![ปรับใหญ่บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ปรับใหญ่บอร์ดรัฐวิสาหกิจ](https://www.prachachat.net/wp-content/uploads/2023/10/ข่าวนำ1-728x485.jpg)
รัฐบาลจัดทัพสับเปลี่ยนกำลังรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ ตั้ง “ประสงค์ พูนธเนศ” นั่งบอร์ดกลั่นกรองเคาะรายชื่อ จับตารัฐวิสาหกิจใหญ่เคลื่อนไหวรื้อบอร์ด เปลี่ยนตัว “ประธาน” หลายแห่งบอร์ดทยอยยื่นลาออก “AOT” ลาออกรวด 5 คนเตรียมตั้งบิ๊กตำรวจ ขณะที่ ปตท.ตั้งประธานสรรหา CEO ใหม่ หลัง “อรรถพล” ครบวาระพ.ค.2567 เกาะติด “บอร์ดแบงก์รัฐ” คิวต่อไปแถมเก้าอี้เอ็มดี “ธอส.-SME Bank” ยังว่าง เผยมหาดไทยแจ้งบอร์ดการไฟฟ้า-การประปาฯออกยกชุด “กฟผ.-กปภ.” เจอภาวะสุญญากาศไม่มีทั้งผู้ว่าฯและบอร์ด
สับเปลี่ยนกำลัง
แหล่งข่าวจากหน่วยงานภาครัฐเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว ประกอบกับขึ้นปีงบประมาณใหม่ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่แล้ว ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยน “กรรมการ” ของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ทั้งในส่วนของ กรรมการผู้แทนจากกระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ และกรรมการอิสระ ที่ส่วนใหญ่ต้องมาจากบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ (director pool) ที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น ซึ่งถือเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ ในการกำกับดูแลการบริหารงานและการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ปัจจุบันประเทศไทย รัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 58 แห่ง มีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 6 ล้านล้านบาท รัฐวิสาหกิจสามารถสร้างรายได้ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท และกำไรได้ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย
โดยในส่วนของการคัดเลือกกรรมการอิสระ ไปนั่งในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ นั้น กระทรวงที่กำกับดูแลแต่ละรัฐวิสาหกิจ จะต้องเสนอรายชื่อกรรมการอิสระ โดยคัดเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ จากรายชื่อในไดเร็กเตอร์พูล แล้วเสนอมาที่ สคร. ซึ่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอีกที
ตั้งบอร์ดกลั่นกรองเคาะชื่อ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 25 ต.ค. และได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีนายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรอง นอกจากนี้มี นายอัชพร จารุจินดา นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ นายกุลิศ สมบัติศิริ นางปานทิพย์ ศรีพิมล นายพิชัย ชุณหวชิร นายสมชาย คูวิจิตรสุวรรณ นายไกรสร บารมีอวยชัย เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงาน คนร. เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยคณะกรรมการกลั่นกรองจะพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกบุคคล พร้อมทั้งพิจารณาคัดเลือกบุคคลให้สอดคล้องกับสมรรถนะหลัก (skill matrix) ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณาแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจต่อไป
“เมื่อก่อนการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการอิสระในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ จะยึดตามระเบียบสำนักนายกฯ (ระเบียบ คนร. เดิม) ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาจะมีอนุกรรมการกลั่นกรองคือ นายวิษณุ เครืองาม และเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมัยนั้นพิจารณา แต่กระบวนการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ ในรัฐบาลนี้ จะจบที่บอร์ดกลั่นกรอง ไม่ต้องไปถึงนายกฯ โดยเป็นการยึดตามแนวกฎหมายปี 2562” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า หน่วยงานที่สามารถเสนอชื่อผู้จะมาเป็น” กรรมการ” ประกอบด้วย กระทรวงต้นสังกัด ตัวรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก็สามารถเสนอรายชื่อไปให้เลือกได้
“การเสนอชื่อกรรมการ ต้องเสนอจำนวนไม่น้อยกว่า 2 เท่าของตำแหน่งที่ว่างลง ขณะเดียวกันก็ต้องเลือกรายชื่อจากไดเร็กเตอร์พูลด้วย โดยรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องมีกรรมการที่มาจากไดเร็กเตอร์พูลไม่น้อยกว่า 1 ใน 3” แหล่งข่าวกล่าว
“จิรภพ ภูริเดช” บอร์ดสรรหา AOT
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้หลาย ๆ รัฐวิสาหกิจก็เริ่มให้บอร์ดชุดเก่าลาออก เพื่อเปิดทางสำหรับแต่งตั้งบอร์ดใหม่ อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT รัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงคมนาคม ที่เพิ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 20 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทได้รับหนังสือแจ้งขอลาออกของกรรมการ AOT ทั้งหมด 5 คน คือ 1.นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ 2.นายกฤษณ์ เสสะเวช 3.พลอากาศเอก ภานุพงศ์ เสยยงคะ 4.นายวราห์ ทองประสินธุ์ และ 5.นายกฤชเทพ สิมลี
ขณะที่ก่อนหน้านี้ AOT ได้มีมติแต่งตั้ง นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย กรรมการ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 แทน พลอากาศเอก ภานุพงศ์ เสยยงคะ ที่ลาออก ทำให้คณะกรรมการสรรหาของ AOT ประกอบด้วย พลตำรวจเอก มนู เมฆหมอก ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหาสองคน คือ นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย และพลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช
แหล่งข่าวระบุว่า ในการประชุมบอร์ด AOT สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเสนอชื่อบุคคลเข้าสู่กระบวนการสรรหาเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการ แทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลงจากการลาออกไปก่อนหน้า 5 คน และจากการหมดวาระ โดยหนึ่งในรายชื่อคือ พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด AOT
PTT เขย่าเก้าอี้บอร์ดถึง CEO
