บิ๊กธุรกิจฝ่าวิกฤตการเมือง นายกฯ8 ปี เดินหน้าลงทุน-จี้แก้ปมเศรษฐกิจ

3บิ๊กธุรกิจ

บิ๊กธุรกิจก้าวข้ามประเด็นร้อนทางการเมือง ประกาศเดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่อง โฟกัสการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ ต้นทุน กำลังซื้อ “เจ้าสัวสหพัฒน์” ชี้ เสถียรภาพรัฐบาลมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่ แม่ทัพ “ไทยยูเนี่ยนฯ” เปิดใจเน้นพึ่งตัวเอง-ลงทุนต่างประเทศตามแผน แนะคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง “บ้านปู เพาเวอร์” ยันลุยพลังงานหมุนเวียนตามโรดแมป “คาราบาว” ย้ำปมการเมืองกดทับธุรกิจ ผันผวน-คาดการณ์ไม่ได้

การนับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปีหรือไม่ ยังเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและภาคธุรกิจที่ยังคงเกาะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อีกด้านหนึ่งก็นำไปสู่การนัดหมายชุมนุมของม็อบกลุ่มต่าง ๆ ที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะร้อนแรงมากน้อยแค่ไหน และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลอีกวาระหนึ่ง เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 กำหนดไว้ว่า ห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี หลังจากก่อนหน้านี้กระแสต่อจากความนิยมลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

“สหพัฒน์” หวั่นกระทบจับจ่าย

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่เป็นอยู่ในเวลานี้ต้องรอดู เพราะไม่สามารถคาดคะเนได้ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะได้อยู่ต่อหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าดีทั้ง 2 ทาง แต่สิ่งสำคัญคือ คนที่จะมาสานต่อต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และต้องแก้ไขปัญหาที่เป็นปัจจัยลบทุกอย่าง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การเมืองผันผวน เช่นอาจจะมีการชุมนุมประท้วง หรือม็อบ ซึ่งอาจมีผลต่อบรรยากาศการจับจ่ายของผู้บริโภคในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนสหพัฒน์เองปัญหาที่สำคัญกว่าการเมือง คือการไม่ให้ขึ้นราคาสินค้ามากกว่า

 

“ปัญหาการเมืองนั้นเกิดมานานแล้ว ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น อาจไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจถดถอย หรือทำให้ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความมีเสถียรภาพของรัฐบาลก็มีผลต่อการเชื่อมั่นที่ต่างประเทศจะเข้ามาลงทุน สำหรับสหพัฒน์ปัจจัยข้างต้นไม่ได้กระทบต่อแผนการลงทุน เพียงแต่ต้องรอจังหวะให้เหมาะสมกับธุรกิจและความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่สำคัญคือต้องประเมินก่อนตัดสินใจในการลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต”

นายบุญชัยกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาธุรกิจได้รับผลกระทบจากผลพวงของโควิด-19 สงครามรัสเซียและยูเครน ที่กระทบต่อราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวขึ้น ทำให้ทุกอุตสาหกรรมมีการปรับตัวรับมือมาอยู่เป็นระยะ ๆ และขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณภายในที่ดีขึ้นจากโควิดที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการเปิดประเทศ มองว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

“ทียู” ความสามารถแข่งขันลด

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด ถ้าไม่ใช้นโยบายประชานิยมมาทำให้เกิดการบิดเบือนในโครงสร้างตลาด ก็จะไม่มีอะไรที่จะกระทบกับธุรกิจของเอกชน ที่สำคัญกว่านั้น รัฐบาลไม่ว่าจะชุดไหนก็ตามจะต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด เพราะประเทศไทยเสียเวลามาหลายสิบปีแล้ว ในวันนี้ก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาก ดังนั้น จึงควรจะหาโอกาสที่จะทำอย่างไรที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น

 

“เอกชนไม่ได้คิดอะไรมาก เราเน้นทำงานอย่างเดียว สมมติฐานของผมคือ ถ้าหากนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่ได้สักเรื่องจะวางแผนอย่างไร ฉะนั้น แผนการดำเนินการของผม คือไม่คาดหวังและไม่พึ่งพิง ดูแลตัวเองไป นี่คือสาเหตุที่ทำไมไทยยูเนี่ยนฯ ไปลงทุนในต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1996 เพราะไม่เชื่อเรื่องเอฟทีเอจะเกิด แทนที่จะรอให้เขามาให้การลดภาษี ก็ขยายการลงทุนเข้าไปข้างในประเทศนั้นเลย

