“กสิกรไทย” ชี้ พิษโควิดฉุดมูลค่าธุรกิจร้านอาหาร ปี’64 ส่อสูญ 7 หมื่นล้าน

ร้านอาหาร

“กสิกรไทย” ชี้พิษโควิดฉุดมูลค่าธุรกิจร้านอาหาร ปี’64 ส่อสูญ 7 หมื่นล้านบาท

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ผลกระทบการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ต่อมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 โดยชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้ที่ยาวนานและการยกระดับมาตรการควบคุมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหารที่รายได้หลักมาจากการให้บริการนั่งทานในร้าน (Full Service)

กอปรกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับลดประมาณการมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในกรณีพื้นฐาน ทั้งปี 2564 เหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท ขณะที่ในกรณีเลวร้ายจะลดลงเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าธุรกิจร้านอาหารหดตัวลง 17.3 13.5%
โดยเมื่อการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ กลับมาพบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่งผลให้ทางการต้องยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง โดยในส่วนของธุรกิจร้านอาหารต้องกลับมางดให้บริการการนั่งทานในร้านให้เหลือเพียงช่องทางการนำกลับไปบริโภค เป็นระยะเวลา 30 วัน แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวคงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี เพื่อลดผลกระทบและช่วยเหลือผู้ประกอบการและพนักงาน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าชดเชยแรงงานโดยครอบคลุมจังหวัดที่ออกมาตรการห้ามนั่งในร้านอาหาร ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา อาทิ มาตรการโคเพย์ โดยภาครัฐร่วมจ่ายค่าจ้างให้กับเอสเอ็มอีเพื่อพยุงการจ้างงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การระบาดของโควิดระลอกนี้ น่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่รายได้หลักมาจากการให้บริการนั่งทานในร้าน (Full Service) เช่น สวนอาหาร ร้านอาหาร Buffet ร้านอาหาร Fine Dinning ซึ่งมีรายได้มากกว่าร้อยละ 70 จากช่องทางดังกล่าว รวมถึงมีข้อจำกัดในการปรับตัว ทำให้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง

ขณะที่ร้านอาหารกลุ่มอื่น อาทิ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) และร้านอาหารข้างทาง (Street food) ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการสูงกว่าน่าจะได้รับผลกระทบลดหลั่นกันลงไปตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

และแม้ว่าภายหลังจากครบกำหนด 30 วัน สถานการณ์โควิดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอาจจะดีขึ้น จนทางการกลับมาผ่อนคลายมาตรการให้เปิดบริการนั่งทานในร้านได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาคือ ธุรกิจร้านอาหารยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ขณะเดียวกันผู้บริโภคมีความกังวลจากโควิด-19 ทำให้หลีกเลี่ยงการออกไปนั่งทานที่ร้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจร้านอาหารที่จะยังไม่กลับมาฟื้นตัว

จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 นี้ โดยประเมินทิศทางธุรกิจร้านอาหารไว้ 2 กรณี ดังนี้

กรณีพื้นฐาน ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว ธุรกิจร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลสามารถกลับมาเปิดให้บริการนั่งในร้านได้ตามปกติ การใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะทยอยกลับมา ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 5.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท (-13.5%)

กรณีเลวร้าย ความเสี่ยงการระบาดของโควิดที่อาจจะมีการกระจายตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง และยาวนานกว่า 30 วัน ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ทางการอาจจะคงมาตรการควบคุมการระบาดของโรคและการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการให้บริการนั่งในร้านจะยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีความล่าช้าและสร้างผลกระทบในระยะกลางกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 7.0 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท (-17.3%)

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารจะพยายามปรับตัวอย่างสุดความสามารถ และภาครัฐได้มีการออกนโยบายช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ผลกระทบต่อเนื่องที่สะสมได้สร้างความบอบช้ำอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ภาครัฐอาจมีความจำเป็นในการที่จะควบคุมการระบาดของโรคโควิดเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารจะมีความแตกต่างในโครงสร้างของธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านต้นทุนซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นของสด และมีวันหมดอายุ (ต้นทุนอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25-40 ของรายได้) ทำให้การประกาศมาตรการควบคุมในระยะข้างหน้า ทางการอาจจะพิจารณามาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเบาไปที่เข้มงวด (หรือใช้การหน่วงเวลา) เพื่อให้ภาคธุรกิจร้านอาหารสามารถเตรียมพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงมาตรการ ผ่านการลดสต๊อกวัตถุดิบ ปรับช่องทางการขาย รวมถึงการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภค

นอกจากนี้ ในระยะต่อไปภาครัฐอาจมีการพิจารณาการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมปัญหาในมิติอื่น ๆ ของผู้ประกอบการร้านอาหาร เช่น ค่าเช่าพื้นที่และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค การเข้าถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงหลักเกณฑ์การชดเชยที่มีต่อผู้ประกอบการและกลุ่มลูกจ้างที่ชัดเจนและครอบคลุมทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น


กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น และการประกาศยกระดับของมาตรการ ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจร้านอาหาร ทำให้มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารในกรณีพื้นฐาน ทั้งปี 2564 อาจเหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท ขณะที่ในกรณีเลวร้ายจะลดลงเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท นอกจากนี้ สถานภาพของผู้ประกอบการที่บอบช้ำอย่างรุนแรง ทำให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของธุรกิจ