
เข้าสู่ช่วงการเก็บเกี่ยวผลไม้ประจำปี ในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ผลผลิตผลไม้ จะมีปริมาณรวม 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% โดยทุเรียนเพิ่ม 18% มังคุดเพิ่ม 30% ลำไยเพิ่ม 1% เงาะเพิ่ม 7% ลิ้นจี่เพิ่ม 10% มะม่วงเพิ่ม 4% สับปะรดเพิ่ม 5% โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยเฉพาะมะม่วงที่จะออกก่อนผลไม้ชนิดอื่น จากนั้นผลไม้ชนิดอื่นก็จะทยอยออกมาไร่เรี่ยกัน อย่างทุเรียน มังคุด เงาะ เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมตลาดล่วงหน้ารองรับผลไม้ไว้แล้วกว่า 700,000 ตัน ภายใต้ 22 มาตรการ ใน 4 ด้าน ได้แก่ การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และด้านกฎหมาย และตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไปต่างประเทศ 4.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10%
ซึ่งการบริหารจัดการผลไม้ปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการตั้งคณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ภาครัฐร่วมกับเอกชน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นวอร์รูม เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาด และประสานงานแก้ไขปัญหาการจำหน่าย การส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะการผลักดันส่งออกไป 3 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV)
ถกทูตพาณิชย์เปิดทางส่งออก
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมหารือ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ปักกิ่ง สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ภูมิภาคจีน 7 แห่ง สคต.เวียงจันทน์ และ สคต.ฮานอย เพื่อติดตามสถานการณ์ การค้าสินค้าผลไม้ของไทย พร้อมกับมอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ไปติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด เพราะในขณะนี้ผลไม้ไทยกำลังออกสู่ตลาด จะต้องคอยอำนวยความสะดวก
โดยแนวทางสำคัญหากเกิดปัญหาติดขัดเรื่องการส่งออกต้องเข้าไปแก้ไขทันที หากจำเป็นต้องแก้ไขในระดับนโยบายให้รายงานเข้าส่วนกลางอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้ทันการณ์ และไม่กระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทย ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุก โดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา เพื่อรองรับผลไม้ไทยที่กำลังจะออกสู่ตลาด เพื่อให้การส่งออกผลไม้ไทยเป็นไปตามเป้าหมาย และตลาดสำคัญในการส่งออกผลไม้ไทยยังเป็นประเทศจีน โดยจำเป็นจะต้องรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดให้มากขึ้น
พร้อมทั้งร่วมกันวางแผนการขยายตลาดการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุนของไทยในตลาดจีนด้วย และหาแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าผลไม้ไทยไปจีน
ส่องด่านโมฮาน รถไฟลาว-จีน
ตลาดจีนนับได้ว่าเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ในปี 2565 การค้าไทย-จีนมีมูลค่า 105,404.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก มูลค่า 34,389.91 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า มูลค่า 71,014.37 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง, เม็ดพลาสติกและยางพารา สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน, เคมีภัณฑ์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
สำหรับการส่งออกผลไม้ไทยเข้าจีนนั้น มีรูปแบบการขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และทางรถไฟลาว-จีน ที่เป็นทางเลือกใหม่เพิ่งเริ่มนำมาใช้ช่วยลดระยะเวลาในการส่งออกผลไม้ เพราะสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย ระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
