
ความตกลงปารีสได้กำหนดเป้าหมายควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และมีความมุ่งมั่นความพยายามที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
ขณะที่ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2050 และจากนั้นในปี 2065 จะเป็น Net Zero Emission ซึ่งหมายถึงการลดก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ตัวให้กลายเป็นศูนย์
แต่การลดก๊าซเรือนกระจก 7 ตัว โดยเฉพาะเจ้าคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดเกือบ 80% จากเจ้าต้นเหตุก๊าซเรือนกระจก 7 ตัว คำนวณแล้วหากจะใช้วิธีลดด้วยการปลูกป่าทั้งประเทศอาจจะไม่พอ
ดังนั้น ไทยอาจจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาเสริม และต้องพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) หรือเทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) ด้วย
CCUS เกิดมานานแล้ว
รศ.ดร.จินตวัฒน์ ไชยชนะวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวในการบรรยายหลักสูตรการบริหารจัดการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ETC) รุ่นที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE 100) ว่า เทคโนโลยีเรื่องการดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCUS เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1970
ปัจจุบันมีการใช้แพร่หลายในอเมริกา และยุโรป โดยช่วงแรกจะนิยมใช้ในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม เช่น การขุดเจาะน้ำมัน แต่ในภายหลังก็แพร่หลายออกมาสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า ไฟฟ้า เป็นต้น
ในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2070 จะใช้วิธีการนี้ในสัดส่วนประมาณ 15% ของวิธีการและเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดการปล่อยก๊าซทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฮโดรเจน การใช้พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ การใช้ไบโอเอเนอร์จี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี CCS และ CCUS นี้ยังมีต้นทุนที่สูง หลายอุตสาหกรรมอาจจะไม่คุ้ม แต่หากไม่ทำก็ไม่ได้ หรืออาจจะเรียกว่า “จำเป็นต้องมี” เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะไม่สามารถเป็น Net Zero ได้ตามเป้า
ดังนั้น หากต้องการให้การพัฒนา CCUS สำเร็จ เพื่อผลักดันให้ประเทศเข้าสู่ Net Zero ตามเป้าหมายได้ รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เริ่มมีการใช้งานมากขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเสถียรมากขึ้น และจะคุ้มค่ากับการลงทุน
4 ข้อต้องรู้ ก่อนทำ CCUS
เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ต้องใช้การลงทุนสูง จำเป็นต้องพิจารณารอบคอบหลายด้าน ดังนี้
1.แหล่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเป็นวัตถุดิบที่จะเข้าไปดูดกลับนั้นจะมาจากแหล่งใด เช่น ธุรกิจออยล์และก๊าซธรรมชาติ เคมิคอล ปุ๋ย อุตสาหกรรมหนัก ไฟฟ้า เพราะหากแหล่งวัตถุดิบไม่มากพอจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ที่ผ่านมาจึงเห็นการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมหรือแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ ๆ ของบริษัทพลังงานชั้นระดับโลก
2.การแยกและดักจับจะเน้นอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ก่อนจึงจะคุ้ม ซึ่งวิธีการจะมีทั้งดักจับคาร์บอนตอนที่เผาไหม้เสร็จแล้ว (Post Combustion) แยกคาร์บอนกับไนโตรเจน เทคโนโลยีจัดการคาร์บอนก่อนเอาเชื้อเพลิงเข้าระบบ (Precombustion) หรือ Oxy Feel Combustion เติมออกซิเจนไปในสัดส่วนที่มากขึ้น
3.การขนส่งมีหลากหลายวิธี เช่น ทางท่อ เรือ ราง หรือรถ เพื่อให้ผู้ใช้หรือขนไปอัดลงหลุมที่อาจจะไม่ได้อยู่ในโรงงาน ถ้าไกลมาก การใช้เป็นท่อกับเรือจะมีความคุ้มค่ามากกว่า ยกตัวอย่างปัจจุบันมีการใช้ท่อขนส่งระยะทาง 8,000 กม.ในสหรัฐ
และหากเทียบต้นทุนการขนส่งทางท่อจะต่ำที่สุด สำหรับบนบกอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนต่อ กม. และนอกชายฝั่ง 10 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนต่อ กม. ส่วนการขนส่งทางเรือนิยมใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ปริมาณการขนส่งเฉลี่ย 1,000-50,000 ตันคาร์บอน ต้นทุน 15 เหรียญสหรัฐต่อตันต่อ กม.
