สรท.คาดส่งออกไทยไตรมาส 1 ติดลบ เร่งทำสมุดปกขาวชงรัฐบาลชุดใหม่

นายชัยชาญ เจริญสุข
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เ

สรท. คาดส่งออกไทยไตรมาส 1 ติดลบ 10% พร้อมเตรียมเร่งทำสมุดปกขาวเพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ดันส่งออกภายในปี 2566

วันที่ 4 เมษายน 2566 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ติดลบ 4.7% โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า มาตรการทางการเงินที่ยังคงรุนแรง ขณะที่ประเมินว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 1 มีแนวโน้มติดลบ 10% และในไตรมาส 2 ติดลบ 0.5% โอกาสทั้งปี 2566 ส่งออกไทยขยายตัว 1%

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐ ยุโรป จีนที่ยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการเงินที่ลงรุนแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สินเชื่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

ส่วนปัจจัยภายในประเทศยังคงต้องติดตามค่าไฟฟ้าที่เป็นแรงกดดันและต้นทุนต่อการผลิตสินค้าถึง 10-15% ขึ้นอยู่แต่ละอุตสาหกรรมและยังคงมองว่าเป็นต้นทุนที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีผลต่อศักยภาพในการแข่งขันด้วย

“สรท.อยู่ระหว่างการทำสมุกปกขาว ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านการค้า การส่งออกของไทยเพื่อเสนอให้กับรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยกระตุ้น สนับสนุนการส่งออกไทย”

อย่างไรก็ดี สรท.ยังคาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2566 เติบโตระหว่าง 1-2% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องติดตามในปี 2566 ได้แก่

1) ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีการแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้า เทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้า และต้นทุนราคาพลังงานโลกมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและภาวะเงินเฟ้อ

ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรปที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง

2) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ในเดือน มี.ค.ที่หดตัวรุนแรง โดยเฉพาะกิจกรรมภาคการผลิตในกลุ่มยูโรโซน ขณะที่ PMI ของสหรัฐหดตัวน้อยลงในเดือนมีนาคม (MOM) เป็นผลจากปัญหาอุปทานค่อนข้างกระจุกตัว สินค้าคงคลังยังคงทรงตัวในระดับสูง

ขณะที่ปัจจัยบวกที่มีผลต่อการส่งออก อย่างเช่น การส่งออกในกลุ่มประเทศเป้าหมายอย่างอินเดีย ตะวันออกกลางมีโอกาสเติบโต และอัตราค่าระวางเรือทั่วโลกลดลงกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ รวมถึงสถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์ที่เพียงพอต่อการส่งออก

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1) ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (Ft) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค

3) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่ม Local Currency เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าของไทย

4) พิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น

ข้อมูลตัวเลขการส่งออกระบุว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YOY) พบว่าไทยส่งออกรวมมูลค่า 42,625.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 1,430,250 ล้านบาท หดตัว 3.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ หดตัว 1.4%)

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 48,388.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 1,647,855 ล้านบาท ขยายตัว 5.0%

ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ขาดดุลเท่ากับ 5,763.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 217,605 ล้านบาท

สรท.

สรท.

สรท.