั้ง
เส้นทางสู่การเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษของเจ้าสัววิชัย เริ่มต้นอย่างไร…
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายของเจ้าสัววิชัย ผู้นั่งตำแหน่งรองประธานบริหารสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ เล่าไว้ในหนังสือ THE FAIRY TALE OF UNDERFOX ของสำนักพิมพ์ a book ว่า เขาได้ยินพ่อพูดเรื่องซื้อทีมฟุตบอลครั้งแรกเมื่อปี 2005 เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าสัวกับลูกชายเข้าไปชมฟุตบอลที่สนามเหย้าของทีมเชลซี ทั้งในฐานะสปอนเซอร์และลูกค้าที่ซื้อบอกซ์ วี.ไอ.พี.ไว้ แต่เกิดเหตุทะเลาะกับการ์ดสนาม เจ้าสัววิชัยจึงไม่พอใจและตัดขาดการเป็นสปอนเซอร์เชลซี
“วันหนึ่งซื้อทีมแล้วสู้กับเชลซีให้ได้แล้วกัน” เจ้าสัวพูด ซึ่งต๊อบ อัยยวัฒน์เองก็คิดว่า คุณพ่อคงพูดไปงั้น ๆ ด้วยความอารมณ์เสีย
จนกระทั่งปี 2007 เจ้าสัววิชัยพยายามจะซื้อทีมฟุตบอลจริง ๆ ทีมแรกที่เป็นเป้าหมายคือ เรดดิ้ง แต่ด้วยความที่คุยกับเจ้าของทีมเรดดิ้งแล้วเจอคำขู่ว่า “ถ้ายูไม่เคยอยู่ในวงการนี้ ยูอย่าเข้ามาเลย เสียเวลา” เจ้าสัววิชัยจึงไม่ซื้อทีมนั้น
แล้ววันหนึ่งเหมือนพรหมลิขิต มีชาวไทยที่รู้จักเจ้าของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ติดต่อมาว่า เลสเตอร์อยากขอสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อจากคิง เพาเวอร์ ในราคา 300,000 ปอนด์ นั่นเอง เป็นจุดที่ทำให้เจ้าสัวถามลูกชายว่า “เลสเตอร์เป็นไง”
ตอนนั้นเลสเตอร์อยู่ใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ลีกอันดับ 2 ของอังกฤษ รองจากพรีเมียร์ลีก ฝั่งลูกชายจึงไม่ได้สนใจ แต่เจ้าสัวกลับสนใจ
พอไปเจอกับเจ้าของทีมที่สนามแข่ง เจ้าสัววิชัยจึงถามว่า “ยูขายทีมไหม” เจ้าของทีมได้ฟังเป้าหมายของพ่อลูกชาวไทยคู่นี้ที่อยากพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นพรีเมียร์ลีก และจะทำการตลาดในเอเชีย จึงตอบตกลงขายในทันที
เงินงวดแรกที่ต้องจ่ายคือ 40 ล้านปอนด์ และต้องจ่ายงวดที่สองให้ครบตามดีลประมาณ 100 ล้านปอนด์ แต่ไม่ใช่เพียงเงินค่าซื้อสโมสรเท่านั้นที่ต้องจ่าย เลสเตอร์ยังมีภาระค่าใช้จ่ายประจำ และหนี้อยู่อีกจำนวนหนึ่งที่มหาเศรษฐีชาวไทยต้องจัดการ
“จริง ๆ คุณพ่อเป็นคนมีวิสัยทัศน์ประหลาด มองไกลจนผมตามไม่ทัน เวลาท่านพูดอะไรจะทำให้ได้ เอาให้ได้ วันที่ซื้อท่านบอกว่า จะพลาดหรือไม่พลาดไม่มีใครรู้แล้ว แต่ต้องทำให้สำเร็จ”
หลังจากเข้าซื้อทีม สิ่งที่เจ้าของทีมชาวไทยต้องเจอ คือ การต่อต้านจากแฟนบอล เช่นกันกับที่ “เจ้าของคนใหม่” หลาย ๆ คนเคยเจอ เนื่องจากคนอังกฤษรักฟุตบอลมากเป็นชีวิตจิตใจ และมีความผูกพันระหว่างคนในท้องถิ่นกับสโมสรฟุตบอลสูงมาก ก่อนที่ฟุตบอลจะเป็นธุรกิจอย่างทุกวันนี้ ทุกทีมล้วนเกิดมาจากการเป็นทีมของชุมชน แฟนบอลส่วนใหญ่สนับสนุนทีมฟุตบอลใกล้บ้านมาหลายชั่วอายุคน จากรุ่นปู่ รุ่นลูก รุ่นหลาน และคงจะตกทอดสู่รุ่นต่อ ๆ ไป เหมือนเป็นมรดกร่วมของท้องถิ่น พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นหุ้นส่วนสโมสร พอมีนายทุนใหม่เข้ามา จึงเกิดความระแวงว่าจะทำให้สโมสรเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง หรือจะมาหาประโยชน์จากสโมสรเพียงฝ่ายเดียว ความคลางแคลงใจและการต่อต้านจะคงอยู่จนกว่าเจ้าของคนใหม่จะพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า คุณได้ทำเพื่อทีมแค่ไหน
คำถามของแฟนบอลก็ไม่ต่างจากคำถามของสื่อมวลชนที่ถามในการแถลงข่าวครั้งแรกว่า “คุณจะเข้ามาโกยเงินจากสโมสรใช่มั้ย”
วิธีการแก้ปัญหาก็คือ ผู้บริหารนัดคุยกับตัวแทนแฟนบอลเดือนละ 2 ครั้ง ให้แฟนบอลคอมเมนต์และเสนอความเห็นว่า ต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร หนึ่งในสิ่งสำคัญที่แฟนบอลขอ คือ “อย่าเปลี่ยนสีเสื้อ” ซึ่งก็เป็นความเหมาะเจาะกันพอดีที่สีเสื้อของเลสเตอร์ คือ สีน้ำเงิน เฉดเดียวกันกับสีของคิง เพาเวอร์ จึงไม่ได้คิดจะเปลี่ยน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสโมสรเลสเตอร์ นับตั้งแต่ครอบครัวชาวไทยครอบครัวนี้เข้าไปบริหาร ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการทุ่มเงินปรับปรุงสนามแข่ง ขยายความจุสนาม พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม (King Power Stadium) ขยายปรับปรุงสนามซ้อม เติมสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือล้ำ ๆ ราคาสูง ๆ แบบที่สโมสรใหญ่ ๆ มี เรียกว่าเป็นการยกระดับทุกอย่างให้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเลสเตอร์ ให้ขึ้นไปสู้กับสโมสรใหญ่และกลางได้ และที่สำคัญคือการอนุมัติเงินซื้อตัวนักเตะปีละหลายคน
…เป็นการทุ่มเพื่ออนาคตที่ยังคาดหวังไม่ได้ในเวลาอันสั้น แต่ถ้าไม่ทำความสำเร็จก็จะไม่เกิด
“คุยกับคุณพ่อ ท่านบอกว่าทำทีมให้เหมือนเป็นทีมพรีเมียร์ลีกที่อยู่ในแชมเปี้ยนชิพสิ ถ้าวันหนึ่งได้ขึ้นพรีเมียร์ลีกจะไปได้ยาว เราก็เห็นด้วย แต่ตอนนั้นจะได้ขึ้นเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้นะ” อัยยวัฒน์เล่าวิสัยทัศน์ของคุณพ่อไว้ในหนังสือ
เมื่อเห็นความตั้งใจของผู้บริหารคนใหม่ แฟนบอลก็ลดการต่อต้านและเปิดใจยอมรับ และเมื่อเห็นพัฒนาการของสโมสร เจ้าของทีมคนใหม่จึงเป็นที่รักของแฟนบอลในที่สุด
จากทีมในลีกรอง เลสเตอร์ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดในเวลา 4 ปี หลังจากที่มีเจ้าของใหม่
พอได้เลื่อนชั้นขึ้นพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2014 เจ้าสัววิชัยบอกในการแถลงข่าวว่า “เรามีแผนจะขึ้นไปอยู่อันดับ 1 ใน 4 ของพรีเมียร์ลีก และไปเล่นแชมเปี้ยนส์ลีกให้ได้ภายใน 3 ปี” ทำเอานักข่าวฝรั่งขำก๊าก
แต่เพียงแค่ในฤดูกาลที่ 2 ที่เลื่อนชั้นขึ้นมา เลสเตอร์ก็สร้างปาฏิหาริย์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก แบบที่ไม่มีใครคาดคิดในปี 2016 เป็นหนึ่งฤดูกาลในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกที่เหนือคาดที่สุดที่เคยมีมา และสำหรับเลสเตอร์ นี่คือแชมป์แรกของสโมสรนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา 132 ปี
