สรรพสามิต เผยแนวทางโครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมเร่งสรุป

สรรพสามิต เร่งสรุปโครงสร้างภาษีรถยนต์ ลดภาษีให้ผู้ประกอบการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาผลิตในไทย เตรียมทบทวนตั้งกองทุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หลังมีแนวคิดมานานกว่า 2 ปี แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีแบตเตอรี่ก้าวหน้า นำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ได้

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ตามโยบายของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยหลักการในเบื้องต้น กรมจะพิจารณาการลดอัตราภาษีให้กับผู้ประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หากผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษน้อย ก็จะได้รับการเสียอัตราภาษีที่ต่ำไปด้วย

“การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งระบบนั้น กรมจะต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากอัตราโครงสร้างภาษีอีโคคาร์ จะหมดสิทธิประโยชน์ในปี 2568 ฉะนั้น จะต้องเร่งทำให้เห็นชัดเจนโดยเร็ว เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนล่วงหน้าในการย้ายเข้ามาลงทุนในไทยได้ เพราะการลงทุนจะต้องมีการวางแผนการลงทุนระยะยาว”

อย่างไรก็ตาม กรมยังเชื่อว่าประเทศไทยยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างภาษีในการส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคยังสามารถแข่งขันได้ และตลาดภายในประเทศไทย ก็ยังมีผู้ใช้ขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับบางประเทศในอาเซียน ที่ยังมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่มาก แต่คู่แข่งบางประเทศยังมีจุดแข็งในเรื่องแร่ธาตุที่หายาก สำหรับใช้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้าบางชนิด

พร้อมกันนี้ กรมมีแนวคิดที่จะทบทวนแนวทางการจัดตั้งกองทุนแบตเตอรี่ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในปัจจุบันที่พัฒนาก้าวหน้าไปมาก เนื่องจากที่ผ่านมากรมมีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุน เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้ามากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งยังเป็นแนวคิดในการกำจัดแบตเตอรี่รถยนต์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ แต่ขณะนี้เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่เปลี่ยนไปมากแล้ว แบตเตอรี่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยไม่ต้องกำจัดเหมือนในอดีต ฉะนั้น กรมจะไปพิจารณาในส่วนนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องการจัดตั้งกองทุนอีกครั้ง

“สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมได้มีการหารือกับผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชั้นนำของประเทศ แล้วพบกว่าการผลิตแบตเตอรี่มีความก้าวหน้าไปจากเดิมมากๆ ซากของแบตเตอรี่ไม่จำเป็นต้องนำไปทิ้งหรือกำจัดแล้ว เพียงปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์ในตัวแบตเตอรี่บางชนิด ก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น จากแบตเตอรี่รถยนต์ หากครบอายุการใช้งานแล้ว สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบตเตอรี่ในบ้านได้ หรือเปลี่ยนแค่แผงเซลล์ไฟฟ้าบางชิ้น ก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้”