“นายกีรติ” ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2566 ได้พบหารือกับ Mr.Xu Chun ผู้อํานวยการคณะกรรมการบริหารเขตความร่วมมือบ่อเต็น-โมฮาน ประเทศจีน เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน รองรับฤดูกาลผลิตผลไม้ไทยปี 2566 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด
“เราต้องการให้จีนอำนวยความสะดวกในด้านการตรวจสอบคุณภาพ โรคพืช ให้รวดเร็ว เราได้นำคณะมาครั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหา โดยเห็นสถานที่จริง ปัญหาจริง โดยไม่ใช่เป็นเพียงแก้ไขปัญหาโดยการโทร.ติดต่ออย่างเดียว”
ทั้งนี้ ยังได้ตรวจสอบพื้นที่ลานตรวจสอบจำเพาะของสินค้าผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งในฤดูผลไม้ของไทยผ่านด่านสำคัญของจีนด้วย โดยเบื้องต้น ทางจีนก็พร้อมที่จะติดตามดูแลการนำเข้าผลไม้จากไทย ปัจจุบันจีนได้ขยายช่องทางนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะทางบกเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ซึ่งเชื่อว่าการระบายสินค้าจะรวดเร็ว รวมไปถึงการตรวจสอบโรคพืช
รถไฟจีน-ลาว เปิดเต็มที่
หลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศการตรวจโรคพืชทำได้ที่เส้นทางรถไฟ เพื่อทำให้การตรวจสอบคล่องตัวขึ้น ส่งผลให้การส่งออกผลไม้ไทยไม่ติดปัญหาล่าช้า ทำให้ปัจจุบันสามารถนำเข้าผลไม้ด้วยตู้รักษาอุณหภูมิ (cold chain) ได้ โดยเที่ยวรถไฟจีน-ลาวขนส่งสินค้าเข้าจีน 7 ขบวนต่อวัน (cold chain และ noncold chain) และลานตรวจจำเพาะสินค้า โดยมีช่องตรวจสินค้าผลไม้ ธัญพืช และสัตว์น้ำแช่เย็น รวมทั้งสิ้น 26 ช่องตรวจ แบ่งเป็นช่องตรวจจำเพาะสินค้าผลไม้ 15 ช่องตรวจ ธัญพืช 7 ช่องตรวจ และสัตว์น้ำแช่เย็น 4 ช่องตรวจ
โดยพบว่า ตั้งแต่มีการเปิดใช้งานลานตรวจจำเพาะสินค้าผลไม้เมื่อปลายปี 2565 จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2566 หรือนับเป็นเวลา 3 เดือน มีการขนส่งผลไม้โดยผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวทั้งสิ้น 22 ลอต 157 ตู้ ปริมาณรวม 3,675 ตัน ผลไม้ที่ส่งออกผ่านรถไฟจีน-ลาว ได้แก่ ทุเรียน 4 ตู้ ลำไย 90 ตู้ กล้วย 53 ตู้ และผลไม้อื่น ๆ อาทิ ส้มโอ มะพร้าว และมะม่วง 10 ตู้ โดยคาดว่าในช่วงฤดูกาลผลไม้ที่จะถึงนี้ จะมีปริมาณผลไม้ไทยผ่านเส้นทางนี้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนลานตรวจสินค้าธัญพืชและสัตว์น้ำแช่เย็น หน่วยงานตรวจสอบของจีน (GACC) ได้เข้ามาตรวจรับการก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะประกาศให้ลานดังกล่าวสามารถนำเข้าสินค้าเฉพาะที่เกี่ยวข้องได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสของกลุ่มธัญพืชและสัตว์น้ำแช่เย็นที่ต้องการจะส่งออกไปจีนในอนาคต
ด่านทางบกโมฮานของจีน
สำหรับด่านทางบกโมฮาน เป็นด่านรถบรรทุกเดิม มีการจราจรเข้า-ออกค่อนข้างหนาแน่นจากการเดินรถช่องทางเดียวโดยในช่วงฤดูกาลผลไม้จะมีรถเข้าออกด่านประมาณ 500 คันต่อวัน และมีเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานล่วงเวลาถึง 20.00-21.00 น. แต่ปัจจุบันจีนเปิดช่องทางเดินรถเพิ่ม โดยเข้า-ออกคนละช่องทาง และอยู่ระหว่างก่อสร้างขยายช่องทางมากขึ้น จะทำให้การขนส่งทางบกดีขึ้น โอกาสการส่งออกผลไม้ทางบกจะคล่องตัวมากขึ้น
ส่วนภาพรวมการระบายรถขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันทางการจีนได้ยกเลิกมาตรการ Zero COVID โดยไม่ตรวจกรดนิวคลีอิกทั้งคนขับรถและสินค้าแล้ว จะส่งผลให้การขนส่งรวดเร็ว รวมไปถึงการตรวจโรคพืชก็จะมีความคล่องตัว สามารถตรวจสอบและระบายสินค้าได้ดียิ่งขึ้น