ขณะที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ค่อนข้างมีความวุ่นวาย เนื่องจากนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานบอร์ด ทำหนังสือร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้พิจารณาออกคำสั่งให้ ปตท. ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ถูกการเมืองบีบให้ลาออก
นอกจากนี้ ในการประชุมบอร์ดนัดพิเศษ เมื่อ 19 ตุลาคม 2566 ได้มีการแต่งตั้ง นายผยง ศรีวณิช จากเดิมเป็นกรรมการอิสระ เปลี่ยนเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาของ ปตท. รวมถึงตั้ง นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เข้ามาเป็นกรรมการสรรหา จากเดิมเป็นกรรมการอิสระ หลังจากนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลาออกจากกรรมการอิสระและประธานกรรมการสรรหา ของ ปตท. ไปเมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงการดำรงตำแหน่งกรรมการของนายพงศธร ทวีสิน จากกรรมการ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และแต่งตั้งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ กรรมการอิสระ เป็นประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และความยั่งยืน และนายณรงค์เดช สุรโฆษิต กรรมการอิสระ เป็นกรรมการ
ขณะที่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 บอร์ด ปตท.ได้มีการประชุมนัดพิเศษ มีมติเห็นชอบให้ นายพงศธร ทวีสิน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ทำให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน บริษัท ปตท. ประกอบด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ และนายพงศธร ทวีสิน ลงลายมือชื่อร่วมกัน
จับตา CEO ปตท.คนต่อไป
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ใช้เวลาประชุมยาวนาน เพื่อพิจารณาเรื่องการยื่นหนังสือลาออกของนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ซึ่งคาดว่าจะมีผลวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้
โดยความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนประธานบอร์ด ปตท. เกี่ยวโยงกับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2567
แหล่งข่าวในวงการพลังงานเปิดเผยว่า จากที่มีการแต่งตั้ง นายผยง ศรีวณิช เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกระบวนการสรรหา ซีอีโอ ปตท. ที่จะมาแทน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่จะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 เนื่องจากตามกระบวนการจะต้องเริ่มสรรหาก่อนครบวาระ 6 เดือน
อย่างไรก็ดี นายอรรถพลยังเหลืออายุการทำงานก่อนเกษียณในปี 2568 ซึ่งตามหลักการก็สามารถต่ออายุการทำงานอีกปีเศษได้
แต่จากนโยบายทางการเมืองขณะนี้ก็น่าจะต้องการปรับเปลี่ยน ซึ่งแคนดิเดตที่มาแรงตอนนี้ก็คือ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งปัจจุบันอายุ 55 ปี
แบงก์รัฐคิวต่อไป
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า จะเสนอแต่งตั้งกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่ตนกำกับดูแลเร็ว ๆ นี้ โดยล่าสุดรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมา ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะต้องเสนอไปอย่างน้อย 2 เท่าของตำแหน่งที่ว่างลง
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ผ่านมา มีการขยับ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นเป็นประธานบอร์ด เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวว่างลง จากการที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลาออกไปรับตำแหน่ง รมช.คลัง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของแบงก์รัฐ ในสังกัดกระทรวงการคลัง ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเปลี่ยนตัวบุคคล ทั้งในโควตาผู้แทนกระทรวงการคลัง และกรรมการอิสระ
นอกจากนี้ ในส่วนของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ก็อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา กรรมการผู้จัดการ อีกด้วย
สุญญากาศ กฟผ.-กปภ.
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งการประปา การไฟฟ้า มีการแจ้งให้บอร์ดเก่าลาออกยกชุดแล้ว ทำให้บางรัฐวิสาหกิจไม่มีการประชุมบอร์ดมานานร่วม 2 เดือน ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ส่งผลกระทบทำให้งานไม่เดินหน้า
ด้านรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรากฏยังไม่มีทั้ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และคณะกรรมการ กฟผ. โดยหลังจากที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน พ้นจากตำแหน่งหลังเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2566 สถานะของคณะกรรมการ กฟผ.ได้ถูกระบุไว้ว่า “อยู่ระหว่างการสรรหาและแต่งตั้ง”
ส่วนเก้าอี้ ผู้ว่าการ กฟผ. หลังจากที่ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ครบวาระไปในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ตกอยู่ในภาวะชะงักงัน แม้ว่าในปลายสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะกรรมการสรรหาได้มีมติเลือก นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ และบอร์ด กฟผ. ชุดของนายกุลิศ ในขนาดนั้นได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว แต่เรื่องก็ถูกยื้อมา
“ตอนนี้ กฟผ.ไม่มีทั้งบอร์ด และผู้ว่าการ กฟผ. มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม เนื่องจากการเสนอชื่อ นายเทพรัตน์ ในช่วงรัฐบาลรักษาการถูก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีตกไป โดยอ้างว่าไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และควรรอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา จึงกลายมาเป็นปมเงื่อนไม่มีการเสนอชื่อ นายเทพรัตน์ กลับเข้าไปใหม่ จากความเห็นที่ว่า ยังต้องรอให้มีการแต่งตั้ง บอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ แล้วเสร็จก่อน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)”
ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน เนื่องจากคณะกรรมการ กปภ.ได้ลาออกไปแล้ว ประกอบกับ นายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการ กปภ. ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2566 โดยระบุว่า “มีปัญหาสุขภาพ”