ส่องทิศทางครึ่งปีหลัง ธุรกิจไหนฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 ได้ก่อน

คอลัมน์ Smart SMEs วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2563 กันแล้วนะครับ สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยแม้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถึงแม้วิกฤตครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจเป็นวงกว้าง แต่เราก็น่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วจากช่วงที่เศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ แต่การฟื้นตัวของธุรกิจส่วนใหญ่ที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ของแต่ละธุรกิจคาดว่าต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปีจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจำเป็นต้องวางแผนจัดหาหรือบริหารจัดการสภาพคล่องของตัวเองให้เพียงพอต่อการรับมือกับระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจที่อาจนานกว่าคาดเอาไว้

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่โหมด ปิด ๆ เปิด ๆ (w-shape) คือ พร้อมที่จะเปิดดำเนินธุรกิจ และต้องรับมือได้หากต้องปิดดำเนินการเนื่องจากการระบาดกลับมาอีกครั้ง แต่ปิดครั้งถัดไป จะสั้นลง ๆ กว่าครั้งแรก แต่ก็ทำให้การค้าขายเป็นไปบนความเชื่อมั่นที่ไม่เต็มร้อย โดยหากประเมินภาพรวมการฟื้นตัวของธุรกิจจากมิติด้านยอดขายหรือขนาดการผลิตเบื้องต้นพบว่า

– ธุรกิจที่อาจฟื้นตัวได้ก่อน แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่

1. กลุ่มสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เช่น อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีรอบการเปลี่ยนสั้น (fast-moving consumer goods : FMCG) ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบริการด้านสุขภาพ

2. กลุ่มสินค้าและบริการใน sub-segment ของบางธุรกิจที่แม้มูลค่าตลาดยังเป็นสัดส่วนน้อยแต่ก็ขยายตัวสอดคล้องไปกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง เช่น ค้าปลีกออนไลน์ บริการขนส่งอาหารและสิ่งของถึงที่พัก และบริการคลาวด์โซลูชั่นต่าง ๆ เป็นต้น

– ธุรกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป คือ กลุ่มสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคมองว่ายังไม่จำเป็นต้องซื้อ โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่มีมูลค่าต่อชิ้นสูง จะยิ่งมีข้อจำกัดในการใช้จ่าย ซึ่งสินค้าประเภทนี้ก็ได้แก่ รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย กิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยว (แม้ในระยะสั้นจะได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐก็ตาม) นอกจากนี้ธุรกิจส่งออกที่มีตลาดปลายทางแต่ละประเทศต่างก็เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มผันผวนแข็งค่า ก็คาดว่าจะยังเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าไทยโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจภายใต้ความปกติใหม่หรือ new normal แต่ละธุรกิจจำเป็นต้องรักษากระแสเงินสดหรือสภาพคล่องเพื่อให้กิจการอยู่รอดและสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกธุรกิจได้พยายามปรับตัวกันมาระดับหนึ่งแล้ว ทั้งการลดภาระค่าใช้จ่ายและการหาวิธีสร้างรายได้ใหม่ ๆ ส่วนธุรกิจที่มีศักยภาพหรือความพร้อมอาจใช้โอกาสนี้ลงทุนและพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในช่วงที่กำลังการผลิตยังทำได้ไม่เต็มที่


นอกจากการไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอแล้ว ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ (productivity) การส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่มือผู้บริโภคด้วยต้นทุนที่ต่ำสุด (logistics) และการเข้าไปอยู่ในทุก ๆ ช่องทางที่จะช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด (near customers) โดยผู้ประกอบการคงต้องอาศัยการผสมผสานช่องทางการขายทั้งออนไลน์และหน้าร้าน ควบคู่กับการจัดทำโปรโมชั่นหรือแคมเปญการตลาดในจังหวะเวลาที่เหมาะสม