เป็นเวลา 6 ปี จากปี 2010 ที่เจ้าสัววิชัยเข้าซื้อสโมสรเลสเตอร์ จนถึงปี 2016 ที่ทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกถือว่าเป็นเวลาที่น้อยมากในการพัฒนาและสร้างความสำเร็จให้ทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง สื่อทุกสำนักและคนทั่วโลกต่างเรียกปรากฏการณ์ความสำเร็จของเลสเตอร์ในครั้งนั้นว่า “fairy tale” หรือ “เทพนิยาย”
หลายคนอาจคิดว่าผู้บริหารก็แค่มีเงินแล้วทุ่มเงินลงไป ไม่ได้มีส่วนในการทำให้ทีมประสบความสำเร็จมากเท่าผู้จัดการทีมและสตาฟโค้ช ที่มีส่วนกับการแข่งขันโดยตรง หรือถ้ามองว่าผู้บริหารมีส่วนในการสร้างความสำเร็จ ก็จะให้เครดิตไปที่ “ตัวเงิน” ของผู้บริหารคนนั้น ไม่ได้ให้เครดิตที่ “การบริหารของผู้บริหาร” ภาพในหัวของหลาย ๆ คนคิดว่า ผู้บริหารแค่นั่งเซ็นอนุมัติเงิน อนุมัติโครงการ และเข้าไปชมเกมในสนามบ้างในนัดสำคัญ ๆ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าผู้บริหารไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทีมงานเสนอ แล้วไม่เซ็นอนุมัติ สิ่งนั้นมันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริงแล้ว วิสัยทัศน์และแนวทางของผู้บริหารจึงสำคัญมากเช่นกัน โดยเฉพาะกับทีมเล็ก ๆ ที่ทุกอย่างยังไม่พร้อม เกือบต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่พ่อ-ลูกศรีวัฒนประภาทำกับเลสเตอร์ ไม่ใช่แค่การอนุมัติโปรเจ็กต์หรือทุ่มเงินลงไป แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ การแก้ปัญหาเดิมที่มีให้หายไป แน่ล่ะ หลายปัญหาใช้เงินแก้ได้ แต่หลายปัญหาเงินแก้ไม่ได้ ต้องแก้ด้วยใจ ยกตัวอย่างปัญหาเรื่องคน ที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ มีปัญหาคนต่อกันไม่ติด ระหว่างฝ่ายที่ดูแลเรื่องฟุตบอล ซึ่งทำงานอยู่ที่สนามซ้อมเป็นหลัก กับฝ่าย operation ที่ทำงานที่สนามแข่ง ซึ่งมีปัญหาฝังรากมานาน ผู้บริหารต้องไปแก้ปมปัญหานั้นให้คลี่คลาย ให้สองฝั่งไม่แยกฝักฝ่าย ทำงานประสานกันได้อย่างราบรื่น ซึ่งเจ้าของคนใหม่ก็ทำได้
ความสำเร็จของทีมจิ้งจอกสีน้ำเงิน จึงไม่ควรมองข้ามการทำงานของผู้บริหารชาวไทยพ่อ-ลูกคู่นี้
หลังเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งคนไทย แฟนบอลเลสเตอร์ ซิตี้ และแฟนบอลทีมต่าง ๆ ทั่วโลกล้วนรู้สึกโศกเศร้าเสียใจ กำลังใจมากมายหลั่งไหลไปยังสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และครอบครัวผู้เสียชีวิต
ดอกไม้หน้าสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดียม และข้อความจากทั่วโลกแสดงให้เห็นแล้วว่า เจ้าสัววิชัยได้รับการยอมรับมากแค่ไหน และแฟนบอลเลสเตอร์ ซิตี้ รักเขามากเพียงใด “the best owner” “the wonderful chairman” คือ คำนิยามที่แฟนบอลใช้สดุดีเจ้าของทีมอันเป็นที่รักของพวกเขา
