
ก่อนที่จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก 58 สำนักงาน ในเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นการจัดแบบออนไซต์ครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อประเมินทิศทางสถานการณ์การส่งออกในปี 2566
ล่าสุด องค์การการค้าโลก (WTO) ได้เผยแพร่รายงาน “Global Trade Outlook and Statistics” เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า การค้าโลกในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.7% ชะลอตัวลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.7% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัว 2.6% ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะที่ภาคการส่งออกของไทย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยว่าจะติดลบ 1-0% จากเศรษฐกิจชะลอตัวคาดการณ์ส่งออกในช่วงไตรมาส 1-2 จะยังคงติดลบ แต่จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4
พาณิชย์ตั้งเป้าดันส่งออกโต 2%
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าการส่งออกไทยในปี 2566 ขยายตัว 1-2% โดยยังมองว่า ยังมีปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันการส่งออกได้ เช่น ค่าระวางเรือลดลง ตู้คอนเทนเนอร์เพียงพอ ความต้องการด้านอาหารของโลกยังมีอยู่ ประกอบกับตลาดศักยภาพ 4 แห่งยังมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น
“เราคาดว่าการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางในปีนี้จะเป็นบวกถึง 20% เอเชียใต้จะขยายตัว 10% อาเซียนและ CLMV ขยายตัว 15%”
อาเซียนอัดกิจกรรมเต็มสูบ
นายธนวุฒิ นัยโกวิท อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการพาณิชย์ (ทูตพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดในอาเซียนในปี 2566 ว่า อาจชะลอตัวในช่วงต้นปีบ้าง แต่คาดว่าจะดีขึ้นกลางปีเป็นต้นไป ส่วนเป้าหมายการส่งออกของไทยในอาเซียนเป็นไปตามที่ รมว.พาณิชย์ประเมินไว้
สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกสู่ตลาดอาเซียน ปี 2566 เช่น 1.การจัดงานแสดงสินค้าในอาเซียน ที่สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ลาว เมียนมา กัมพูชา 2.การจัดส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าที่อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม 3.การจัดคณะนักธุรกิจไทยขยายตลาดในอาเซียน
4.การส่งเสริมการค้าออนไลน์ e-Commerce ในตลาดอาเซียน 5.การสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหารและร้านอาหาร Thai Select 6.การส่งเสริมผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดอาเซียน 7.การส่งเสริมสินค้าไทยที่มีศักยภาพ เช่น สินค้า BCG สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าแม่และเด็ก 8.การจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจผ่านออนไลน์ในกลุ่มสินค้าต่าง ๆ
สินค้าที่เป็นโอกาสในตลาดอาเซียน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง สินค้าฮาลาล สินค้าวัตถุดิบเม็ดพลาสติก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ จักรยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
รายงานข่าวจากธนาคารพัฒนาเอเชียระบุว่า ได้ทบทวนการคาดการณ์เศรษฐกิจอาเซียนลดลงมาอยู่ที่ 4.7% ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าตลาดอาเซียน ยังเป็นเป้าหมายสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศอยู่
ส่งออกจีนโต 1%
นายสกรรจ์ แสนโสภา ผู้อำนวยการสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3% ขณะที่อัตราการว่างงานในเขตเมืองลดลงเหลือ 5.5% นอกจากนี้ ภายหลังจากที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน แถลงการณ์ในการประชุม 2 สภา ปี 2566 มีเป้าหมาย จะเร่งรัดการพัฒนารากฐาน พัฒนาระบบอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัย
ปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมภาคการเกษตรโดยการพัฒนาประเทศจีน ไม่สามารถพัฒนาไปได้โดยแยกตัวออกจากส่วนอื่นของโลก จีนจะพยายามอย่างหนักเพื่อขับเคลื่อนการเปิดกว้างอย่างมีคุณภาพสูง และจะไม่เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากตลาดและทรัพยากรของโลกเพื่อการพัฒนาประเทศของตนเท่านั้น แต่จะส่งเสริมการพัฒนาของทั้งโลกด้วย
“ตลาดจีนมองเป้าหมายการส่งออกโต 1% โดยกิจกรรมที่จะส่งเสริมการส่งออก เช่นผลักดันสินค้าไทยผ่าน modern trade การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารของไทย การเจาะตลาดฮาลาล อีกทั้งจะนำทัพเอกชนบุกตลาดจีน ผ่านกิจกรรมงานแสดงสินค้าส่งเสริมสินค้าไทยผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ของจีน”
ข้อมูลของธนาคารโลกคาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวสู่ 4.3% ในปี 2566 นี้ จากเดิมที่มีการคาดการณ์ 2.7% ขณะที่การประชุม 2 สภา หรือ “เหลี่ยงฮุ่ย” เวทีแถลงนโยบายสำคัญของจีน ได้ประกาศตั้งเป้าว่า จีดีพีปี 2566 นี้ จะเติบโต 5% หลังจากปีที่เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบโควิด-19 จีดีพีโตแค่ 3% ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 5.5%
ราคาพลังงานกระทบตลาดอียู
นางสาวอรอนุช ผดุงวิถี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เปิดเผยว่า ข้อมูลจากคณะกรรมการบริหารสหภาพยุโรป คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2566 (อียู-สมาชิก 27 ประเทศ) คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 0.9% เพิ่มจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะโต 0.3% โดยต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อ ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นปัจจัยกระทบต่อเศรษฐกิจ
