
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทย คุมธรรมาภิบาลสถาบันการเงิน และกลุ่มธุรกิจการเงิน ทั้งบริษัทแม่และบริษัทลูก ชูหลักเกณฑ์ 4 เรื่องสำคัญที่ต้องถือปฏิบัติ ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน รับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ย้ำบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการต้องแตกต่างจากผู้บริหารระดับสูง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ สนส. 1/2566 เรื่อง ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ลงนามโดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
สำหรับเหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ เนื่องจาการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือการมีธรรมาภิบาลที่ดี (good corporate governance) เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการดูแลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการทางการเงิน ตลอดจนผู้ถือหุ้นได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการมีธรรมาภิบาลที่ดี คือ การที่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินมีคุณสมบัติเหมาะสมและทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารจัดการงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวมทั้งสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินมีกลไกที่สนับสนุนการกำกับดูแลการปฏิบัติงานและการควบคุมภายในที่มีประสิทธิผลและเหมาะสมกับความเสี่ยงของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงได้
การปรับปรุงหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินในครั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดหมวดหมู่และรวบรวมหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลสำหรับสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินไว้ในฉบับเดียวกัน โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยกำหนดเป็นกรอบหลักการให้ถือปฏิบัติ (principle-based) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตลอดจนสื่อสารและสร้างความเข้าใจในเรื่องบทบาทหน้าที่คณะกรรมการที่แตกต่างจากผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนให้กลไกตลาดมีส่วนช่วยในการกำกับดูแลมากขึ้น
ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้เป็นประกาศหลักในชุดประกาศที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลธรรมาภิบาล โดยมีประกาศฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องอีก 4 ฉบับ ที่สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องถือปฏิบัติดังนี้
- 1.ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน บริษัทแม่ของสถาบันการเงิน และบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน
- 2.ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยบทบาทหน้าที่และองค์ประกอบของคณะกรรมการของสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
- 3.ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยบทบาทหน้าที่และองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดย่อยและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินและบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
- 4.ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยกลไกการกำกับดูแลกิจการของสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
สำหรับขอบเขตการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับ
- 1.สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินทุกแห่ง
- 2.บริษัทแม่และบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจทางการเงินในกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินทุกแห่ง เว้นแต่บริษัทดังกล่าวมีกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
หลักการคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลและส่งเสริมให้สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินมีธรรมาภิบาลที่ดี โดยกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่
1.กรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด
2.คณะกรรมการของสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องมีบทบาทหน้าที่และองค์ประกอบที่เหมาะสมกับขนาด ลักษณะการดำเนินธุรกิจ ความซับซ้อนของธุรกิจ และความเสี่ยงของธุรกิจ
3.คณะกรรมการชุดย่อยและผู้บริหารระดับสูงต้องสามารถสนับสนุนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการของสถาบันการเงินและบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน รวมทั้งสามารถดำเนินการให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามนโยบายที่กำหนดได้
4.กลไกการกำกับดูแลกิจการของสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องมีความเข้มแข็ง
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป)
- ธปท. เปิด 8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย เห็นแล้วอึ้ง!
- ธปท.เผย Q2/66 ออกเกณฑ์คุมเจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อ หวังลดหนี้ครัวเรือน
- ธปท.-คลัง แก้ล็อก “หนี้นอกระบบ” ขึ้นเพดานดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย
- คลัง-ธปท. ลุยแก้ปัญหาหนี้ต่อ สั่งแบงก์รัฐเคาะประตูบ้านเจรจาลูกค้า
- ธปท.เผยระบบแบงก์ปี’65 โกยกำไรสุทธิ 2.36 แสนล้าน