นโยบายระยะสั้น … ไม่ตอบโจทย์ประเทศระยะยาว

การเลือกตั้ง หาเสียง
คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์
ผู้เขียน : พงศ์นคร โภชากรณ์ [email protected]

ก่อนอื่นต้องบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะรัฐบาลชุดใหม่จะมีอายุเต็มที่ คือ 4 ปี ซึ่งเป็น 4 ปีที่เราต้องเผชิญปัญหาทั้งภายนอกและภายในหลายประการ ลองมาวิเคราะห์โจทย์ระยะยาวตามหลัก “PESTEL” ซึ่งนิยมใช้เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคม ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นว่าโจทย์ประเทศไทยคืออะไร และทำไม 4 ปีข้างหน้านี้จึงสำคัญ มาดูกันครับ

P-political หมายถึง ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อาจเกิดขึ้นได้ใน 4 ปีข้างหน้านี้ : แม้ว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยังมีอยู่ แต่ก็ลดผลกระทบลงไปมากเมื่อเทียบกับปี 2565 แต่ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอื่นอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และห่วงโซ่อุปทานของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นสินค้าสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน

E-economic หมายถึง ปัญหาเศรษฐกิจโลกไม่สดใสเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน : เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดูได้จากการปรับประมาณการครั้งล่าสุดของ IMF ที่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง นำโดยทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐกำลังได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์และธนาคารซิกเนเจอร์ถูกสั่งปิด สะท้อนถึงปัญหาของระบบการเงินของสหรัฐ และย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้เกิดความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนตามมา

S-social หมายถึง ปัญหาโครงสร้างประชากรจะมีมากขึ้นใน 4 ปีข้างหน้านี้ : ในปี 2565 จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 500,000 คน ต่ำสุดในรอบ 70 ปี ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ 12.5 ล้านคน ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องทุกปี คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของจำนวนประชากร 66 ล้านคน ขาดอีก 720,000 คน จะถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร เข้าสู่ขั้น “สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์” (aged society) ในแต่ละปี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นปลายปี 2567 เพราะประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 คนต่อปี

T-technology หมายถึง ปัญหาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดมากขึ้นใน 4 ปีข้างหน้านี้ : มีการพูดถึงการ upskill คือ การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม และ reskill คือ การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน แต่อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของแรงงาน คือการไม่อยากพัฒนาตัวเองของแรงงาน โดยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป กว่าร้อยละ 91 ของกำลังแรงงาน ไม่อยากพัฒนาตนเอง และเป็นอัตราสูงเช่นนี้ในทุกจังหวัด นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนให้คนของเราเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันให้มากขึ้น

E-environment หมายถึง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ : ในเวทีโลกมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอาศ (climate change) บ่อยครั้งขึ้น เพราะมีผลกระทบต่ออุณหภูมิ พายุ ภัยแล้ง น้ำทะเล สิ่งมีชีวิต อาหาร สุขภาพ และความยากจนทุกประเทศทั่วโลก และจากการคำนวณพบว่าในปี ค.ศ. 2100 ระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั่วโลก 1.1 เมตร ซึ่งพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศไทยล้วนอยู่ใกล้ชายฝั่ง เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล พื้นที่พัฒนาพิเศษ (EEC) และภูเก็ต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนใน GDP มากกว่าร้อยละ 60

L-legal หมายถึง ปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในมิติเศรษฐกิจเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น : ใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ให้ อปท. มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 35 นั้น พบว่า อัตราส่วนดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 29 เท่านั้น ส่งผลให้ อปท. บางแห่งที่ต้องพึ่งพารายได้และเงินอุดหนุนจากส่วนกลางอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญ อปท.ที่หารายได้ได้มาก รัฐบาลยังอุดหนุนให้มากตามไปด้วย ทำให้ช่องว่างการพัฒนาถ่างออกเรื่อย ๆ

ฉะนั้น จากการวิเคราะห์แบบ PESTEL ทำให้เราเห็นโจทย์และความท้าทายระยะยาวของรัฐบาลใหม่ใน 3 ระดับ ได้แก่