เช่นเดียวกับเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ตอนนี้อุตสาหกรรมเราก็ไม่ได้ ตลาดยุโรปตัดจีเอสพีไทยไปเป็น 10 กว่าปีแล้ว ถามว่าเป็นเพราะเอกชนไทยเก่งใช่หรือไม่ เอกชนเราไม่ได้เก่ง มีผู้ที่ล้มตายไปเยอะแล้ว ทุกอุตสาหกรรมเหลืออยู่ไม่กี่ราย อย่างอุตสาหกรรมกุ้งเป็น 100 ราย คนที่เข้มแข็งอยู่ได้”

นายธีรพงศ์ย้ำว่า ทียูมีแผนการลงทุน Capex ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งยังช้าจากการก่อสร้าง ในช่วงที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องโควิด การสร้างห้องเย็นที่กานาจะเสร็จปีหน้า ดีเลย์ไปเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนภายในมากกว่า ไม่เน้นการไปเข้าซื้อธุรกิจใหม่ ช่วงนี้จะเป็นการเก็บเกี่ยวจากโครงการที่ไปลงทุนไว้ ปลายปีนี้โรงงานอาหารสัตว์ของ ไอ-เทล จะก่อสร้างเสร็จ จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 30-40% และโรงงานโปรตีนไฮโดรไลเซสเสร็จ สินค้าในกลุ่ม อินกรีเดียนส์ แล้วเสร็จจะใช้เป็นส่วนผสมอาหารเสริม อาหารเด็กทารก เครื่องสำอางในส่วนคอลลาเจน คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ปี 2566

นอกจากนี้ ยังมีการขยายธุรกิจในส่วนของอาหารอนาคต โดยตั้งเป้าหมายว่ายอดขายจะโตเพียง 7-8% ก่อนหน้าหน้านี้ เคยปรับมาแล้วครั้งหนึ่งจาก 3-5% แต่จากผลประกอบการครึ่งปีแรก 2565 ขยายตัว 12.3% ล่าสุดปรับเป้าขึ้นเป็น 10-12%

ด้านนายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนของบ้านปู เพาเวอร์ มีธุรกิจใน 8-9 ประเทศ ซึ่งทำให้ได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของทุกประเทศที่มีความแตกต่างกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น บริษัทมีการลงทุนมาก นโยบายไม่เหมือนกัน ซึ่งแต่ละประเทศนโยบายการลงทุนจะขึ้นอยู่กับราคา ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซัพพลาย ด้วย แต่ละประเทศมีแหล่งสำรองมากน้อยต่างกัน รวมถึงแต่ละประเทศนโยบายยังขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ สภาพอากาศ การขนส่ง

“ส่วนนโยบายพลังงานของไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดบริหาร นโยบายจะไปในทิศทางไหน บริษัทพร้อมที่จะหนุนนโยบายของประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และที่สำคัญความได้เปรียบในการลงทุนในต่างประเทศทำให้เห็นเทรนด์ตลาด แนวโน้มของพลังงานทั่วโลก ดังนั้น ต่อให้ไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานอย่างไร บริษัทก็ยังคงเดินตามแผนงานเช่นเดิม คือการมุ่งไปสู่การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน”

ธุรกิจผันผวน-คาดคะเนไม่ได้

นายเสถียร เสถียรธรรมะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกน่าจะดีขึ้น จากปัจจัยของการเปิดประเทศ และมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ธุรกิจได้ทยอยเปิดตัวตามมา คาดว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น จากการที่ต้นทุนสินค้า เงินเฟ้อ อะไรต่าง ๆ น่าจะลดลง

อย่างไรก็ตาม มองว่าเรายังมีความเสี่ยง หลังจากวันที่ 24 สิงหาคม จากนั้นจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนตัวมองว่าเป็นภาวะที่กดทับประเทศไทยมาช้านาน 10 กว่าปี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ธุรกิจมีความผันผวนและคาดคะเนไม่ได้ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจโลก เรายังมีความเสี่ยงเรื่องสงครามรัสเซียและยูเครน แต่ว่าเราอยู่ไกล คงไม่กระทบมาก และหวังว่ามันคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้

 

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปบริษัทยังมีแผนเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งด้านเครื่องดื่มที่เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ในกลุ่มน็อนแอลกอฮอล์ เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นเครื่องดื่มชูกำลังนวัตกรรมจากญี่ปุ่น คันโซ เป็นเครื่องดื่มบำรุงตับ และปลายปีจะมีเบียร์ออกมาสู่ตลาด

