กกร. ลดคาดการณ์จีดีพีเหลือ 4.0%

กกร. ลดคาดการณ์จีดีพีเหลือ 4.0%

ปัจจัยเสี่ยงยังรุมเศรษฐกิจไทย พลังงานพุ่ง สินค้าปรับขึ้น เงินเฟ้อสุดสุดในรอบ 10 ปี วอนรัฐทบทวนเลื่อนใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ 1 มิ.ย.  หวั่นทำธุรกิจแบกรับต้นทุน 50,000 ล้านบาท

วันที่ 5 เมษายน 2565 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกปี 2565 ไม่แจ่มใส ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อสินค้าพลังงานและสินค้านำเข้า

ดังนั้นจึงปรับประมาณการ GDP ปี 2565 (ณ เม.ย.65) โต 2.5-4.0% ลดลงจากเดิมที่คาเการณ์ไว้ว่าจะโตได้ในกรอบ 2.5-4.5% โดยเงินเฟ้อปรับขึ้นเป็น 3.5-5.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2-3% เท่านั้น ขณะที่การส่งออกยังคงไว้ที่กรอบเดิม 3-5%

โดยปัจจัยหลักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ คือการที่ภาครัฐคลายล็อกมาตรการ Test & Go ด้วยการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวกลับมาให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มทะยานสูงขึ้น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง ความตึงเครียดดังกล่าวกดดันให้อุปทานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีทิศทางตึงตัว โดยทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ในกลุ่มเกษตรและกลุ่มโลหะก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน

โดย OECD ประเมินว่า วิกฤตรัสเซียและยูเครนจะทำให้เศรษฐกิจโลกโตน้อยลงกว่าเดิมกว่า 1% และทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 2.5% จากที่ประเมินไว้ก่อนเกิดวิกฤต ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนที่ทำให้หลายพื้นที่ต้องล็อกดาวน์ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ การล็อกดาวน์พื้นที่ในจีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่น้อยลงกว่าเดิม

รวมทั้งอาจเกิดภาวะ supply chain disruption ที่รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้หลายประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มเติบโตลดลงเช่นกัน รวมถึงตลาดการเงินเริ่มกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปี คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.9% เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ

ดังนั้น แม้ว่าวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยตรงไม่มากนัก แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่น ๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะหากไปทำให้ราคาอาหารสดและราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงรอบด้าน แต่ยังคาดว่าจะเติบโตได้ ความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยู่กับโควิด-19 แบบเป็นปกติมากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้

หากมีการยกเลิกมาตรการ Test & GO จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ในยามที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ มีข้อจำกัด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เกิน 3%

นอกจากนี้ กกร. มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้น ภาครัฐควรพิจารณาต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565
ขณะที่สถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยไปจีน เป็นปัญหาที่ภาคเอกชน ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่มีการเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลจีน ได้มีการสั่งการให้ส่งเจ้าหน้าที่จีนเข้าตรวจผลไม้ในประเทศก่อนส่งออกไปจีน รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนอีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งสำหรับการดูแลคุณภาพและความปลอดภัย ก็ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่จะมีการประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีการส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน ให้นำแนวทางปฏิบัติของจังหวัดจันทบุรี เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยจากโควิดในผลไม้ ไปใช้สำหรับเกษตรกรชาวสวน ล้ง และผู้ประกอบการขนส่ง นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยผลักดันประเด็นการแก้ไขปัญหานี้ด้วย

ทั้งนี้ กกร. ยังเสนอให้ภาครัฐพิจารณาแผนสำรองในการส่งออกผลไม้ ผ่านทางเรือและทางอากาศ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้มากขึ้น นอกเหนือจากนี้ ปัญหาการส่งออกทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เพื่อให้การบริหารจัดการทุเรียนเพื่อการส่งออก มีระบบการจัดการที่มีคุณภาพอย่างปลอดภัย ตามเกณฑ์ GAP,GMP+, SHA โดยคาดหมายว่าจะเริ่มส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนผ่านระบบการจัดการดังกล่าว ได้ในเดือนเมษายน 2565

อย่างไรก็ตาม กกร. ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวให้อยู่รอด อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายลำดับรอง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และควรมีเวลาให้ทุกภาคส่วนพิจารณาทำความเข้าใจพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ นี้ด้วย

กกร. จึงมีความเห็นว่าภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการพิจารณากฎหมายลำดับรอง จึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้ไปก่อน ประมาณ 2 ปี เพราะจะทำให้เป็นต้นทุนที่เอกชนทุกขนาดต้องแบกรับคิดเป็นมูลค่าทั้งระบบกว่า 50,000 ล้านบาท