ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ มศว.ปีที่ 70 ชูหลักสูตรดูแลสังคม

มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการ พร้อมทั้งต้องมองแนวโน้มอนาคตให้ขาดว่าภาคธุรกิจต้องการคนทำงานอย่างไร เพื่อปรับตัวพร้อมทั้งสร้างหลักสูตรในศาสตร์ใหม่ ๆ ให้บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) มีความโดดเด่นและแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์ “ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์” ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร

“ยุคลวัชร์” ฉายภาพของ มศว. ในการก้าวสู่ปีที่ 70 ว่า ตามนโยบายของผู้บริหาร เนื่องจากทุกสถาบันต่างก็อยู่ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลให้ มศว.ต้องเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะนักศึกษาในยุคนี้มีความแตกต่างในการใช้ชีวิตอย่างมาก เมื่อเทียบกับ Gen X และ Gen Y ที่ผ่านมา แต่เมื่อมองถึงจุดแข็งในเรื่องของหลักสูตรของ มศว.แล้ว เชื่อว่าสามารถปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรที่มีความหลากหลายและก้าวทันเทรนด์โลกการศึกษาได้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การค้นคว้าหาความรู้ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น จากการพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว ช่องทางการศึกษาใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นมากมายผ่านระบบ “internet” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นคว้าผ่าน “social network”

สถานการณ์การศึกษาในปัจจุบันนั้น “ยุคลวัชร์” บอกว่า การแข่งขันสูงมาก แต่ไม่ว่าจะแข่งขันอย่างไรทุกสถาบันต่างก็มีจุดแข็งของตัวเอง สามารถนำมาต่อยอดเป็นหลักสูตรต่าง ๆ ที่พัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น การเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีแค่มหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะสามารถค้นคว้าผ่านอินเทอร์เน็ตและในโซเชียลเน็ตเวิร์ก และที่รู้กันดีอยู่ว่าอัตราการเกิดของประชากรน้อยลง นักเรียนในระบบก็น้อยลงตามไปด้วย

ในแง่ของหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในปีนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติอีก 2 หลักสูตร คือ

1) บริหารธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้แตกต่างจากหลักสูตรทั่วไปตรงที่มีการสอนเรื่องธุรกิจ ร่วมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เช่น รูปแบบวิสาหกิจชุมชน หรือ SE (social enterprise) หลักสูตรนี้ยังสอดคล้องกับพระราชบัญญัติธุรกิจเพื่อสังคม สำหรับหลักสูตรดังกล่าวคาดว่าจะต้องแยกส่วนออกจากคณะบริหารธุรกิจ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง

และ 2) หลักสูตรอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เนื่องจากผู้ประกอบการได้สะท้อนว่าปัจจุบันเจ้าของกิจการจะเข้าใจเฉพาะเรื่องธุรกิจไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอ จิวเวลรี่และเฟอร์นิเจอร์ ที่ต้องมีการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงต้องการผู้ที่เข้าใจธุรกิจไปพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย

“ภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่จะต้องทำธุรกิจโดยพ่วงการดูแลสังคมไว้ด้วยกัน เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน การดูแลสังคมมีพัฒนาการมาตั้งแต่ CSR (corporate social responsibility) ตามมาด้วย CSV (creating shared value) แต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้เท่ากับรูปแบบ SE ที่ผู้ประกอบการและชุมชนได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย”

“รวมถึง มศว.เชิญผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาช่วยให้ความเห็นในหลักสูตรด้วย ซึ่งทำให้ มศว.ใกล้ชิดภาคเอกชน ทำให้รู้ถึงบัณฑิตที่ต้องการถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับบัณฑิตจาก มศว.เพื่อเข้าสู่ตลาดวิชาชีพ”

“ยุคลวัชร์” กล่าวเพิ่มเติมถึงการเปิดหลักสูตรอื่น ๆ อีกว่า ในปี 2562 นี้ เตรียมหลักสูตรใหม่ด้านวิศวกรรมคือ หลักสูตรความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย วิศวการบินที่จะใช้วิทยาเขตองครักษ์เป็นที่เรียนรู้ทางปฏิบัติเป็นหลัก และหลักสูตรวิศวกรปิโตรเลียม

ปัจจุบัน มศว.ประกอบด้วย 3 วิทยาเขตคือ ประสานมิตร, องครักษ์ จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระแก้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดสระแก้วที่ภาครัฐมีนโยบายให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนั้น มศว.ก็พร้อมผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ มศว.ต้องเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่ “รับใช้สังคม” มีความทันสมัย และเพื่อรองรับโลกยุคดิจิทัลนั้น มศว.ยังได้ร่วมมือกับหัวเว่ย (HUAWEI)เพื่อเป็นที่ปรึกษาวางโครงสร้างระบบสารสนเทศ รวมถึงการจัดเก็บและใช้ข้อมูล (big data) และร่วมมือกับธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เพื่อทำสังคมไร้เงินสดในพื้นที่มหาวิทยาลัยในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ มศว.ไม่ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้และการบริการทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังดูแลรับใช้สังคมโดยมีความร่วมมือกับหลายองค์กรในการทำโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) กว่า 100 โครงการ

โดยในแต่ละโครงการจะมีความร่วมมือกับภาคเอกชน พร้อมทั้งมีความร่วมมือเครือข่ายศิษย์เก่า มศว.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันดูแลสังคมให้สามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเองอย่างยั่งยืน