นอกจากแสดงความเสียใจแล้ว ผู้เขียนอยากชวนให้มองอีกมุมหนึ่งว่า เจ้าสัววิชัยเกิดมาเพื่อเป็นตำนานคู่กับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ แห่งนี้ เช่นกันกับที่หลายสโมสรฟุตบอลมีบุคคลตำนานประจำสโมสร โศกนาฏกรรมครั้งนี้คล้ายที่เกิดกับหลายสโมสรที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งนอกจากมีประวัติศาสตร์ความสำเร็จให้ได้เล่าขานแล้ว หลายทีมมีประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดสูญเสียไว้ให้จดจำและรำลึกถึง ยกตัวอย่าง สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีโศกนาฏกรรมมิวนิค สูญเสียนักเตะและทีมงานรวม 11 คน สโมสรลิเวอร์พูลมีโศกนาฏกรรมฮิลโบโร่ ที่แฟนบอลเสียชีวิตไป 96 คน
สำหรับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ความสูญเสียครั้งนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว เมื่อคนที่ชุบชีวิตสโมสรบ้าน ๆ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาถึงขั้นคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ต้องจบชีวิตก่อนเวลาอันควรในบริเวณสนามฟุตบอลที่เขาพัฒนาปลุกปั้นขึ้นมา
…นี่คือเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ และจะเป็นตำนานเล่าขานไปอีกนาน ดังแถลงการณ์ของพรีเมียร์ลีกที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผลกระทบของเขาที่มีต่อเลสเตอร์ ทั้งสโมสรฟุตบอลและเมือง จะได้รับการจดจำตลอดกาล”
ชื่อของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ถูกบันทึกไว้ในส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษไปเรียบร้อยแล้วในฐานะเจ้าของทีมผู้สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยเมื่อพูดถึงรายชื่อแชมป์พรีเมียร์ลีก ก็ต้องมีชื่อสโมสรเลสเตอร์อยู่ในลิสต์ และต้องมีบันทึกรายละเอียดอีกว่า ผู้จัดการทีมและเจ้าของทีมในช่วงเวลานั้นเป็นใคร ยิ่งในกรณีพิเศษแบบปาฏิหาริย์พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินอย่างกรณีของเลสเตอร์ เมื่อปี 2016 ยิ่งเป็นเรื่องน่าสนใจที่ต้องค้นข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังของความสำเร็จนั้น ซึ่งผู้ที่มีส่วนอย่างมากมายในความสำเร็จนั้นก็คือ มหาเศรษฐีชาวไทยที่ชื่อ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” คนนี้
- แฟนบอลเลสเตอร์ยก “เจ้าสัววิชัย” คือเจ้าของทีมที่ดีที่สุดที่เคยมีมา
- ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ “เจ้าสัววิชัย” ซื้อเลสเตอร์เพื่อโอกาสพัฒนาฟุตบอลไทย
- เปิดประวัติ ‘เจ้าสัววิชัย’ แห่งคิงเพาเวอร์-เลสเตอร์ซิตี้ มหาเศรษฐีแสนล้านคนไทย!
- เปิดรายได้เลสเตอร์ ซิตี้ เวลา 8 ปี “เจ้าสัววิชัย” ทำมูลค่าสโมสรเพิ่ม 3 เท่าตัว ครองอันดับ 15 ของยุโรป
-
รวมคำสดุดี “เจ้าสัววิชัย” จากดาวเตะเลสเตอร์ชุดแชมป์พรีเมียร์ลีก