เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่สดใส ส่งออกไทยเสี่ยงหดตัวแรง

ส่งออก-นำเข้า
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินภัทรเกียรตินาคิน

หลังจากเหตุการณ์ Silicon Valley Bank ได้สั่นคลอนภาคธนาคารทั้งในสหรัฐและภาคธนาคารในยุโรป ทำให้หลายคนมีความกังวลว่าวิกฤตการเงินอาจเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2008 และเศรษฐกิจโลก
จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง

แต่ความพยายามของภาครัฐในการเข้ามาจัดการดูแลภาคธนาคารอย่างรวดเร็ว ทั้งการรับประกันเงินฝากในส่วนที่ไม่ได้ถูกรับประกันของธนาคาร Silicon Valley Bank และการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางให้แก่ธนาคารพาณิชย์อื่นที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันเงินฝาก ได้ช่วยให้แรงกดดันจากการแห่ถอนเงินในภาคธนาคารลดลงไปได้ ทำให้ KKP Research คิดว่า
โอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางเงินหลังจากเหตุการณ์นี้ยังอยู่ในระดับต่ำ

แม้ผลกระทบจากเหตุการณ์ SVB อาจไม่ลุกลามเป็นวิกฤตในวงกว้าง แต่แรงกดดันต่อระบบธนาคารพาณิชย์อาจมีอยู่ เนื่องจากปริมาณเงินฝากในระบบบางส่วนเริ่มไหลออก ซึ่งส่วนหนึ่ง
เป็นเงินฝากที่ไหลออกไปยังกองทุนรวมตลาดเงิน (money market fund) ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ให้ ปัจจัยนี้จะกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาสภาพคล่อง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารปรับสูงขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นสัญญาณว่าการประเมินสินเชื่อในสหรัฐเริ่มมีความตึงตัวมากขึ้นมาบ้างแล้ว หากภาวะทางการเงินมีความตึงตัวเช่นนี้ต่อไป รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังการกู้ยืมของภาค การบริโภค และการลงทุน จะเป็นแรงกดดันสำคัญให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมากขึ้นได้ในอนาคต

ทั้งนี้ KKP Research ยังประเมินว่ามาตรการของภาครัฐในสหรัฐที่ออกมาจะเพียงพอในการดูแลปัญหาเสถียรภาพการเงินในปัจจุบัน หากไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่น ๆ เพิ่มเติม ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อจะยังเป็นปัญหายืดเยื้อโดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคบริการที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันให้ FED จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินโดยการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน เพื่อชะลอแรงกดดันด้านอุปสงค์โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งหมายความว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่อัตราดอกเบี้ยยังมีความจำเป็นต้องค้างสูง 
ในขณะที่ภาคการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น จะส่งผลให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีมากขึ้นไปด้วย

เมื่อความเสี่ยงจากปัญหาในภาคการเงินในต่างประเทศเพิ่มขึ้น สร้างความกังวลและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่าคาด ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ?

KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2023 มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่ยังขยายตัวได้จากแรงส่งของการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากฐานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก ประกอบกับการ
กลับมาของอุปสงค์ที่อั้นอยู่ของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยว จะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้มากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้จากเดิม 25.1 ล้านคน เป็น 29.8 ล้านคนในปี 2023 ซึ่งคาดว่าเป็นนักท่องเที่ยวจีน 5 ล้านคน

และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์จากต่างประเทศจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการส่งออกสินค้าของไทย ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อนทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวค่อนข้างรุนแรงของการส่งออกทั้งของไทยและภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา

โดย KKP Research ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงจาก 3.6% เหลือ 3.3% ผลจากการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะกลายเป็นแรงส่งหลักเกือบทั้งหมดของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 โดยจะพบว่าการเติบโตของนักท่องเที่ยวเป็นที่มาของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยถึงประมาณ 4% ขณะที่การหดตัวของภาคการส่งออกจะเป็นตัวลดทอนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ต่อหัวจากนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา จากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยเป็นกลุ่มอาเซียนมากขึ้น แต่รายได้ก็จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ และกลับไปใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในที่สุด เมื่อนักท่องเที่ยวจีนเริ่มฟื้นตัวกลับเข้ามาชัดเจนมากขึ้น โดยจากข้อมูลนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่เฉลี่ยเกือบ 40,000 บาท ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวจากอาเซียนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาทต้น ๆ

ขณะที่ “การส่งออก” จะหดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก โดยสัญญาณการชะลอตัวของภาคการส่งออกเริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และต่อเนื่องถึงปีนี้ โดยการส่งออกทั้งของไทยและภูมิภาคในปีที่ผ่านมา แม้จะยังสามารถขยายตัวได้บ้าง แต่ขยายตัวในระดับที่น้อยลงมาต่อเนื่อง และเริ่มติดลบชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2022

ขณะเดียวกัน การส่งออกของประเทศในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้และไต้หวันยังคงหดตัวรุนแรงในช่วงต้นปี 2023 ทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่มีฐานการส่งออกที่สูงและมีอุปสงค์
เร่งตัวในช่วงก่อนหน้า เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 1 และ 2 ของไทยปีนี้มีโอกาสติดลบเกิน 10% (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ)

ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อาจทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังเผชิญกับแรงกดดันทำให้ KKP Research คาดการณ์ว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าจะติดลบ 3.1% จากที่เคยประเมินไว้ที่ 1.8%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกในแต่ละกลุ่มสินค้าอาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน โดยสินค้าอุตสาหกรรมจะเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลง ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นและได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีนในปีนี้น่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง