พิษแบงก์ล้มตลาดทุนปั่นป่วน เศรษฐีไทยหนีเสี่ยงดันเงินฝากพุ่ง 16 ล้านล้าน

File Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ตลาดเงินฝากกลับมาคึกคัก หลังแบงก์ล้ม-นโยบายการเงินเฟด ทำตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วน เศรษฐีไทยแห่โยกเงินลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมาพัก “เงินฝาก” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไตรมาส 1/66 ยอดเงินฝากแตะ 16 ล้านล้าน แบงก์ใหญ่พาเหรดออกแคมเปญเงินฝาก 8-15 เดือน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.00-1.35% ต่อปีกรุงศรีฯชี้การแข่งขันรุนแรงขึ้น เตรียมล็อกเงินฝากระยะกลาง-ยาว “ทีทีบี” ตั้งเป้าขยายบัญชีเงินฝากเพื่อทำธุรกรรมของลูกค้าธุรกิจ

ตลาดปั่นป่วนโยกฝากเงิน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในไตรมาส 1/2566 คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลยอดเงินฝากคงค้างสะสมขยับขึ้นไปที่ระดับ 16.0 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2565 ยอดเงินฝากคงค้างสะสมอยู่ที่ 15.86 ล้านล้านบาท

ทิศทางเงินฝากจะเห็นว่า ในเดือนมกราคม 2566 ยอดเงินฝากคงค้างอยู่ที่ 126,660 ล้านบาท ปรับลดลงจากเดือนธันวาคม 2565 เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้มีการโยกเงินฝากออมทรัพย์ไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่มีผลตอบแทน (yield) สูงกว่า เช่น ตลาดหุ้นและหุ้นกู้ เป็นต้น

ขณะที่สถานการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยยอดเงินฝากคงค้างเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 127,496 ล้านบาท เนื่องจากตลาดกังวลเรื่องของเฟดจะปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง ส่งผลให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงถูกเทขาย และโยกเงินมาไว้ที่เงินฝาก

เช่นเดียวกับเดือน มี.ค. ที่คาดว่ายอดเงินฝากยังคงปรับเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วน ซึ่งมีทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป ทำให้คนกลับมาพักเงินที่ปลอดภัย

“สถานการณ์เดือน ก.พ.-มี.ค.จะคล้ายกับช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ตลาดเงินและตลาดทุนปั่นป่วน คนจะโยกเงินลงทุนจากแหล่งต่าง ๆ มาพักไว้ที่เงินฝาก ทำให้เงินฝากเพิ่มขึ้น”

แบงก์แห่ออกแคมเปญเงินฝาก

อย่างไรก็ดี จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น ธนาคารพาณิชย์คงพิจารณาการเติบโตเงินฝาก เพื่อบริหารจัดการต้นทุนและการเติบโตของสินเชื่อ โดยจะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ออกแคมเปญเงินฝากเฉลี่ยอายุ 1 ปีขึ้นไป เพื่อล็อกต้นทุน และทยอยออกแคมเปญเงินฝากต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการออกแคมเปญใหม่มากกว่าเงินฝากที่ครบกำหนด

ทั้งนี้จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในช่วง 2 เดือนแรก ธนาคารพาณิชย์มีการออกแคมเปญเงินฝากทั้งสิ้น 31 โปรดักต์ โดยในเดือนมกราคม 2566 มีแคมเปญเงินฝากออกใหม่ถึง 30 โปรดักต์ และมีแคมเปญเงินฝากครบกำหนด 6 โปรดักต์ ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากมีจำนวนวันหยุดเยอะ จึงมีการออกแคมเปญเงินฝากใหม่เพียง 17 โปรดักต์ และมีแคมเปญเงินฝากครบกำหนด 10 โปรดักต์

กสิกรไทยชูแคมเปญพิเศษทั้งปี

นายพิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน มี.ค. 2566 นี้ ธนาคารจะออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ 8 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี และฝากประจำพิเศษ 15 เดือน ให้อัตราดอกเบี้ย 1.10-1.20% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี ธนาคารก็จะมีการออกแคมเปญเงินฝากพิเศษเป็นระยะ ๆ ตามความต้องการสภาพคล่องของธนาคาร และภาวะการแข่งขันในตลาด โดย ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารมียอดเงินฝาก 2.749 ล้านล้านบาท ถือเป็นอันดับ 1 ในตลาด โดยมีส่วนแบ่งตลาด 17.15%

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมการแข่งขันเงินฝาก มองว่า ยังอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งทุกธนาคารมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ยังไม่ได้มีสัญญาณการเร่งระดมเงิน

เนื่องจากปริมาณเงินฝากในระบบยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังมีปริมาณเงินฝากเพียงพอที่จะใช้ปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม การระดมเงินฝากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจในภาพรวมและความต้องการสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร

ดังนั้น ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย จะมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เงินฝาก และการให้บริการธุรกรรมทางการเงินครบวงจร ทั้งช่องทางสาขา ช่องทางดิจิทัล และผ่านเจ้าหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ลูกค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้าปัจจุบัน และเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ

โดยธนาคารจะช่วยดูแลเงินฝากของลูกค้าเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและชีวิตส่วนตัว ทั้งในด้านการทำธุรกรรมเดินบัญชีเพื่อบริหารจัดการเงิน และการฝากเงินเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งครอบคลุมกลุ่มลูกค้าบุคคลและนิติบุคคล

เงินฝาก 8-15 เดือน ดบ. 1.35%

“ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะมีการออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษในช่วงอายุ 8-15 เดือน โดยให้อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 1.00-1.35% ต่อปี อย่างไรก็ดี มองในระยะข้างหน้า กนง.มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% ต่อปี ภายในปีนี้ และอาจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ต่อปี ไปจนตลอดทั้งปี 2566

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยที่ออกมา รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสำคัญ”

แบงก์ล้มตลาดเงินฝากแข่งสูงขึ้น

นางสาวกมลวรรณ อิ่มฤทัยเจริญโชค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเงินฝากในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าปีที่แล้ว สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ และความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้เงินฝากเป็นทางเลือกการออมเงินที่มีความมั่นคง

ขณะที่ภาคธุรกิจของไทยมีความต้องการสินเชื่อสูงขึ้นเพื่อรองรับเศรษฐกิจฟื้นตัว ก็ทำให้การแข่งขันของตลาดเงินฝากสูงขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารมุ่งเน้นขยายฐานเงินฝากประจำระยะปานกลางถึงระยะยาว ซึ่งเหมาะกับลูกค้าที่มีเงินออมส่วนเกิน และต้องการผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันธนาคารมีแคมเปญเงินฝากประจำ 14 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.35% ต่อปี และเงินฝากประจำ 20 เดือน ให้อัตราผลตอบแทนแบบขั้นบันได หรืออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.65% ต่อปี

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น ลูกค้าที่เริ่มเก็บเงินด้วยเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน ดอกเบี้ย 2.35% หรือเงินฝากออมทรัพย์ มีแต่ได้ ผ่านแอปพลิเคชั่น “KMA” ที่ให้ดอกเบี้ยสูง 1.5% ต่อปี โดยธนาคารจะทยอยออกแคมเปญเงินฝากต่อเนื่อง ตามสภาวะการแข่งขัน และความต้องการออมเงินของลูกค้า และความต้องการเงินฝากของธนาคารด้วย

“ในปี 2566 ธนาคารยังคงวางเป้าหมายเงินฝากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมียอดเงินฝากรวมอยู่ที่กว่า 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมีแผนขยายฐานเงินฝากทั้งบุคคลธรรมดาในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและรายใหญ่ และขยายไปยังเงินฝากลูกค้านิติบุคคลด้วย”

ทีทีบีลุยบัญชีเงินฝากธุรกิจ

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตเงินฝากของลูกค้าธุรกิจ 10% จากยอดเงินฝาก สิ้นปี 2565 อยู่ที่ราว 4 แสนล้านบาท

โดยธนาคารเน้นการขยายฐานบัญชีเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรม (operating account) ของลูกค้าธุรกิจ เนื่องจากเงินฝากเหล่านี้จะอยู่กับธนาคาร จะมีการเดินบัญชี หรือทำธุรกรรมทางการเงิน รับ-จ่าย ผ่านบริการบริหารจัดการเงินสด (cash management)

ดังนั้น ธนาคารจะเห็นข้อมูลลูกค้า ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปยังการปล่อยสินเชื่อ หรือเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นต่อลูกค้า หรือกรณีที่ลูกค้าเหลือเงินจากการบริหารธุรกิจธนาคารก็สามารถโยกเงินส่วนเกินไปยังการลงทุนประเภทอื่นที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก เช่น กองทุนรวม เป็นต้น

นายศรัณย์กล่าวว่า ธนาคารจะเห็นทรานแซกชั่นลูกค้า ดูความเสี่ยงได้ หรือช่วยลูกค้าบริหารรับจ่าย-เงินต่อยอดรายได้ค่าฟีได้ ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าขยับสัดส่วนบัญชีเงินฝากที่เป็น operating account จาก 80% เพิ่มเป็น 85% ของบัญชีเงินฝากลูกค้าธุรกิจทั้งหมด