นอกจากนี้ นายเสถียรยังกล่าวถึงแผนการขยายการลงทุนของธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นการลงทุนในนามส่วนตัว อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ซีเจ เอ็กซ์เพรส และ ซีเจ มอร์ ในนามของ บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ว่าจะขยายโมเดลซีเจ มอร์ (CJ More) ร้านค้าปลีกที่มีคอนเซ็ปต์เป็นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพิ่มต่อเนื่องในพื้นที่ต่างจังหวัด วางโพซิชั่นให้เป็นศูนย์การค้าย่อม ๆ โฟกัสภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ ตามแผนจะขยาย 250-300 สาขาต่อปี คาดว่ายอดขายปีนี้น่าจะแตะ 3 หมื่นล้านบาท หลังปี 2564 มียอดขาย 2.9 หมื่นล้านบาท ก่อนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2566 เพื่อนำเม็ดเงินมาใช้ในธุรกิจ

ส่วนร้านถูกดีมีมาตรฐาน โมเดลการพัฒนาร้านค้าปลีก ร้านโชห่วย ในชุมชุม ที่ดำเนินการในนามของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ตามแผนเจาะลึกถึงผู้บริโภคระดับหมู่บ้าน โดยร้านถูกดีฯ จะขยายประมาณ 2 พันร้านค้าต่อเดือน ตามเป้าแตะ 8,000 ร้านค้า ภายในสิ้นปี 2565 นี้ และอีก 3-4 ปีจะเพิ่มเป็น 3-4 หมื่นร้านค้า พร้อมเพิ่มบริการ เช่น “ถูกดีสั่งได้” ที่เป็นพรีออร์เดอร์สินค้ากว่า 1.2 หมื่นรายการจากพอร์ตของบริษัทและพันธมิตร รวมถึงเริ่มทดลองบริการให้สินเชื่อรายย่อยด้วยความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย

ลงทุนเข้าสู่โหมด Wait & See

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความและตัดสินออกมาในรูปแบบใด เพราะผลที่ตามมาจะมีความแตกต่างกันพอสมควร แต่ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน สิ่งที่ยังเหมือนเดิม คือสภายังเป็นสภาเดิม เพียงแต่จะมีความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น

โดยในกรณีที่ท่านนายกฯสามารถอยู่ต่อได้จนครบวาระ ก็อาจมีปัญหาการประท้วงนอกสภาบ้าง และการดำเนินการทางการเมืองอาจมีความยากลำบากมากขึ้น ส่วนกรณีที่ หากต้องเปลี่ยนนายกฯ คนใหม่ แต่ยังใช้สภาชุดเดิม ก็ต้องติดตามดูว่าจะสามารถขับเคลื่อนประเด็นที่สำคัญในช่วงนี้ได้อย่างไรบ้าง เช่น เรื่องงบประมาณปี 66 การลงทุน การผ่านมติครมต่าง ๆ เป็นต้น”

“เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้กำลังฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ ภาคธุรกิจยังมีความเข้มแข็ง การส่งออก การท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งที่ดีต่อไปได้ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และต้องมีรัฐบาลรักษาการ ประเทศไทยก็ยังสามารถจัดงาน APEC ได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร ยกเว้นเกิดการชุมนุมประท้วงทางการเมือง และมีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิด”

ทั้งนี้ หอการค้าไทยยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3-4 ยังมีสัญญาณบวก แม้จะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โลก ทั้งรัสเซีย-ยูเครน จีน-ไต้หวัน เงินเฟ้อ รวมถึงผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ก็ตาม

ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะออกมาอย่างไร หรือแม้จะเกิดสุญญากาศทางการเมือง ภาคเอกชนก็ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจกันตามปกติ แต่อาจจะเข้าสู่โหมดการชะลอมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการลงทุนที่จะ Wait & see เพื่อรอดูความชัดเจนก่อน โดยสรุปก็คือ แม้ว่าจะเกิดสุญญากาศทางการเมือง ก็จะไม่กระทบกับเศรษฐกิจมาก แต่เศรษฐกิจจะเดินได้ช้าลง

นายสนั่นกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดสิ่งที่ต้องสานต่อ คือภาคเศรษฐกิจที่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของประเทศ เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก ต้องไม่ให้เกิดการสะดุด เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัว นอกจากนั้น จะต้องเร่งการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐ เพื่อเป็นการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ดังนั้น เรื่อง Ease of Doing Business จะต้องสานต่ออย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ หอการค้าไทยคาดหวังว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตมากกว่าในปีนี้ และควรจะเติบโตได้มากกว่า 5%