แผนพลังงานชาติ ลดคาร์บอนเป็นศูนย์

แผนพลังงานชาติ

วิกฤตพลังงานยังเป็นปัญหาที่หนักหน่วงของประเทศไทยต่อไป จากข้อเท็จจริงที่ว่า ไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานส่วนใหญ่ ทั้งน้ำมันดิบ-ก๊าซ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในระบบการขนส่ง-คมนาคม รวมไปถึงการผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในระหว่างการสัมมนาแผนพลังงานแห่งชาติ สู่ความยั่งยืนว่า วิกฤตพลังงานและการผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดเพื่อนำไปสู่ความเป็นศูนย์กลางทางคาร์บอน จะดำเนินการออกแบบผ่านหลักการ 3 ข้อ

คือ 1) ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า จำเป็นต้องจัดสรรปริมาณและประเภทของเชื้อเพลิงต่าง ๆ ให้เพียงพอ

2) เมื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อลดพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เมื่อเพิ่มพลังงานสะอาดในสัดส่วนที่สูง การนำเข้าพลังงานก็จะลดลง ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดแล้วต้นทุนและค่าไฟฟ้าต้องแข่งขันได้

และ 3) แผนพลังงานแห่งชาติต้องสอดคล้องเป้าหมายการลดคาร์บอนภายในปี 2050

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามที่จะทำทุกหนทางที่จะไม่ให้ “ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น” แต่ต้องยอมรับว่า ราคาก๊าซเเพงมาก จากหลักหน่วยสูงขึ้นไปถึง 40 เหรียญต่อล้าน BTU โดยล่าสุดได้หารือในแนวทางด้วยการเร่งรัดจัดหาแหล่งก๊าซ การใช้น้ำมันดีเซล

และต้องหาโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีแผนหารือให้นำเอา “ชีวมวล” มาใช้ให้มากที่สุด โดยหากราคาก๊าซ LNG ลดลงเมื่อไหร่ ราคาไฟฟ้าก็ลงเมื่อนั้น

ด้าน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) 2565-80 ฉบับใหม่ คาดว่าจะเสนอให้กับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาได้ในปี 2566 ก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป

โดยแผน PDP ฉบับใหม่ได้พิจารณาตามความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีหลายโครงการที่กำลังจะเข้ามา เช่น รถยนต์ไฟฟ้า, โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และนอกจากนี้ยังมีการพิจารณาแผนที่ไม่อยู่ใน PDP อย่างการใช้โซลาร์รูฟท็อป

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ 300 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้น่าสนใจว่า 64% มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง เฉพาะภาคพลังงานถูกใช้ไปในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนอีก 28% ใช้ในภาคขนส่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ

ในภาคพลังงานเป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้เกิดราคาค่าไฟแพงในขณะนี้ โดยก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนกว่า 70% มาจากอ่าวไทยและก๊าซ LNG ที่ไทยนำเข้ามา ส่วนอีก 16% มาจากถ่านหิน และอีก 2% มาจากน้ำมันเตา

แม้การใช้น้ำมันดีเซลจะไม่มาก แต่จำเป็นต้องเพิ่มในขณะนี้เพื่อลดสัดส่วน LNG ที่ยังคงมีราคาแพง และอีก 11% มาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด สามารถลดคาร์บอนได้ จึงต้องมีการควบคุมเพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เราจะต้องดำเนินการเร่งและจัดทำ “แผนพลังงานแห่งชาติ” โดยน้ำมันกับก๊าซถือเป็นพลังงานหลักในอีก 10 ปีข้างหน้า

ส่วนแนวโน้มพลังงานในอนาคตจะเห็นการใช้ฟอสซิลลดลง โรงไฟฟ้าจะไม่ใช่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ จะเห็นแนวโน้ม electrification โดยเฉพาะ EV เพิ่มขึ้น เห็นพลังงานหมุนเวียนจากโซลาร์เซลล์และลม จะมีสัดส่วนสูงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า

รวมไปถึงเทคโนโลยีไฮโดรเจนและกักเก็บคาร์บอน CCUS โรงไฟฟ้าชุมชน 800 MW การนำไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว 2,000 MW แต่ตอนนี้สิ่งที่เป็นอุปสรรคและวิกฤตราคาพลังงานผันผวนมาก โดยจะเห็นว่าน้ำมันห่างกันและลดลงคือ ก๊าซออยล์วันนี้ลงมาเหลือ 113 เหรียญ/บาร์เรล

แต่ที่ยังไม่ดีขึ้นก็คือ ราคาก๊าซธรรมชาติ LNG จาก 3-4 เหรียญ/ล้าน BTU ปัจจุบันราคาตลาดจรพุ่งขึ้นมาอยู่ที่กว่า 40 เหรียญ/ล้าน BTU ซึ่งควรอยู่ที่ระดับ 20 เหรียญ/ล้าน BTU เพื่อให้รักษาค่าไฟ ทำให้ 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.)

จากนี้ ซึ่งเข้าสู่หน้าหนาว ราคาก๊าซจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมการโดยต้องเพิ่มการใช้ “น้ำมันดีเซล” เพิ่มขึ้น ด้วยการขยับเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าที่สามารถใช้น้ำมันดีเซล เพื่อรักษาราคาค่าไฟไม่ให้เพิ่มขึ้น

ส่วนความกังวลในการพิจารณาสัดส่วนเชื้อเพลิงนั้น ขณะนี้ “น้ำมัน-ก๊าซ” ยังคงเป็นพลังงานหลัก แต่อนาคตต้นทุนพลังงานหมุนเวียนจะต่ำลง ดังนั้นจะมี “โรงไฟฟ้าชีวมวล” โซลาร์เซลล์ เมื่อทำเป็นแผนแล้วสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกัน และในเรื่องราคาต้องสามารถเเข่งขันได้และไม่ให้กระทบหน่วยงานการไฟฟ้าด้วย