ธปท.เผยระบบแบงก์ปี’65 โกยกำไรสุทธิ 2.36 แสนล้าน

เงินบาท

ธปท.เผยผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ปี’65 โกยกำไรสุทธิ 2.36 แสนล้านบาท หลังสินเชื่อโต-ดอกเบี้ยขาขึ้น-ค่าใช้จ่ายสำรองลดลงเหลือ 1.83 แสนล้านบาท เผยหนี้เอ็นพีแอลปรับลดลงเหลือ 2.73% หรือ 4.99 แสนล้านบาท ชี้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้-ตัดขายให้ AMC ด้านสินเชื่อขยายตัวได้ 2.1% ชะลอตัวจากปีก่อน เหตุรายใหญ่-ภาครัฐชำระคืนหนี้ จับตาความสามารถชำระหนี้ภาคครัวเรือน-การฟื้นตัวของธุรกิจ

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2565 และปี 2565 พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

โดยผลประกอบการปี 2565 จะพบว่าธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามฐานสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองปรับลดลงเหลืออยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 และ 2564 ถือว่ายังต่ำกว่า แต่ก็สูงกว่าเมื่อเทียบช่วงปกติ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 2.36 แสนล้านบาท หรือเติบโต 30.7% และหากดูไตรมาสที่ 4/65 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 6.2 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.62%

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

“หากมองไปข้างหน้าปี’66 กำไรของธนาคารยังคงมีแนวโน้มน่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากฐานสินเชื่อที่มีอยู่ 15 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การตั้งสำรองแม้ว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่การปล่อยสินเชื่อมากขึ้น การตั้งสำรองยังคงต้องสอดคล้องกัน และขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ด้วย”

ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ขยายตัวที่ 2.1% ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3/65 ที่ขยายตัว 5.3% เป็นผลมาจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสินเชื่อซอฟต์โลน รวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยสินเชื่อเติบโตธุรกิจรายใหญ่ในภาคพาณิชย์และสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

Advertisment

ทั้งนี้ หากดูการเติบโตของแต่ละประเภทสินเชื่อ พบว่า สินเชื่อรายย่อยขยายตัว 1.7% ซึ่งหากรวมการโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อยจากธนาคารแห่งหนึ่งวงเงินราว 1 แสนล้านบาท จะทำให้สินเชื่อรายย่อยขยายตัว 3.9% ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจชะลอตัวลงอยู่ที่ 2.3% ซึ่งหากรวมสินเชื่อที่มีการชำระคืนของคลังและซอฟต์โลนจะส่งผลให้สินเชื่อขยายตัว 4.2% และหากแยกสินเชื่อธุรกิจตามขนาดธุรกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ -1.3% แต่หากรวมสินเชื่อภาครัฐจะเป็นบวก 1.8% และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) -2.4%

ส่วนสินเชื่อรายย่อย พบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีอัตราการเติบโต 3.1% สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 2.6% ซึ่งเป็นผลมาตรการ LTV ที่ทำให้มีการเร่งโอนและซื้อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ชะลอตัว 0.3% ตามยอดขายรถยนต์ที่ปรับลดลง และสินเชื่อบัตรเครดิต หากไม่รวมการโฮนย้ายพอร์ตของธนาคารจะมีอัตราการเติบโต -14.2% แต่หากรวมการโอนจะขยายตัว 6.8% เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลจะขยายตัว 3.7% แต่หากรวมพอร์ตที่มีการโอนจะขยายตัว 8.5% สะท้อนว่าสินเชื่อยังคงมีการเติบโตตามความต้องการสินเชื่อภายใต้ภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับดีขึ้นตามการเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร และการเร่งตัดขายหนี้เสียให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยตัวเลขเอ็นพีแอลในไตรมาสที่ 4/65 อยู่ที่ 2.73% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 4.99 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 3/65 ที่อยู่ 2.77% และหากแยกประเภทสินเชื่อ พบว่าเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจปรับลดลงจาก 2.83% เหลือ 2.77% และสินเชื่อรายย่อย ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.62% ซึ่งหากดูเอ็นพีแอลจะพบว่า สินเชื่อบ้านปรับลดลงจาก 3.25% เหลือ 3.01% ส่วนสินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่ผลประกอบการปี 2565 จะพบว่า ธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามฐานสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองปรับลดลงเหลืออยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 และ 2564 ถือว่ายังต่ำกว่า แต่ก็สูงกว่าเมื่อเทียบช่วงปกติ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 2.36 แสนล้านบาท หรือเติบโต 30.7% เช่นเดียวกับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

Advertisment

“ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยภาคครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยไตรมาสที่ 3/65 จะอยู่ที่ 86.8% ต่อจีดีพี แต่ครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูงและยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น รวมถึงยังต้องติดตามฐานะการเงินของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น”