จุรินทร์ ชู พ.ร.บ.ปาล์มยั่งยืน แก้ปัญหาแบบครบวงจร

จุรินทร์ ปาล์มน้ำมัน

“จุรินทร์” ยิ้มรับปัญหาลานเท-โรงสกัดหยุดรับซื้อผลปาล์ม คลี่คลายแล้ว ดันราคาพุ่ง 5 บาทกว่า/กก. พร้อมชู พ.ร.บ.ปาล์มยั่งยืน ดูแลครบวงจร

วันที่ 23 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันล่าสุด ลานเทกว่า 3,117 ราย โรงสกัด 131 ราย รับซื้อปกติจากเดิมที่งดรับซื้อผลปาล์มในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และปัญหาจราจรติดขัดหน้าโรงงาน และปัญหาอื่น ๆ คลี่คลายทั้งหมด 100% ช่วยให้ราคาผลปาล์มปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ 5 บาทกว่าต่อกิโลกรัม

โดยปกติผลผลิตช่วงปลายปีถึงต้นปี ผลผลิตปาล์มจะออกน้อย แต่ปีนี้กลับออกเยอะเป็นพิเศษ ทำให้เกษตรกรเร่งตัดปาล์มมากขึ้น ประกอบกับช่วงต้นปีของทุกปีโรงสกัดจะปิดซ่อมเครื่องจักรเพราะผลปาล์มน้อย เลยชะลอการรับซื้อ เป็นเหตุผลทำให้ช่วงที่ผ่านมามีปัญหา ตนจึงได้สั่งการให้หน่วยงานเร่งแก้ไข ปัญหาทั้งหมดแล้ว ตอนนี้คลี่คลายแล้ว

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวราคาปาล์มน้ำมัน สิ่งที่อยากเห็นคือ อยากเห็น พ.ร.บ.ปาล์มยั่งยืน โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวจะประกอบด้วย

  1. จะช่วยให้มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนปาล์มเกิดขึ้น เช่นเดียวกับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
  2. มีการจัดทำโครงสร้างกำกับราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
  3. มีกฎเกณฑ์กติกากำกับดูแลเรื่องปาล์มครบวงจร เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมีมาตรการให้ปาล์มมีความยั่งยืน เป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่ครบวงจรต่อไป

ตอนนี้ได้มีการเสนอกฎหมายนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาแล้ว อย่างไรก็ดี เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการตั้งกองทุนด้วย การจะผลักดันจำเป็นต้องมีการรับรองก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า การส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์ม ภายหลังที่ตนนำคณะเอกชนไปอินเดีย 2 ครั้ง เพื่อเปิดตลาดน้ำมันปาล์มของไทย ทำให้ตัวเลขการส่งออกในช่วง 2 เดือนเพิ่มขึ้นกว่า 600% นอกจากนี้ การส่งเสริมสนับสนุนผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มกิโลกรัมละ 2 บาทหรือไม่ ด้วยมีคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เพื่อพิจารณา

แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศ ต้องเกิน 300,000 ตัน ราคาน้ำมันปาล์มต่างประเทศจะต้องถูกกว่าในประเทศด้วย ถึงจะมีการพิจารณาส่งเสริม สนับสนุนช่วยส่งออก แต่ขณะนี้กำลังมีการพิจารณาปรับลดสต๊อกจากเงื่อนไขเดิม ลงมา 250,000-300,000 ตัน

ทั้งหมดนี้เพื่อเร่งรัดการส่งออกและดึงราคาในประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์มใน 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและดึงราคาผลปาล์มให้มีในระดับสูง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการส่งออกนั้นจะต้องมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นอัตราแลกเปลี่ยนราคาน้ำมันปาล์มดิบในต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จำเป็นจะต้องติดตามต่อไป