บริษัทชื่อดังแห่ Spin-off ดันบริษัทลูกเข้าระดมทุนตลาดหุ้น

ทำไม ? บิ๊ก บจ.ต้อง Spin-off แยกบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น เปิดโผบิ๊กเนมเรียงคิวจดทะเบียน “บิ๊กซี-SCGC-สุกี้ตี๋น้อย-โอ้กะจู๋”

วันที่ 28 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ถึงอยาก Spin-off หรือแยกบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมามีหลายบริษัทขนาดใหญ่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ

– บมจ.ปตท (PTT) แยก บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR)
– บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แยก บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)
– บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) แยก บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT)
– บมจ.วีจีไอ (VGI) แยก บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX)
– บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป แยก บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) และแยก บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC)

4 เหตุผล Spin-off

ทั้งนี้ เหตุผลการ Spin-off ของ บจ.หลายแห่งคือ “เพื่อหาแหล่งเงินทุน” นอกเหนือจากกู้เงินจากธนาคาร หรือระดมทุนขายหุ้นกู้ ซึ่งแนวทางนี้จะมีข้อดีคือ 1.ลดภาระทางการเงินของบริษัทแม่ 2.เพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทลูกและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทแม่ 3.บริษัทลูกเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากขึ้น และสามารถระดมทุนเองได้ 4.บริษัทลูกมีความเป็นอิสระ บริหารธุรกิจได้ด้วยตัวเองผ่านทีมงานมืออาชีพ

โดยตามไปป์ไลน์ล่าสุดของ บจ.ที่รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า SCC กำลังจะแยก บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เข้าตลาดหุ้นอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งปัจจุบันได้รับอนุญาตแบบคำขอให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว

บิ๊กซีรีเทล จ่อขายหุ้นไอพีโอ 29.98%

และวานนี้ (27 มี.ค.2566) ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้มีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นไอพีโอของ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) จำนวนไม่เกิน 29.98% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว (ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 87,135 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 8,713 ล้านหุ้น)

โดย BRC เป็น Holding Company ที่ประกอบธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และการค้าส่งของตนเอง

ปี 2565 มีรายได้รวม 113,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อน มีกำไรสุทธิ 6,756 ล้านบาท ลดลง 7.9% โดยมีสินทรัพย์รวม 336,833 ล้านบาท

ทั้งนี้ BJC ให้เหตุผลการ Spin-off ทาง BRC ออกมาในครั้งนี้คือ 1.จะช่วยให้ภาพรวมฐานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทมีความแข็งแรงขึ้น 2.ช่วยลดภาระของ BJC ในการให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ BRC และจะเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ และเพิ่มช่องทางระดมทุนให้กับ BRC ให้สามารถระดมทุนได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจ

3.เมื่อหุ้นของ BRC เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน หุ้นของ BRC จะมีสภาพคล่องมากขึ้น และมีราคาตลาดอ้างอิง ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้อ้างอิงในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ หรือใช้เป็นสิ่งตอบแทนเพื่อชำระราคา การทำรายการซื้อขายสินทรัพย์หรือกิจการในอนาคต

และ 4.ส่งเสริมชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ BRC ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการแสวงหาบุคลากร หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในธุรกิจเกี่ยวกับการค้าปลีก (Retail) และการค้าส่ง (Wholesale)

นายธนวิชช์ บุญชูวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ Pi เคยวิเคราะห์ไว้ว่าการ spin-off บิ๊กซีออกมานั้น จะทำให้ BJC มีสัดส่วนการถือหุ้นในบิ๊กซีลดลง และอาจกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรของ BJC ที่ได้จากบิ๊กซีที่ลดลงด้วย แต่ก็จะแลกมากับการได้เงินไปใช้ลงทุนรีโนเวตสาขาใหม่ ซึ่งมีโอกาสทำให้กำไรต่อสาขาสูงขึ้นได้ เนื่องจากมีคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

ทั้งนี้ตามข้อมูล BJC ระบุว่าแผนไอพีโอของ BRC จะส่งผลกระทบให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทใน BRC ลดลง (Dilution) จากเดิม 100% เป็นไม่ต่ำกว่า 70.02% ของทุนชำระแล้ว

‘สุกี้ตี๋น้อย-โอ้กะจู๋’ เข้าตลาดหุ้นปี’67

และตามที่บริษัทได้ประกาศออกมาเช่น OR เตรียมนำ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นภายในปี 2567

และทาง บมจ.เจ มาร์ท (JMART) แย้มแผนนำบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” เข้าตลาดหุ้น โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ในปี 2567 เช่นกัน และจะนำบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) (ธุรกิจด้านดิจิทัล) เข้าตลาดหุ้นในช่วงปี 2567-2568 อีกด้วย

THG ส่ง “รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง” ไอพีโอ

ต่อมา บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ธุรกิจโรงพยาบาลและการดูสุขภาพอย่างครบวงจรของ “หมอบุญ วนาสิน” โดยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 ทางบริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด บริษัทลูกของ THG ได้ลงนาม MOU แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย หวังเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือ THG ในอนาคต โดยคาดว่าจะไอพีโอได้ภายในปี 2567

ส่วนนายหน้าประกันภัยยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.ทีคิวเอ็ม อัลฟา (TQM) ประธานบริษัทได้ประกาศแผนชัดเจนว่าช่วง 3 ปีจากนี้ (2566-2568) มีแผนนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยปีละ 1 บริษัท เริ่มตั้งแต่ปี 2567 จะเสนอขายหุ้นไอพีโอ บริษัท ทรู ไลฟ์ โบรกเกอร์ จำกัด (โบรกเกอร์ประกันชีวิต) จากนั้นปี 2568 เป็นบริษัท อีซี เลนดิ้ง จำกัด (ผู้ให้บริการสินเชื่อ) และในปี 2569 จะนำบริษัท บิ้ลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด (ธุรกิจเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม) เข้าตลาดหุ้น

‘เต่าบิน’ IPO ไตรมาส 4

ด้าน บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) เตรียมเปลี่ยนชื่อบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ “เต่าบิน” เป็นบริษัท ฟอร์ท เบฟเวอเรจ จำกัด และจะนำเข้าตลาดหุ้นภายในไตรมาส 4/2566

RS ส่ง 6 บริษัทเข้าตลาดหุ้น

ปิดท้าย “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส (RS) ประกาศแผน Spin-off 6 บริษัทเข้าตลาดหุ้น เพื่อผลักดันมาร์เก็ตแคป RS ให้ถึงตามเป้า 100,000 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่มีความชัดเจนแล้วคือ RS Connect โดยมีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเตรียมนำ ULife เข้าจดทะเบียนภายในปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มผลักดัน RS LiveWell และ RS Music ซึ่งจะตั้งที่ปรึกษาทางการเงินภายในปี 2566