ครม. ไฟเขียว จัดหาเงินทุน-ปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอีเข้าสู่ BCG

ครม.เห็นชอบผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค หนุนเอสเอ็มอีประยุกต์ใช้ BCGโมเดล เปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม รับมือตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป และการจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า

ที่ประชุม ครม.เห็นชอบรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน 2565 ที่จังหวัดภูเก็ต ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมจาก 20 เขตเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมมีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ

1.การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) 2.การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม 3.การรับมือกับตลาดที่กาลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป 4.การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ และ 5.ประเด็นอื่น ๆ

น.ส.ทิพานันกล่าวว่า โดยมีสาระสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นดังกล่าว ดังนี้ 1.การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) นั้น ญี่ปุ่นได้ส่งเสริมให้เกิด “ตลาดสินค้าสีเขียว” คือตลาดสำหรับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกหรือลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน เช่น ถุงผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสนอให้ภูมิภาคเอเปคสร้างและพัฒนาตลาด “สินค้าสีเขียว” ให้แก่ SMEs และสิงคโปร์ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการรับรองมาตรฐานสินค้าสีเขียวให้แก่ SMEs เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

2.การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม รัสเซียร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเชื่อมโยงข้อมูลทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพื่อให้ธนาคารเครือข่ายใช้เป็นข้อมูลปล่อยกู้และแบบรายการยื่นภาษีอัตโนมัติ และสามารถส่งเอกสารขอยื่นกู้ธนาคารไปยังธนาคารเครือข่ายได้ ส่วนเวียดนามมีการพัฒนาหน่วยบริการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลครบ 100 หน่วยงาน ภายในปี 2568 และผู้ประกอบการ 100,000 รายจะได้รับการอบรมและเข้าถึงบริการด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

ในขณะที่อินโดนีเซียมีแผนดำเนินการส่งเสริมให้ SMEs เปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการอย่างน้อย 30 ล้านรายภายในปี 2567 และเกาหลีใต้ได้ให้มีนโยบายนำร่องเพื่อช่วยเหลือด้านดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)

3.การรับมือกับตลาดที่กาลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป สหรัฐมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนโดยเฉพาะผู้ประกอบการสตรี โดยมีหลักสูตรการประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการและการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

รวมทั้งจัดให้มีการเข้าถึงแพลตฟอร์มในการโอนเงิน 4.การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ แคนาดาได้จัดให้มีสินเชื่อโดยไม่หวังกำไรและกองทุนร่วมลงทุนให้ผู้ประกอบการสตรี ในขณะที่จีนจัดให้มีการค้ำประกันสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ

น.ส.ทิพานันกล่าวว่า สำหรับประเด็นสุดท้ายในเรื่องอื่น ๆ นั้น มาเลเซียได้จัดกิจกรรม SME National Champion โดยคัดเลือกจากธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตทางรายได้สูง และรัฐบาลจะให้การสนับสนุนใน 3 มิติ คือ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีสู่ 4.0 การปฏิรูปองค์การให้มีสมรรถนะสูง และการพัฒนากลยุทธ์การตลาดสู่สากล ส่วนจีนได้ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของ SMEs มากกว่า 1,000 รายการ