อัญมณีจันท์ดึง BIMSTEC เปิดตลาดเชื่อมโยงอาเซียน-เอเชียใต้

BIMSTEC

ในการประชุม BIMSTEC Business Conclave 2023 จัดโดยหอการค้าอินเดีย (Indian Chamber of Commerce-ICC) โดยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ที่เมืองโกลกาตา (Kolkata) รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกรอบความร่วมมือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรีได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงาน

จี้ถกอินเดียทำ FTA ลดภาษี

โดย นายชายพงษ์ นิยมกิจ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดจันทบุรี และอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เป็นตัวแทนของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจ 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล คือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา และในอาเซียนมีไทยและเมียนมา มีประชากรรวมมากถึง 1,700 ล้านคน

การประชุมให้ความสำคัญด้านอุตสาหกรรมเพชรและอัญมณี โดยจัดให้มีฟอรัม นำเสนอข้อมูลด้านวัตถุดิบ ตลาดอัญมณีของไทย และจังหวัดจันทบุรี และได้มีการหารือความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และประเด็นปัญหาอุปสรรคการลดข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าทางการค้าและโอกาสการเติบโตในตลาด

BIMSTEC

BIMSTEC เป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรเกือบ 2,000 ล้านคน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีกำลังซื้อสูง เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบและมีระยะทางไม่ไกลจากไทย ใช้เวลาเดินทาง 2-2.30 ชั่วโมง ประชากรอินเดียมี 1,300 ล้านคน กำลังซื้อไม่มากเพียง 10% หรือประมาณ 130 ล้านคน มากกว่าคนไทย 2 เท่า

ที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นประเทศยากจน แต่กลุ่มที่มีกำลังซื้อมีจำนวนมาก และประเทศสมาชิกมีความตื่นตัวด้านการค้า การลงทุน เช่น อินเดีย ไทย ศรีลังกา และเมียนมา โดยเฉพาะอินเดียเป็นตลาดอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นฐานการผลิตเพชร มีผู้เชี่ยวชาญเครื่องประดับทอง ส่วนเมียนมา ศรีลังกา ไทย เป็นแหล่งผลิตพลอยสีเกือบ 100% ศรีลังกามีพลอยแคชเมียร์ บลูหรือไพลินที่สวยงามมาก พลอยแดงไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก ในซาอุดีอาระเบียที่มีพฤติกรรมชอบเพชร

หาก BIMSTEC ร่วมมือกันทางด้านการตลาด จะทำให้มีโอกาสเติบโตได้มาก ต่อไปอินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และเป็นตลาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก ไทยต้องตามติด

“การขยายอุตสาหกรรมอัญมณีต้องเปิดให้กว้างขึ้น เทรดเดอร์ในไทยที่อยู่มานานควบคุมการตลาดอยู่ ตอนนี้มีจากฮ่องกง จีน ถ้า BIMSTEC ร่วมมือกันดึงเทรดเดอร์จากอินเดียตลาดใหญ่ เพราะอินเดียจะเป็นทั้งผู้ซื้อสินค้าและนำสินค้าเข้าไปพักและส่งออกกระจายทั่วโลก

รวมทั้งสมาชิกอื่น ๆ เป็นโอกาสได้เจอลูกค้าใหม่ ๆ การคอนโทรลวัตถุดิบสู่ตลาด ทำให้กำหนดราคารองรับได้ แทนที่จะให้พ่อค้าคนกลาง เทรดเดอร์ ต่อรองราคา ซึ่งศักยภาพจังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งพลอยสี การเดินทางสะดวก และตลาดการซื้อขายมีความปลอดภัย

ทั้งนี้ได้เชิญผู้ประกอบการและเทรดเดอร์มาร่วมงานบางกอกเจมส์ (Bangkok Gems & Jewelry Fair 2023) ที่ผ่านมา และงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี ประจำปี 2566 (International Chanthaburi Gems and Jewelry Festival 2023) วันที่ 7-11 ธันวาคม 2566

เสียดายโอกาสที่ผ่านมา 25 ปีที่ BIMSTEC ไม่ขับเคลื่อนอะไร ปี 2565-2566 ประเทศไทยเป็นประธาน ภายหลังการประชุมครั้งนี้ ได้เสนอให้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจบิมสเทค เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในกรอบบิมสเทค

ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) : GIT เสนอให้เจรจากับอินเดีย เรื่องกรอบการค้าเสรี FTA เพื่อทำความตกลงลดกำแพงภาษีต่าง ๆ โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือด้านต่าง ๆ” นายชายพงษ์กล่าว