1) ระดับเศรษฐกิจมหภาค มีหลายอย่างที่ควรจะทำ เช่น “ต้องเร่งสร้างบุญใหม่” เพราะในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เรากินบุญเก่าคือ EEC มาตลอด ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด เช่น การสร้างประตูหรือกำแพงกั้นน้ำขนาดใหญ่แบบที่อังกฤษ (thames barrier) และเนเธอร์แลนด์ (delta works) “ต้องสร้างเมือง Mega city” ในภูมิภาคต่าง ๆ

ซึ่งอาจจะเน้นจังหวัดที่ประชากร 1 ล้านคน ซึ่งมีถึง 21 จังหวัด เพื่อขยายเมือง แหล่งงาน แหล่งรายได้ แหล่งภาษี “ต้องเร่งสร้างระเบียงเศรษฐกิจ” แม้รัฐบาลเดิมจะมีแผนสร้างระเบียงเศรษฐกิจในภาคอีสาน เหนือ ใต้ เพิ่มจาก EEC แต่รัฐบาลใหม่ควรสร้างระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงโดยตรงระหว่างระเบียงทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกันในทางเศรษฐกิจ สุดท้ายที่ต้องคิด คือ “การเพิ่มจำนวนประชากร” นอกจากจะเป็นฐานแรงงานในระยะยาวแล้ว ยังเป็นฐานภาษีในอนาคตด้วย

2) ระดับท้องถิ่น : มีโจทย์ใหญ่ที่สำคัญมาก คือ “ต้องปิดช่องว่างการพัฒนาระหว่างท้องถิ่น” ในปัจจุบันรัฐบาลสามารถสร้าง big data รายท้องถิ่นได้ทั้ง 7,850 แห่ง ซึ่งจะทำให้ทราบปัญหาของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งลำดับความสำคัญของปัญหาไม่เหมือนกัน การจัดสรรงบประมาณก็ต้องไปตอบโจทย์ตรงนั้นเป็นหลัก และอีก 1 เรื่องที่น่าสนใจ คือ “ต้องผันเงินคนที่อยู่ในระบบภาษีลงสู่ท้องถิ่น” คล้าย ๆ กับ hometown tax ของญี่ปุ่น คือ ให้ผู้เสียภาษีหรือคนทั่วไปสามารถบริจาคเงินเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่เราต้องการ แล้วค่อยมาขอลดหย่อนภาษีได้

3) ระดับคน : มีหลายอย่างที่จำเป็นต้องทำ เช่น “ต้องปิดช่องว่างการออม” เพราะการออมเป็นหลังพิงที่สำคัญ ซึ่งขาดทั้งความทั่วถึงและความพอเพียง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ไม่แน่นอน และเป็นกลุ่มที่ควรจะมีหลังพิงแต่กลับไม่มี “ต้องผันรายจ่ายกลับมาเป็นเงินออม”

เราต้องปรับสมการการออมที่ว่า การออมคือรายได้ส่วนที่เหลือจ่าย มาเป็นการออมคือรายจ่ายส่วนที่เพิ่ม “ต้องหางานให้คนจนทำ” จากการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐล่าสุด ทำให้ภาครัฐทราบว่าคนจนคนไหนบ้างที่ยังไม่มีงานทำ ก็จัดหางานให้เขาทำตามความเหมาะสม พร้อมกับพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับงานที่ทำไปด้วยในตัว หรืออาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน

จะเห็นว่า นโยบายหาเสียงที่เราเห็น ยังไม่มีนโยบายเพื่อแก้โจทย์ระยะยาวของประเทศไทยเลย เกือบทั้งหมดเป็นนโยบายระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของประชาชนในระยะสั้น หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะกลุ่มประชากร แต่วาระการเป็นรัฐบาลยาวถึง 4 ปี น่าจะเสนออะไรที่เป็นนโยบายระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศให้ประชาชนเห็นบ้าง เพื่อประกอบการตัดสินใจ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด