ปรับสูตรใหม่อุดหนุนดีเซล “เหล็ก-รถยนต์-ปุ๋ย-วัสดุก่อสร้าง” ขยับราคาอีก

สิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตร ดีเดย์ 1 พ.ค. 65 ค่าขนส่ง-โลจิสติกส์-วัสดุก่อสร้าง-เหล็ก-รถยนต์-ปุ๋ย จ่อขยับราคาขึ้นแน่ สหพันธ์ขนส่ง-รถบรรทุกขอขึ้น 15-20% “สุพัฒนพงษ์” รมว.พลังงาน เผยสูตรอุดหนุนดีเซลราคาใหม่ คาดขึ้นไม่ถึง 35 บาท/ลิตร เหตุ “กลัวคนช็อก” ทยอยขึ้นเป็นขั้นบันได

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2565 จากข้อเท็จจริงที่ว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถที่จะหาแหล่งเงินใหม่ ๆ เพื่อเข้ามา “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลได้อีกต่อไป โดยสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิล่าสุด

ปรากฏกองทุนติดลบถึง -56,278 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลเองจำยอมต้องปรับลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซลลงมา “ครึ่งหนึ่ง” ของราคาที่น้ำมันที่จะปรับสูงขึ้น ส่งผลให้หลังวันที่ 1 พ.ค. ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ประมาณลิตรละ 35.50 บาท

เผยสูตรอุดหนุนราคาดีเซลใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรว่า ในหลักการราคาส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะอุดหนุนครึ่งหนึ่งเพื่อกำหนดเป็นกรอบเพดานใหม่

และส่วนที่เกินจากกรอบเพดานใหม่จะสามารถ “อุดหนุนให้ต่ำกว่าเพดาน” ส่วนราคาที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไหร่นั้น ได้มอบหมายให้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ไปพิจารณา ซึ่งราคาอาจจะน้อยกว่าเพดานใหม่ที่กำหนดขึ้นก็ได้

“วันนี้ราคาน้ำมันดีเซลขึ้น 40 บาทต่อลิตร ซึ่งส่วนที่เกินมาคือ 10 บาทต่อลิตร เมื่อรัฐเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่ง ราคาเพดานใหม่จะอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร โดยให้ปลัดกระทรวงพลังงานไปดูว่า ราคาจริงจะอยู่ที่เท่าไหร่ อยู่ดี ๆ จะไปขึ้นราคาดีเซลลิตรละ 35 บาท ไม่ได้หรอก ประชาชนเดือดร้อนแน่ เร็วไป ให้ปลัดพลังงานไปดูว่า range ควรจะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ อาจจะเป็น 32 บาทต่อลิตรก็ได้ ค่อย ๆ ขึ้นไป

ดังนั้น รัฐบาลจะอุดหนุนมากกว่า 50% โดยใช้งบประมาณอุดหนุนจากเงินกู้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยราคาน้ำมันดีเซลขณะนี้อยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนราคาอยู่ที่ลิตรละ 10 บาท หรือคิดเป็นเงินอุดหนุนเดือนละ 6,000 ล้านบาท”

ส่วนความเป็นไปได้ในการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลนั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า “ก็ไม่เชิง” ช่วงเวลานี้เป็นช่วงวิกฤต แต่จะมีการประเมินทุก ๆ 3 เดือน

ส่วนราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามราคาค่าขนส่งนั้น บริษัทผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีสูตรการปรับราคาสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์และซัพพลาย “ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ไปเหมือนกันว่า ภาคเอกชนก็ต้องลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับประชาชน เพราะต้องช่วยเหลือกันในยามนี้จะเดินผ่านไปได้

วิกฤตช่วงนี้เป็นวิกฤตที่แตกต่างจากกรณีโควิด-19 สินค้าขึ้นทุกอย่าง เราลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศในสินค้าที่แพง อะไรที่ใช้ในประเทศได้ก็ใช้ในประเทศ ถ้าภาคอุตสาหกรรมช่วยกันเพิ่ม productivity เพื่อประหยัดต้นทุนได้ ไม่ส่งต้นทุนที่สูงทั้งหมดกลับมาที่ประชาชน ประชาชนก็ประหยัดในส่วนสินค้านำเข้า แล้วไปใช้สินค้าในประเทศก็จะช่วยเหลือกันไปได้”

ด้าน นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน (กบน.) อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ตามแนวทางการอุดหนุนราคาดีเซล “คนละครึ่ง” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ในลักษณะการปรับราคาดีเซลขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งรายละเอียดจะมีความชัดเจนภายใน 2-3 วันนี้

ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด ณ วันที่ 24 เม.ย. 2565 ปรากฏติดลบอยู่ -56,278 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ -24,302 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ -31,976 ล้านบาท

ดังนั้นถ้าจะให้ตรึงราคาดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรต่อไป “ก็คงไม่ไหว” และจำเป็นต้องทยอยปรับราคาดีเซลขึ้นแบบขั้นบันได โดยรัฐยังอุดหนุนครึ่งหนึ่งเพราะต่อให้น้ำมันดีเซลไม่ปรับขึ้น ราคาวัตถุดิบ/สินค้าอื่นก็ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้อยู่ดี

มีรายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานเข้ามาว่า รัฐบาลจะปล่อยให้ราคาดีเซลปรับขึ้นแบบขั้นบันได โดยกองทุนจะเข้าไปอุดหนุนราคาครึ่งหนึ่งของอัตราที่ปรับขึ้น ณ จุดเริ่มต้น คือ 30 บาท/ลิตร อาจจะปรับขึ้นครั้งละ 50 สตางค์/ลิตร หรือ 1 บาท/ลิตร เป็น 31, 32, 33 บาท/ลิตร ไม่ปรับขึ้นครั้งเดียวที่ 35 บาท/ลิตร เพราะ “ประชาชนจะช็อก”

โดยความถี่อาจจะ 3-4 วัน ปรับขึ้นราคาครั้งหนึ่ง ซึ่งตัวแปรหลักขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก ยกตัวอย่าง ถ้าราคาตลาดโลกขึ้นแล้วลง อาจปรับขึ้นไม่เต็มที่ หรือไม่ปรับขึ้นก็ได้

ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ศึกษาสมมุติฐานไว้ 3 สถานการณ์ คือ กรณีราคาน้ำมันดิบดูไบ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาดีเซลในประเทศจะอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร เงินเฟ้อ 5% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โต 3.5% ซึ่งน่าจะเป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับสภาพจริงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วงนี้เคลื่อนไหว 100 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

แต่หากราคาน้ำมันดิบดูไบ 125 เหรียญ/บาร์เรล ดีเซลจะอยู่ที่ 40 บาท/ลิตร เงินเฟ้อ 6.2% GDP โตลดลงเหลือ 3.2% และกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบ 150 เหรียญ/บาร์เรล ดีเซลจะอยู่ที่ 46 บาท/ลิตร เงินเฟ้อ 7.2% GDP โตลดลงเหลือ 3%

รถบรรทุกขึ้นค่าขนส่งแน่

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังการปรับขึ้นน้ำมันดีเซลจะตกหนักอยู่กับภาคการขนส่ง ล่าสุด นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า พร้อมที่จะปรับขึ้นค่าขนส่ง 15-20% และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการ “ยกเลิก” มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล

ขณะที่ นายชวลิต สุวิทย์ศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและพัสดุด่วนทั่วประเทศ กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงมากตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทอย่างมาก

โดยพบว่าต้นทุนในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นราว 40% และล่าสุดราคาน้ำมันดีเซลยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเข้าสู่ไตรมาส 2/2565 มีผลทำให้ต้นทุนของบริษัทในขณะนี้เพิ่มขึ้นถึง 60% แล้ว

“บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมแผนปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งสินค้า ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้น 5-10% ในช่วงราวไตรมาส 2 หรืออย่างช้าไตรมาส 3/2565 เพราะราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนหลัก หากบริษัทยังคงตรึงราคาค่าบริการขนส่งในอัตราเดิมก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการประกอบการที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันได้ยึดแนวทางการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งระบบและควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัททุกด้าน การปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งสินค้าจะพิจารณาจากต้นทุนตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจการขนส่งโลจิสติกส์มีการแข่งขันสูง หากมีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งในอัตราที่สูงมากเกินไป จะทำให้ฐานลูกค้าของบริษัทต้องมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นการปรับราคาค่าบริการขนส่งจึงต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสม” นายชวลิตกล่าว

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรขยายเวลาตรึงราคาน้ำมันดีเซลออกไปอีกสัก 1-2 เดือน ไม่เช่นนั้นเรือประมงทั้งประเทศจะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นมากจากราคาน้ำมันได้ ส่งผลให้เรือประมงต้องวิ่งกลับเข้าฝั่งเพื่อจอดที่ท่าเรือทั้งหมด เนื่องจากน้ำมันคิดเป็นค่าใช้จ่ายถึง 60% ประกอบกับรถขนส่งสินค้าสัตว์น้ำอาจจะต้องขึ้นค่าขนส่ง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอีก

“ตอนนี้น้ำมันเขียวในทะเลมีราคาสูงกว่าน้ำมันดีเซลบนฝั่งแล้ว ก่อนหน้านี้ตอนที่ราคาใกล้เคียงกัน เรือประมงก็จะมาเติมน้ำมันดีเซลบนฝั่ง ส่วนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เรือประมงที่เป็นสมาชิกของสมาคมการประมงสมุทรสาครหยุดวิ่งไปแล้ว 10-20% เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว”

เงินเฟ้อถล่มซ้ำ

นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง กล่าวว่า ราคาน้ำมันตอนนี้ยังส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจไม่มากนัก เนื่องจากรัฐบาลยังอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่

แต่หลังจากกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เมื่อมีการประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลไปแล้วก็จะส่งผลให้ “ค่าขนส่ง” น่าจะปรับตัวสูงขึ้น 15-20% ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในระยะเวลาอันสั้นไม่น่าเกินเดือนมิถุนายน ผู้ประกอบการคงต้องปรับราคาสินค้าขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง

ส่วน “เงินเฟ้อ” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคต้องปรับราคาสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามตรึงราคาสินค้าเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชนทั่วไป แต่เมื่อสภาพเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมากเช่นนี้คงทยอยปรับราคาขึ้นกันตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม

เกษตรอ่วมขอคูปองช่วยน้ำมัน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรฯเตรียมนำเสนอข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรี ในเรื่องต้นทุนภาคเกษตรอย่างเร็วสุดช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรทุกอย่างแพงขึ้นหมดทั้งปุ๋ย-ยา ยิ่งราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้นไปที่ลิตรละ 35 บาท ถ้ารัฐบาลไม่ยอมตรึงราคาต่อก็เป็นเรื่องที่แก้ยาก

“เป็นได้ไหมที่จะขอให้กระทรวงพลังงานช่วยพิจารณาให้เกษตรกรชาวนาที่ขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว ได้ใช้น้ำมันที่มีราคาลดลงผ่านทางพิเศษ อาจจะทำเป็นลักษณะคูปองให้เกษตรกรก็ได้”

ด้าน นายกองเอกเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตและผู้นำเข้าปุ๋ยประมาณ 20-30 ราย ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้ กรมการค้าภายใน พิจารณาปรับขึ้นราคาปุ๋ยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะต้องยอมรับว่าต้นทุนราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยทั้งยูเรีย-โพแทสเซียม-ฟอสเฟตได้ปรับสูงขึ้นไปหมดแล้ว

จากการที่น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นราคา สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนย่อมส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบดังกล่าวให้ปรับขึ้นตาม ขณะเดียวกันประเทศผู้ส่งออกก็เริ่มจำกัดปริมาณการส่งออกวัตถุดิบปุ๋ยเพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ส่วนผู้นำเข้าต่างมีความต้องการเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาวัตถุดิบในตลาดมีการปรับตัวสูงขึ้น และยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าขนส่งอีก

“สต๊อกปุ๋ยในปัจจุบันมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ เพราะผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้นำเข้าปุ๋ย ต้องรอการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาก่อนได้ เนื่องจากกังวลเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากการพิจารณาช้าจะส่งผลต่อการผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในฤดูการผลิตใหม่ที่จะถึงนี้ได้”

นายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปีนี้ 2565 บริษัทยังคงตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะเผชิญวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบจากปัจจัยราคาน้ำมัน โลจิสติกส์ โดยเฉพาะราคาเหล็กโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งราคาปรับสูงขึ้นมาระยะก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามแล้ว

ทั้งนี้ ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายภาคเกษตรไทยอย่างมาก บริษัทจึงมุ่งเน้นให้เกษตรกรปรับการปลูกให้เหมาะสม เน้นเพิ่มผลผลิตต่อไร่ แชร์องค์ความรู้ทั้งการเพาะปลูกที่แม่นยำและนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้

นางสาวนันทภรณ์ อังศุกุลธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกษตรอินโน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท สยามคูโบต้า ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรรายใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาเหล็กสูงขึ้นเป็น 2 เท่า กระทบต้นทุนผลิตเครื่องจักรกลเกษตรมีผลต่อยอดขายบางรายการ ไตรมาส 2 ยังคงมีแนวโน้มดี เกษตรกรสามารถปรับตัวได้ แต่อาจจะชะลอไปบ้างจากผลกระทบจากราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย แต่ยังไม่กระทบยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ นายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทยังคงตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 63,000 ล้านบาท แม้ว่าจะต้องเผชิญวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบจากปัจจัยราคาน้ำมัน โลจิสติกส์ โดยเฉพาะราคาเหล็กโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

