
จับตาเงินเฟ้อโลกส่งผลต่อกำลังซื้อสินค้าอัญมณีโค้งสุดท้าย เอกชนหวัง งานบางกอกเจมส์ ครั้งที่ 68 หนุนส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี 2566 ขยายตัว 10% “พลอย เครื่องประดับทอง” กลับมาขยายตัว หวังได้รัฐบาลใหม่ดันไทยสู่ฮับอัญมณี ฝ่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจตลาดหลักสหรัฐชะลอตัว เงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาวัตถุดิบผันผวน สงครามกระทบต่อการส่งออก
นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในครึ่งปีหลังและทั้งปี 2566 จะดีขึ้น และคาดว่าจะขยายตัว 10% โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่มีมูลค่าการส่งออก 4,348 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 11.94% มีแรงหนุนจากการส่งออกพลอย และเครื่องประดับทองที่กลับมาขยายตัว
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและกระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังประสบปัญหาชะลอตัว ทั้งสหรัฐ ยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญ ปัญหาสงคราม ราคาวัตถุดิบมีความผันผวน เช่น โลหะเงิน ทำให้มูลค่าการค้าลดลง ผู้ซื้อหันไปซื้อทองมากขึ้น

ทั้งนี้ จากปัญหาเศรษฐกิจของผู้นำเข้า เช่น สหรัฐยังคงชะลอตัว ปัญหาสงครามโดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครน หากยืดเยื้อก็กระทบส่งออก เพราะรัสเซียถือว่าเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกอัญมณี ราคาวัตถุดิบมีความผันผวนและคาดการณ์ไม่ได้
“ผลจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพง ผู้บริโภคใช้จ่ายระมัดระวังในการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และซื้อสินค้าที่จำเป็นก็จะมีผลต่อสินค้าเครื่องประดับ รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยน”
ผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่ต้องติดตามยังอยู่ในกลุ่มของเครื่องประดับเงิน ซึ่งก็มีโอกาสที่จะส่งออกหดตัว เพราะตลาดอินเดียซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ พบว่ามีปัญหาในเรื่องของการนำเข้า ทำให้การสั่งซื้อปัจจุบันหดตัวลง ทำให้การส่งออกปีนี้ลำบาก ส่วนการส่งออกเครื่องประดับทอง อัญมณี ทอง เพชร พลอยสีที่กลับมาขยายตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในกลุ่มเครื่องประดับเงินเองประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจด้วย โดยตลาดส่งออกสำคัญอัญมณีและเครื่องประดับของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มเยอรมนี ฮ่องกง ยุโรป และสหรัฐ
“จากปัญหาของเอสเอ็มอี และส่งออกเครื่องประดับเงินสำคัญอยู่ที่อินเดีย การนำเข้าลดลง ยิ่งทำให้ธุรกิจประสบปัญหา ก็คาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะเข้ามาช่วยแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องของการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งเป็นปัญหาและไม่ได้รับการแก้ไขให้เท่าเทียมกับเครื่องประดับทอง เพื่อให้เกิดสภาพคล่องและมีเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ”
อย่างไรก็ดี การจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (งานเจมส์) ครั้งที่ 68 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างในวันที่ 6-10 กันยายน 2566 ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมถึง 80-90% เชื่อว่าการกลับมาจัดงานนี้ครั้งแรกตั้งแต่ที่มีปัญหาของโควิด-19 จะช่วยการขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น เพราะมีช่องทางการส่งออกที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์
โดยงานครั้งนี้จะมีผู้นำเข้าและผู้ซื้อจากทั่วโลกเดินทางเข้าร่วมงาน จะช่วยขยายตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังหวังให้รัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการส่งออกในภาพรวม สนับสนุนในการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับของโลก รวมไปถึงแก้ไขปัญหากฎหมายในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของ เครื่องประดับเงิน
รายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า งานบางกอกเจมส์ ครั้งที่ 68 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 กันยายนนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะมีผู้นำเข้าทั้งเข้าร่วมงานถึง 1,100 ราย กว่า 2,400 คูหา คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงานทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย และจะสร้างมูลค่าการค้าได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
ขณะที่การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) ในปี 2565 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสินค้าส่งออกลำดับที่ 9 ของการส่งออกโดยรวมของไทย มีมูลค่า 8,036 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน 2566) มีมูลค่าส่งออก 4,348 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 11.94%
ส่วนเป้าส่งออกปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% หลังโควิดคลี่คลายทำให้สามารถจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การเปิดประเทศ หรือมาตรการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายมากขึ้น