การขนส่งผ่านรถบรรทุกใช้ในอุตสาหกรรมเคมีและอาหาร ปริมาณ 2-30 ตันต่อคัน ต้นทุน 22 เหรียญสหรัฐต่อตันต่อ กม. ส่วนรางแทบจะไม่มีการใช้เลย ขนาดการขนส่งเฉลี่ย 30-1,000 ตัน ต้นทุน 13 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนต่อ กม.
4.การใช้ประโยชน์ กักเก็บ มีเทคโนโลยีต่าง ๆ หลากหลายวิธี เช่น จะเก็บทางธรณีวิทยาที่เหมาะสม หรือใช้ในการปรับปรุงการขุดเจาะน้ำมัน (EOR) และใช้ประโยชน์เพื่ออะไร เช่น จะเก็บถาวรหรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่า เป็นต้น
ตัวอย่างในประเทศไทย
ตัวอย่างของการใช้ระบบ CCUS ทั่วโลกมีการใช้มานานแล้ว โครงการใหญ่ ๆ อยู่ใน สหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา ติมอร์เลสเต และจีน ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน (กราฟิก)
แต่สำหรับในประเทศไทย ที่ผ่านมามีหลายองค์กรที่ได้มีการพัฒนาโครงการด้าน CCUS อย่าง สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย ได้จัดทำ “โรดแมป” การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดเป้าหมายว่า ปี 2030 จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50% ของปริมาณการปล่อย และจะลดการปลดปล่อยเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 เพราะเป็นอุตสาหกรรมปล่อยมากที่สุด โดยกำหนดแนวทางดำเนินการหลายแนวทาง ซึ่งแนวทางสำคัญคือ CCUS คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึง 45%
ยกตัวอย่าง โครงการของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ใช้เทคโนโลยี ESCAP ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่น “จ่ายคนละครึ่ง” เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทดลองระดับภาคสนามในญี่ปุ่นแล้ว มาสร้าง “โชว์รูม” ในต่างประเทศ จึงได้มาลงทุนร่วมกับ SCG
โดยประกาศโครงการเมื่อเดือนมกราคม 2023 โดยนิปปอนสตีล คือมีคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตก็ดักจับ และเอาเข้ามาผ่านกระบวนการผสมไฮโดรเจนที่สะอาดมา จะทำให้ได้ “มีเทน” และนำเอามีเทนไปใช้กับอุตสาหกรรมซีเมนต์ ผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อนเป็น CCUS ว่ากันว่างบฯลงทุนโครงการนี้อยู่ที่ 1,000 ล้านเยน จ่ายกันคนละครึ่ง เป้าหมายของการดัก 1 ตันคาร์บอนต่อวัน
หรืออย่าง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ประกาศโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) (แต่ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์) โดยเป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่นอกชายฝั่งอาทิตย์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565
ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างศึกษาด้านวิศวกรรมและการออกแบบ (Prefeed) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการ CCS ได้ในปี 2569 นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังทำเอ็มโอยูกับ JGC Holding ญี่ปุ่น และ INPEX เกี่ยวกับโครงการริเริ่มการดักจับและกักเก็บคาร์บอนของประเทศไทย ทำการสำรวจเชิงลึกมากขึ้น
ความท้าทาย CCUS
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศยังพบข้อมูลคล้ายกันว่า การพัฒนา CCUS ยังมีความท้าทายหลักใน 4 ด้าน ที่จะต้องแก้ไข คือ ด้านที่ 1 ขอให้รัฐให้ความชัดเจนในกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ในการดำเนินงาน เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้
ด้านที่ 2 คือ การสร้างแรงจูงใจด้านการลงทุน ด้านการเงิน โดยต้องอาศัยทั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนอย่าง บีโอไอ อีอีซี ออกมาตรการดึงดูดการลงทุน ด้านที่ 3 ต้องสร้างความเข้าใจให้คน เพื่อลดความวิตกกังวล เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดความไม่เข้าใจอาจจะกังวลว่าเมื่อเก็บ CCS ไว้แล้ว จะเหมือนการพัฒนานิวเคลียร์หรือไม่ หรือมีความจำเป็นอะไรที่ต้องทำ ซึ่งจากการศึกษามาตั้งแต่ปี 1970 ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีประเด็นปัญหาผลกระทบจากการใช้ระบบนี้
และสุดท้าย ด้านที่ 4 การจะลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาจุดคุ้มทุนอย่างรอบคอบ เช่น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ดักจับได้ปริมาณเยอะหรือไม่ ถ้าห้องเล็กไม่ต้องมีดูดฝุ่น แค่ใช้ไม้กวาดก็เพียงพอแล้ว