สรุปความร่วมมือค้าอัญมณี 5 ข้อ

นายชายพงษ์กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมสรุปความร่วมมือเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในกลุ่ม BIMSTEC 5 ข้อ คือ 1) อินเดีย เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่ม BIMSTEC และเป็นตลาดส่งออกหลักใน 10 อันดับแรก เป็นแหล่งค้าเพชรให้ไทย มีบริษัทอินเดียจำนวนมากทำธุรกิจค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับในไทย การค้าระหว่างไทยกับอินเดียสามารถเพิ่มขึ้นได้อีก หากอินเดียให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับไทยเหมือนที่ให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

2) ศรีลังกาเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอัญมณีสำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีความอุดมสมบูรณ์ของพลอยสี หลากหลายประเภทมากกว่า 75 ชนิด โดยเฉพาะแซปไฟร์ซีลอน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ใฝ่หาจากตลาดทั่วโลก ทั้งในแง่ความสวยงามและนำมาเก็งกำไรเพื่อการลงทุน

เนื่องจากไทยมีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบจากศรีลังกา แต่ศรีลังกามีข้อจำกัดในการเพิ่มมูลค่าพลอยก้อนโดยการเผาและเจียระไน ก่อนส่งออกไปขายในต่างประเทศ หากมีความเป็นไปได้ที่จะลดข้อจำกัด หรือกำหนดโควตาให้บริษัทจดทะเบียนส่งออกพลอยก้อนบางส่วนมายังประเทศในกลุ่มได้ และไทยอาจแลกเปลี่ยนให้ความร่วมมือเรื่องความเชี่ยวชาญให้กับศรีลังกาได้ เช่น การพัฒนาบุคลากรในการตรวจสอบอัญมณี การเจียระไน การออกแบบ และการผลิตเครื่องประดับ

BIMSTEC

3) เมียนมาเป็นแหล่งจำหน่ายทับทิมสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และลูกค้าทั่วโลกมีความต้องการเป็นอย่างมาก เมื่อเมียนมาเปิดค้าขายเป็นปกติ เชื่อว่าการค้าขายพลอยสีระหว่างไทยกับเมียนมาจะกลับมามากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมรออยู่

4) หากมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค การเข้าตลาด ตลอดจนแนะนำ พันธมิตรท้องถิ่นที่ดีให้กับนักธุรกิจต่างชาติ จะทำให้ขยายการค้าระหว่างกันได้มากขึ้น 5) หากประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ต้องการความร่วมมือจากไทยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไทยมีความยินดีให้ความร่วมมือในทุกด้าน เช่น ด้านวิชาการ การพัฒนาองค์ความรู้ หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

ข้อมูลกรมศุลกากรไทย : การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในกลุ่ม BIMSTEC ในปี 2022 การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน มีมูลค่าการค้ารวม (มูลค่าส่งออกกับมูลค่าการนำเข้า) 3,107.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.36% จากปี 2021 (มูลค่า 2,080,788,216.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เป็นการค้ากับอินเดียมากที่สุด ในสัดส่วนถึง 95.95% รองลงมาเป็นศรีลังกา 2.36% และเมียนมา 1.67% ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการค้ากับบังกลาเทศ เนปาล และภูฏาน ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น

สินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังอินเดีย ได้แก่ เพชรเจียระไน เครื่องประดับเงิน พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินเดีย ได้แก่ เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน สินค้าหลักที่ไทยส่งออกและนำเข้าจากศรีลังกา คือ พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพชรเจียระไน สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังเมียนมาเป็นเครื่องประดับทอง

ส่วนสินค้าหลักซึ่งไทยนำเข้าจากเมียนมา เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ส่วนใหญ่ราว 90% เป็นการนำเข้าทับทิม ที่เหลือเป็นแซปไฟร์ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังบังกลาเทศ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน สินค้านำเข้าหลักจากบังกลาเทศ คือ เครื่องประดับเทียม

ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังเนปาลเป็นเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม และพลอยก้อน ส่วนไทยนำเข้าเครื่องประดับเทียมและเครื่องประดับเพชรจากเนปาล สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกหลักไปยังภูฏาน คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน

ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากภูฏาน คือ เครื่องประดับเทียมและเครื่องประดับเพชร โดยอินเดียเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าของไทย ส่วนศรีลังกา เมียนมา บังกลาเทศ เนปาล และภูฏาน เป็นคู่ค้าของไทย