เตือนผู้ส่งออกรับมือคู่ค้าเบี้ยวหนี้ ออร์เดอร์ไตรมาส 3 ทรุด-ต้นทุนพุ่ง

ผู้ส่งออกทางเรือ

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเกิน 1 เดือน ทุบคำสั่งซื้อไตรมาส 2 วูบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ สรท.ออกโรงเตือนรับมือผู้นำเข้าสินค้าผิดชำระหนี้-ขาดสภาพคล่อง คู่ค้าจำนวนมากขอยืดเครดิตเทอมนานขึ้น หวั่นออร์เดอร์งวดไตรมาส 3 ทรุดหลังต้นทุนสินค้าส่งออกพุ่ง 15% บิ๊กธุรกิจชี้ต้นทุนค่าระวางเรือพุ่ง เส้นทางสหรัฐ-ยุโรปอ่วม

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องตึงตัว ซึ่งผู้ส่งออกต้องระมัดระวังเรื่องการผิดนัดชำระหนี้จากคู่ค้าที่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด

“แม้ว่าจากการติดตามสถานการณ์ส่งออกล่าสุดถึงวันที่ 5 เมษายน 2565 จะยังมีคำสั่งซื้อ แต่เชื่อว่าในอนาคตมากกว่า 50% มีโอกาสที่ผู้นำเข้าจะเจรจาขยายเวลาการชำระหนี้นานขึ้นจาก 30 วัน เป็น 60 วัน โดยปรับรูปแบบการออก letter of credit (L/C) ซึ่งเป็นหนังสือค้ำประกันจากธนาคารในการส่งมอบสินค้า อาจจะมีการเจรจาใหม่รูปแบบการซื้อขายด้วยเงินสด เป็นต้น”

ส่วนกรณีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 เดือน ทาง สรท.ประเมินว่าหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อจะกระทบต่อการส่งออกไทยไตรมาส 2 คำสั่งซื้อจะลดลงประมาณ 4,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะยังมีคำสั่งซื้อแต่ก็ได้สัญญาณว่าปริมาณการส่งออกลดลง ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้น 5-15% เพราะจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาวัตถุดิบการเกษตร แร่ธาตุ ปุ๋ย ธัญพืช เหล็ก และราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี สรท.คาดการส่งออกของไทยในไตรมาส 2/2565 จะเติบโตที่ 2-4% ลดลงจากไตรมาสแรกที่คาดว่าจะขยายตัว 8% ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทย ปี 2565 ขยายตัว 5% มีมูลค่า 284,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากจะส่งออกได้ตามเป้าหมายนี้ ไทยต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนที่ 23,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

“สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมก็เริ่มมีการเจรจาตกลงซื้อขายสินค้าลอตใหม่ด้วยราคาและปริมาณใหม่แล้ว มีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังเชื่อว่าตลาดยังมีความต้องการสินค้า แต่ปริมาณนำเข้าจะลดลง โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณการส่งออกลดลง

เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น ที่ส่งออกไปยังรัสเซีย ยุโรปตะวันออก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อีกด้านจากปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการสินค้าอาหารและเกษตรปรับเพิ่มมากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรไทยในปีนี้จะเติบโต ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำตาล”

นายชัยชาญกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ค่าระวางเรือในปี 2565 เส้นทางที่มีการปรับขึ้นราคา คือ สหรัฐและยุโรป ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นเอกชนบางรายแจ้งว่าต้นทุนค่าขนส่งเส้นทางสหรัฐ ปรับขึ้น 20%

ขณะที่สหภาพยุโรปเวลานี้ปรับราคาขึ้นเป็น 12,000-13,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จากในช่วงที่ผ่านมาค่าระวางเรือเคยจะอยู่ที่ 2,000-3,000 เหรียญสหรัฐ เป็นผลจากปัญหาสงครามราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ส่วนเส้นทางเอเชีย ค่าระวางเรือยังทรงตัวและปรับลดลงตามความต้องการ โดยทาง สรท.จะประเมินผลกระทบอีกครั้งภายในเดือนเมษายน 2565 นี้

“ผลกระทบทางตรงจากความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนต่อการส่งออกของไทยไม่มากนัก เพราะตลาดนี้มีมูลค่าน้อย แต่สำหรับลูกค้าในฝั่งสหภาพยุโรปมีสัญญาณชะลอคำสั่งซื้อสินค้าใหม่บ้างแล้ว เนื่องจากการขนถ่ายสินค้ามีปัญหา หลังจากท่าเรือในรัสเซียและยูเครนถูกปิด ทำให้มีปัญหาด้านการขนส่ง ซึ่งต้องมีการวางแผนและเจรจาล่วงหน้า

และผลทางอ้อมจากสถานการณ์สงคราม ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น กระทบโดยตรงต่อค่าระวางเรือขนส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยมองว่าสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือจะสามารถผ่อนคลายลงได้แล้ว แต่สงครามทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับมาชัดเจนอีกครั้ง”

นายชัยชาญกล่าวว่า จากสถานการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ทาง สรท.จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ หรือซอฟต์โลน เพื่อให้กระแสเงินหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ การผลิตสินค้า จนถึงสิ้นปี 2565

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร.ยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2565 ขยายตัวตามกรอบ 3-5% โดยยังติดตามผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่อาจจะกระทบการส่งออก โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่น ๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารปรับสูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น

ขณะที่การส่งออกสินค้าไปจีน ซึ่งใช้มาตรการตรวจสอบโควิด Zero COVID เข้มข้น รัฐบาลจีนได้รับข้อเสนอฝ่ายไทยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเจรจา ขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลจีนได้สั่งการให้ส่งเจ้าหน้าที่จีนเข้าตรวจผลไม้ในประเทศไทยก่อนส่งออกไปจีน รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำด่าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนมากขึ้น