เหล็ก-คอนกรีตอั้นไม่ไหว

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทาสตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้น 300-400 บาท/ตัน และแน่นอนว่า อัตราค่าขนส่งก็จะขยับขึ้นตามมา

ดังนั้นบริษัทจะต้องพิจารณาว่า มีสินค้าเหล็กประเภทใดบ้างที่ต้องผลักภาระให้กับผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้าและส่วนใดที่บริษัทสามารถแบกรับไว้ได้ก็จะรับไว้เอง

“ต้องยอมรับว่ามันกระทบวัตถุดิบหลายตัว ค่าขนส่ง ทั้งหมดมันทำให้ต้นทุนเพิ่ม ทาทาสตีลจึงขอเวลาดูสถานการณ์อีก 1 ครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไร และหากจำเป็นต้องปรับราคาเหล็กขึ้นก็น่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะต้องขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์”

ส่วน นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอนสตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับราคาน้ำมันดีเซลถือเป็นต้นทุนด้านพลังงาน และแน่นอนว่าจะกระทบทั้งต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนผลิต จากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศยังพยายาม “ตรึงราคา” ขายเหล็กไว้ เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคมากนัก แต่เมื่อต้นทุนวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเหล็กปรับขึ้นไปแล้ว “จึงจำเป็นต้องปรับราคาเหล็กเส้นขึ้นประมาณ 15%”

นอกจากสินค้าเหล็กที่ปรับขึ้นราคาไปแล้วนั้น ด้านผู้ค้าคอนกรีตที่ใช้เทพื้น-เสา-คานบ้านเรือนและอาคารพาณิชย์ก็ประกาศปรับขึ้นราคาด้วย โดยเป็นการบวกราคาเพิ่มขึ้นจากค่าขนส่งโดยเฉพาะ แบ่งเป็นระยะทาง 20-25 กม. บวกเพิ่ม 50 บาท, ระยะทาง 26-30 กม. บวกเพิ่ม 100 บาท, ระยะทาง 31-35 กม. บวกเพิ่ม 150 บาท และระยะทาง 36-40 กม. บวกเพิ่ม 200 บาท ยกตัวอย่าง คอนกรีตกำลังอัด 400 ราคาสุทธิ 2,050 บาท/ลบ.ม. ระยะทางจากแพลนต์ถึงหน้างาน 40 กม. จะต้องบวกเพิ่มค่าน้ำมันเข้าไปอีก 200 บาท/เที่ยว

ค่ายรถยนต์ขยับราคา

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงปัญหาด้านต้นทุนการผลิตรถยนต์ ทั้งภาวะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ราคาเหล็ก อะลูมินั่ม และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น จนมีแนวโน้มว่า “อาจจะทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน”

จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ต่าง ๆ แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่เชื่อว่า “มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการขยับราคาขาย” ซึ่งจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ รวมทั้งรถยนต์ในสต๊อกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดเซมิคอนดักเตอร์ด้วย

สอดคล้องกับผู้บริหารค่ายรถยนต์รายใหญ่ที่ยอมรับว่า ขณะนี้ปัญหาดังกล่าวเริ่มส่งผลชัดเจนและทำให้ค่ายรถยนต์หลาย ๆ ยี่ห้อต้องจับตาสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายญี่ปุ่น จีน ยุโรป และเร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวกัน โดยในช่วงปลายสัปดาห์นี้ หรือต้นสัปดาหน้า อาจจะได้เห็นค่ายรถบางค่ายออกมาประกาศปรับราคาจำหน่ายรถยนต์ขึ้น

“หลายค่ายเริ่มพูดถึงการปรับราคากันแล้ว เนื่องจากปัญหาต้นทุน แต่ยังไม่ใครกล้าออกมาประกาศอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน หรือบางค่ายก็อาศัยช่วงที่มีการปรับปรุงสินค้าที่เรียกว่าไมเนอร์เชนจ์ แล้วปรับขึ้นราคาไปบ้างก็มี อยู่ที่ว่าแต่ละค่ายจะใช้วิธีแบบไหน”

ก่อนหน้านี้ “ค่ายซูซูกิ” เป็นค่ายรถยนต์ค่ายแรกที่ออกมาประกาศความชัดเจนว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป จะมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายรถยนต์อีกคันละ 3,000 บาท ไปจนถึง 20,000 บาท เป็นผลมาจากราคาต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม โลจิสติกส์ และระบบซัพพลายเชน หลังจากที่บริษัทได้พยายามตรึงราคามาระยะหนึ่งแล้วเช่นเดียวกับ “ค่ายมิตซูบิชิ” ที่เพิ่งปรับราคาขาย มิตซูบิชิ “เอ็กซ์แพนเดอร์” แพงขึ้นอีก 10,000-32,000 บาท