แผนผลักดันการส่งออก สำนักงานเตรียมกระตุ้นส่วนแบ่งการตลาดให้ข้าวหอมมะลิไทย ผ่านการทำ Thai Hom Mali Branding ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว สร้างความรับรู้ต่อเครื่องหมาย Thai SELECT และทำ online cooking จัดแฟชั่นโชว์ร่วมกับ Vienna Fashion Week อีกครั้งเป็นปีที่ 14
ผลักดันงานหัตถกรรมพรีเมี่ยมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Meistyerstrasse.com เป็นแพลตฟอร์มสินค้าหัตถกรรมพรีเมี่ยมของยุโรป โดยมี headquarter อยู่ที่ออสเตรีย ทูตพาณิชย์ร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการผลักดันสินค้าไทยที่ได้รับมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยและยุโรป เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยุโรป ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้า ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
สหรัฐส่งออกโต 9%
นายชวนล ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ประจำไมอามี สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ภาคเอกชนสหรัฐมีมุมมองในทิศทางเดียวกันว่า GDP ของสหรัฐ จะชะลอการขยายตัวตั้งแต่ต้นปี 2566 เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และจะเริ่มกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 ภายหลังจากภาวะเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง
จากที่ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายภาคส่วนที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง คาดการณ์ว่า GDP สหรัฐ (เฉลี่ยทั้งปี) จะขยายตัวเพียง 0.7% ในปี 2566 และจะกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 0.9% ในปี 2567
ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังคงสูงกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องการที่ 2% ต่อไปอีกตลอดปี 2567 และจะกลับมาใกล้เคียงที่ 2% ภายในปี 2569 และคาดการณ์การว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.6% ในปลายปี 2565 เป็น 5.1% ในปลายปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.5% ในปลายปี 2570
อย่างไรก็ตาม สคต.สหรัฐวางเป้าหมายการส่งออกตลอดทั้งปี 2566 เท่ากับปีที่ผ่านมา ขยายตัว 9.1% ที่มีมูลค่า 47,512 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 (ม.ค.-ก.พ. 66) ไทยส่งออกได้ 42,625.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.23% จากช่วงเดือนเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าการส่งออก 44,700.34 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยสินค้าเกษตร ติดลบ 13.51% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกข้าว ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าส่งออก 96.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.48% จากปริมาณการนำเข้าในปีที่ผ่านมาที่มีการนำเข้ามาก ส่งผลให้ยังมีสต๊อกข้าวคงเหลือรอการจำหน่ายอีกจำนวนมาก จึงยังไม่มีคำสั่งซื้อก่อนหน้านี้ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ติดลบ 31.42% ส่วนประกอบในการผลิต ติดลบ 4.94%
สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐ มูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลและชิ้นส่วน สินค้าจากยางธรรมชาติ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
“แนวทางส่งออกไปตลาดสหรัฐ ในช่วงไตรมาส 2-ไตรมาส 4 หากเป็นไปตามที่หลายภาคส่วนได้คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐว่าจะถดถอยในช่วงหลังไตรมาส 2 ดังนั้นการส่งออกสินค้าไทยมายังสหรัฐ ในไตรมาส 2-4 เมื่อเทียบกับการนำเข้าในช่วงเวลาเดียวกันตลอดทั้งปีของ 2565 แล้ว คาดการณ์ว่าการนำเข้าสินค้าไทยจะปรับตัวลดลง
และเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าจากสหรัฐ ที่คาดว่าจะมีการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นในสินค้าหลายประเภท เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน แผงวงจรไฟฟ้า ผักและผลิตภัณฑ์จากผัก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อาจจะส่งผลให้ดุลการค้าของไทยที่เคยมีต่อสหรัฐปรับตัวลดลง และอาจขาดดุลการค้าได้ในปี 2566”
สคต.มีแผนกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกของกรมในตลาดสหรัฐ ประกอบด้วย 1.โครงการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ 2.โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์ข้าวไทยและผลิตภัณฑ์จากข้าว 3.โครงการเจาะตลาดกลุ่มฮิสแปนิกและเอเชียในสหรัฐ 4.นำคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐ (อาหาร/อัญมณีและเครื่องประดับ/สินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย/สินค้าสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์เลี้ยง)
5.การเชิญผู้นำเข้าสหรัฐเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทย โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน และ 6.จัด Online Business Matching สินค้าที่ตลาดสหรัฐมีความต้องการ และที่ผู้ส่งออกไทยต้องการขยายตลาดมายังสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลสรุปและแผนงานการผลักดันการส่งออกปี 2566 ในที่ประชุมทูตพาณิชย์ว่า ไทยจะฝ่าคลื่นลมปัจจัยลบในตลาดโลก ในปีนี้เพื่อผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวเป็นบวกได้หรือไม่