กางแผนฝ่าวิกฤตพลังงาน เปิดประมูลก๊าซธรรมชาติ-เจรจาพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชา

สุพัฒนพงษ์ กางแผน ฝ่าวิกฤตราคาน้ำมัน ประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติรอบใหม่ เดินหน้าเจรจาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ลดหย่อนภาษีส่งเสริมบ้านพักอาศัยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป-ร่นระยะเวลาออกใบอนุญาต ไม่เกิน 45 วัน

วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานกล่าวภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านกว่า 30,564 ล้านบาท ว่า

หากสถานการณ์ราคาก๊าซยังมีแนวโน้มสูงขึ้น สำคัญที่สุด คือ การประหยัดพลังงาน ถ้าสามารถประหยัดพลังงานได้ 10-20% ราคาค่าไฟฟ้าก็จะลดลง สถานการณ์ขณะนี้ประมาทไม่ได้ ราคาก๊าซที่ต้องนำเข้ายังสูงอยู่ จึงต้องไปใช้น้ำมันดีเซลเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า เกิดเป็นภาระของประชาชน เพราะถึงแม้ต้นทุนน้ำมันดีเซลจะสูง แต่ยังสูงไม่เท่าราคาก๊าซที่เรานำเข้ามาในปัจจุบัน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ขณะที่นโยบายโซลาร์รูฟท็อป ขณะนี้มีการอนุมัติอย่างต่อเนื่อง แต่ขั้นตอนอนุมัติหลายหน่วยงาน ซึ่งได้เรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำชับให้เสร็จภายใน 30 วัน ไม่เกิน 45 วัน โดยให้ดำเนินการไปคู่ขนานไปพร้อมกับการติดตั้ง ได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังให้ไปดูว่าจะมีมาตรการด้านภาษีอย่างไรได้หรือไม่ เพื่อส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสำหรับบ้านเรือนขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากการอุดหนุนโดยตรงเป็นไปได้ยาก ส่วนผู้ประกอบการไม่มีปัญหา เพราะสามารถขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้โดยตรง

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องแสวงหาก๊าซธรรมชาติ หรือแหล่งพลังงานในประเทศ เช่น การเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ ส่วนแผนระยะยาว คือ การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา คู่ขนานไปกับการเพิ่มพลังงานสะอาดให้มากขึ้น

“ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการนำไปก่อน ส่วนเรื่องเทคนิคได้คุยกันไว้หมดแล้ว เนื่องจากมีเส้นบางเส้นที่กระทรวงต่างประเทศยังเป็นกังวลอยู่ ซึ่งต้องอธิบายกับประชาชนให้ได้ว่า เส้นบางเส้นยังเป็นการอ้างสิทธิกันไปมา ไม่ใช่การยอม ซึ่งการพูดคุยกันในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจหากคุยกันได้ก่อนก็จะเป็นเรื่องดี ซึ่งขณะนี้กระทรวงต่างประเทศพูดคุยกันอยู่และเป็นไปได้ด้วยดี หากหารือกันวันนี้เสร็จเร็วอีก 10 ปีก็จะได้ใช้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับไทยและกัมพูชา” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายว่า ประเมินยาก แต่ตนยังเชื่อมั่นว่า ปัญหาพลังงานไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเจอ วิกฤตพลังงานเจอมาหลายรอบแล้ว ในอดีตสถานการณ์บางช่วงระยะเวลาปีกว่า การประหยัดและการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็จะสามารถทำให้การใช้พลังงานลดลง ส่วนการผลิต หากผลิตมากก็ต้องลงทุนมาก เพราะฉะนั้นเมื่อลงทุนเยอะ ก็จะลงไม่ได้เร็ว หากดีมานด์ลงเร็ว การซัพพลายลงช้า ราคาก็จะลงเอง และในอนาคตจะไปสู่พลังงานสะอาด