ตลาดผันผวนตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ตลาดผันผวนตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลาดกังวลกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ลดกำลังการผลิตน้ำมันที่จะมีผลในเดือนพฤษภาคม อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นอีก

วันที่ 7 เมษายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 3-7 เมษายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (3/4) ที่ระดับ 34.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/3) ที่ระดับ 34.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการเข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากการเคลื่อนไหวของเงินทุนในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2566

ตลาดกังวลโอเปกลดกำลังผลิตน้ำมัน

นอกจากนี้ตลาดยังมีความกังวลหลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปกพลัสประกาศปรับลดการผลิตน้ำมันลง 1.16 ล้านบาร์เรล/วัน โดยปริมาณการปรับลดการผลิตน้ำมันโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

               

โดยตามรายงานระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งแถลงการณ์ที่ออกมาส่งผลให้ตลาดมีความวิตกเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในอนาคต รวมทั้งอาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เนื่องจากหากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นอีก

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงตามการเปิดเผยสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการประกาศออกมา โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคลล (PCE) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.1% และชะลอตัวจากระดับ 5.3% ในเดือนก่อนหน้า

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวสูงขึ้น 4.6% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 4.7% และชะลอตัวจากระดับ 4.7% ในเดือนมกราคม, ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐประจำเดือนมีนาคมปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 62.0 ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะที่ระดับ 63.2 รวมถึงลดลงจากระดับ 67.0 ในเดือนก่อนหน้า,

ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวชะลอตัวของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ คาดว่าข้อมูลแรงงานที่ซบเซาดังกล่าวจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลง 632,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.9 ล้านตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 และต่ำกว่าระดับ 10 ล้านตำแหน่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.4 ล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ปรับลดตัวเลขการเปิดรับสมัครงานในเดือนมกราคมสู่ระดับ 10.6 ล้านตำแหน่ง จากเดิมที่ระดับ 10.8 ล้านตำแหน่ง ตัวเลขการจ้างงานลดลงสู่ระดับ 6.1 ล้านตำแหน่ง ส่วนตัวเลขการปลดออกจากงานลดลงสู่ระดับ 1.5 ล้านตำแหน่ง และตัวเลขการลาออกจากงานโดยสมัครใจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.0 ล้านราย,

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 18,000 ราย สู่ระดับ 228,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย. น้อยกว่าคาดที่ระดับ 200,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงานสหรัฐกำลังชะลอตัวลง นอกจากนั้นแล้ว ในวันนี้นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกกาคเกษตรของสหรัฐ เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มเติมอีก

เงินเฟ้อมี.ค.ไทยสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์หลังดอลลาร์เข็งค่า ประกอบการแรงซื้อกลับดอลลาร์เชื่อมโยงการร่วงลงของราคาทองคำ กดดันเงินบาทเพิ่มติมทำให้อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเหนือระดับ 34.40 บาท/ดอลลาร์ แต่ไม่สามารถทะลุแนวต้านสำคัญที่ 34.50 ได้ ทำให้มีแรงขายทำกำไรระยะสั้นออกมา

อย่างไรก็ดีค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าลงอีกครั้งในช่วงคืนวันพุธหลังการพุ่งขึ้นของราคาทองคำเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นผลให้เงินบาทแข็งค่าลงต่ำกว่าระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ในวันเดียวกัน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการประกาศออกมาในสัปดาห์นั้น สนค.เผยตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือนมีนาคม 2566 สูงขึ้น 2.83% แต่ถือว่าสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและสินค้าอาหารที่ชะละตัวเกือบทุกกลุ่ม พร้อมคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่ปี 2566 อยู่ที่ 2.2% จากเดิม 2.5%

ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวโดยรวมในทิศทางที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อยู่ในกรอบระหว่าง 33.80-34.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/4) ที่ระดับ 34.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (3/4) ที่ระดับ 1.0802/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/3) ที่ระดับ 1.0874/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการที่สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) ได้เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนประจำเดือนมีนาคมปรับตัวลดลงสู่ะดับ 6.9% จากระดับ 8.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงาน อาหาร แอลกอฮอล์ และยาสูบ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 5.7% จากระดับ 5.6% ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวไม่ใด้ส่งสัญญาณชัดเจนการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

นอกจากนี้ นายคริส วิเลียมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจของเอสแอนด์พี โกลบอล กล่าวว่า การผลิตในยูโรโซนยังคงประสบปัญหา โดยโรงงานต่าง ๆ รายงานว่าความต้องการสินค้าลดลงเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น การเปลี่ยนมาตรการระบายสินค้าคงคลัง และความเชื่อมั่นของลูกค้าที่ตกต่ำลง

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการเปิดยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกในภาคการผลิตของประเทศ

ทั้งนี้ ยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 4.8% ในดือนกุมภาพันร์จากเดือนมกราคม ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 และสูงกว่าการคาดการณ์เฉลี่ยของนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่ 3% โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อรถยนต์จำนวนมาก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0786-1.0983 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/4) ที่ระดับ 1.00917/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

เงินเยนอ่อนค่า

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (3/4) ที่ระดับ 133.12/14 เยนดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/3) ที่ระดับ 133.39/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์ ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกครั้งระหว่างสัปดาห์หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมีนาคมของญี่ปุ่นจาก Jibub Bank ปรับตัวขึ้นแตะ 55.0 ในเดือน มี.ค. ซึ่งได้รับการปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว จาก 54.0 ในเดือน ก.พ.

โดยเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2556 และบ่งชี้ว่าภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังผ่านพ้นช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งช่วยชดเชยภาคการผลิตที่ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค.สูงกว่าตัวเลขขั้นต้นของเดือน มี.ค.อย่างชัดเจน ซึ่งอยู่ที่ 54.2 และอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการอยู่ในภาวะขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.62-133.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/4) ที่ระดับ 131.65/68 เยนดอลลาร์สหรัฐ