“ศุภวุฒิ” เตือนเศรษฐกิจไทยชะงัก ดอกเบี้ยขาขึ้น-น้ำมันพุ่งซ้ำเติมวิกฤต

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2565 “ปีหัวเลี้ยวหัวต่อ” เอฟเฟ็กต์เฟดเร่งคุมเงินเฟ้อ “ขึ้นดอกเบี้ย-ดูดเงินกลับ” เตือนเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ไม่พร้อมรับมือนโยบายการเงินตึงตัว

เผย “ดอกเบี้ยขาขึ้น-ราคาพลังงานพุ่ง-ค่าครองชีพแพง” ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย ปั่นป่วนภาคธุรกิจเจอปัญหาต้นทุนการเงิน-ต้นทุนผลิตสูงขึ้น หวั่นไทยเจอภาวะ stagnation เศรษฐกิจชะงักงัน ทุกเซ็กเตอร์มีปัญหารุมเร้า “เกษตร-ยานยนต์-ท่องเที่ยว” ไม่มีแผนปรับโครงสร้าง ขาดเครื่องยนต์ขับเคลื่อน รัฐบาลมีแค่ “คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมครั้งล่าสุด เป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ว่า เฟดจะดำเนินนโยบาย 2 เด้ง คือ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการลดทอนงบดุล ซึ่งเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากระบบด้วยการปล่อยให้พันธบัตรที่ซื้อมาครบอายุ (quantitative tightening : QT) ซึ่งก็คือการขึ้นดอกเบี้ยระยะยาว

“ตลาดหวั่นไหวว่าจะมาแรงและมาเร็วทั้งดอกเบี้ยขึ้นและลดงบดุล คาดว่าจะลดงบดุลตั้งแต่เดือน มิ.ย.หรือ ก.ค. 2565 เป็นต้นไปหลังจากที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มี.ค.นี้ จะเห็นได้ว่าตัวที่ตอบสนองมากที่สุด คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นมาแต่ะ 1.8%

ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ประกาศว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ แต่ตลาดคาดการณ์ไปว่าจะเริ่มช่วงเดือน มิ.ย. 2565 ซึ่งบอนด์ยีลด์ขึ้นไปแล้ว 0.20-0.30% จึงเห็นตลาดหุ้นติดลบลงมาเนื่องจากหุ้นไม่ชอบดอกเบี้ยสูง” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ศก.ไม่พร้อมรับ “ดอกเบี้ยขาขึ้น”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต้องถามว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยพร้อมที่จะให้ดอกเบี้ยขึ้นแล้วหรือยัง จากที่ประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่น ๆ ใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักในการค้าขาย ดังนั้น นโยบายของสหรัฐจะส่งผ่านมายังประเทศไทยแน่นอน

ยิ่งไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ และเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดยิ่งกระทบแน่นอน คือทำให้นโยบายการเงินของไทยต้องรัดกุมมากขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้

เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็บอกตรง ๆ ว่าอยากให้จีดีพีโตก่อนดีกว่า เพราะตอนนี้จีดีพีค่อนข้างแย่ถ้าเปรียบเทียบกับสหรัฐช่วงปี 2563 ที่มีโควิดรอบแรกจีดีพีสหรัฐติดลบ 3.1% ซึ่งปกติจีดีพีสหรัฐจะโตอยู่ที่ 2% พอปีที่แล้วสหรัฐฟื้นตัวเต็มพิกัดจีดีพีกลับมาโตกว่า 6% ถือว่าจีดีพีปีที่แล้วมาชดเชยที่ติดลบไปในปีก่อนได้เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่จีดีพีไทยปี 2563 ติดลบ 6.1% จากปกติโต 3-4% ต่อปี นั่นหมายความว่ามีส่วนต่าง (output gap)อยู่ 10% และปี 2564 คาดว่าโตแค่ 1% ส่วนต่างของจีดีพีเยอะขนาดนี้จะขึ้นดอกเบี้ยได้ยังไง

ดังนั้น ในแง่ของแบงก์ชาติก็คงพยายามไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ผลจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว 10 ปี ของสหรัฐปรับขึ้น ก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวของไทยปรับขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งทำให้เกิดการตึงตัวทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

กดดันบาทอ่อน-เงินไหลออก

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ขณะที่อีกด้านถ้าสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐกับไทยในเชิงกลับขากัน เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 0-0.25% ดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ราว ๆ 0.5% แต่ต่อไปจะกลายเป็นว่าดอกเบี้ยสหรัฐจะขยับเป็น 1% ขณะที่ดอกเบี้ยไทยเป็น 0.5% ก็จะทำให้โอกาสเงินไหลออกจะมีมากขึ้น ค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามากขึ้น และส่งผลเงินเฟ้อ

เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าได้ราคาเป็นดอลลาร์ ถ้าดอลลาร์แข็งราคาสินค้าส่งออกก็จะแพงในประเทศด้วย อย่างเช่น ข้าว หรือสินค้านำเข้าก็จะมีราคาสูงขึ้น ฉะนั้น ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐก็จะส่งผ่านตรงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ต้นทุนสินค้า ต้นทุนทางธุรกิจของไทยก็สูงขึ้น

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทรย้ำว่า เศรษฐกิจยังไม่ได้พร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นเพราะจะทำให้บริหารจัดการยาก โดยเฉพาะหากต้องเจอปัญหาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปอีก ก็กลายเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนสูงขึ้น (cost-push inflation) ไม่ใช่เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ (demand-pull inflation) ซึ่งเราอยากเห็นเงินเฟ้อที่มาจากดีมานด์ที่เพิ่มแต่กลายเป็นเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุน

“ราคาน้ำมันดิบจะไปถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรลเหมือนที่หลาย ๆ บริษัทคาดการณ์หรือเปล่าไม่รู้ แต่ไม่ต้องรอให้ถึง 100 เหรียญประเทศไทยก็แย่อยู่แล้ว เพราะ 1.ถ้าค่าเงินบาทอ่อนก็ยังทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น และ 2.รัฐบาลเดิมพันด้วยกองทุนน้ำมันช่วยตรึงราคาพลังงาน

ตอนนี้ก็ต้องกู้เงินมาอุดหนุนเดือนละกว่า 6,000 ล้านบาท ที่ราคาน้ำมัน 80 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้าราคาน้ำดิบขึ้นไปถึง 100 เหรียญคงจะแย่มากว่านี้เยอะ ประชาชนต้องเจอกับปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ต้องเตรียมใจรับกับปัญหาของแพงต่อเนื่อง ภาคธุรกิจก็มีต้นทุนสูงขึ้น”

ดบ.ขึ้น-ต้นทุนพุ่งซ้ำเติม ศก.

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า แม้ไม่มีปัญหาราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยก็มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 คนไทยเป็นหนี้เพิ่มขึ้น และมีรายได้ลดลง ฐานะการเงินของคนไทยแย่ลงกว่าเดิมเยอะมาก ดังนั้น พอมีปัญหาอื่น ๆ มาซ้ำเติมทั้งค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ก็ทำให้สถานการณ์หนักมากขึ้น

“ถามว่าจะเกิดความปั่นป่วนแค่ไหน ก็ดูได้จากรัฐบาลที่กำลังจะมีคนละครึ่ง เฟส 4 เฟส 5 ออกมา เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำแบบนี้”

ส่วนความปั่นป่วนที่จะเกิดขึ้นในตลาดเงิน-ตลาดทุน ตอบไม่ได้เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐจะควบคุมเงินเฟ้อได้แค่ไหน เกิดคุมไม่ได้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะปีที่แล้วเฟดประเมินเงินเฟ้อต่ำเกินไป ว่าจะอยู่แค่ชั่วคราวเดี๋ยวก็ไป ถ้าปีนี้ยังประเมินต่ำไปคงดูไม่จืดเลย พูดง่าย ๆ คือถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งแล้ว แล้วเงินเฟ้อยังไม่ลง แบบนี้คงหนัก เพราะฉะนั้น ปัจจัยทุกอย่างตอนนี้กลับไปที่คำถามเดียว คือ เงินเฟ้อที่สหรัฐปราบง่ายหรือเปล่า

“ปีนี้เป็นปีที่หัวเลี้ยวหัวต่ออย่างมาก เป็นปีที่นโยบายการเงินจะต้องเปลี่ยนท่าทีมากว่าที่ตลาดคาดคิดไว้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อสหรัฐปราบง่ายหรือเปล่า ที่สำคัญต้องปราบให้ได้ภายในปลายปีนี้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะปราบไม่ได้” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

จับตาครึ่งปีหลังทรุดหนัก

ดร.ศุภวุฒิวิเคราะห์ว่า สำหรับ ธปท.คงพยายามไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรืออาจจะขึ้นแค่ครั้งเดียวในปีนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อสหรัฐปราบได้แค่ไหน ถ้าปราบไม่ได้และเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเยอะ ๆ ถ้าเป็นแบบนี้ ธปท.จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเลยก็คงยาก

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อ ตัวเลขการจ้างสหรัฐเดือน มิ.ย.-ก.ค. 65 จะเป็นตัวบอก ซึ่งถ้าขึ้นดอกเบี้ย-ลดทอนงบดุลแล้วเงินเฟ้อยังไม่ลด อัตราว่างงานไม่ลด โดยเฉพาะถ้ามีเรื่องราคาน้ำมันเข้ามาด้วย เฟดก็อาจจะขึ้นดอกเบี้ยหนักขึ้น ดังนั้น จากที่นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เพราะผ่านพ้นการระบาดของโอมิครอนในช่วงต้นปี

แต่สำหรับตนเองนั้นมองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะเผชิญปัญหาหนักขึ้นจากการส่งผ่านปัญหาเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของสหรัฐที่จะเข้ามาส่งผลกระทบ ส่วนตัวไม่ได้มองโอมิครอนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

“ตัวเลขจีดีพีไม่ได้เป็นตัวสำคัญ แต่ตัวสำคัญคือเงินเฟ้อและปฏิกิริยาการตอบสนองเงินเฟ้อของสหรัฐ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยและลดทอนงบดุลจะไปมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีก 12 เดือนข้างหน้า ทำให้ตัวเลขจีดีพีปัจจุบันเป็นการสะท้อนโยบายในอดีต”

ธุรกิจเร่งล็อกต้นทุนหุ้นกู้

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า การส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดงบดุลของสหรัฐ นอกจากผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนที่มีความผันผวนสูงในเวลานี้ แม้ ธปท.จะพยายามไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ยังมีการส่งผ่านดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ดี บอนด์ยีลด์ไทยจะพุ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจสูงขึ้น ภาคธุรกิจที่ออกบอนด์ หุ้นกู้ก็จะมีต้นทุนการเงินสูงขึ้น แน่นอนว่าปีนี้ก็คงจะเห็นภาคธุรกิจที่มีแผนการลงทุนก็คงจะเร่งระดมทุนออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนในระยะยาว

เศรษฐกิจไทยเจอ Stagnation

ดร.ศุภวุฒิฉายภาพว่า เงินเฟ้อไทยยังไม่สูงแต่มีโอกาสสูง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่อง stagflation แต่จะเป็น stagnation (เศรษฐกิจชะงักงัน) มากกว่า จากการที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างหมักหมมเยอะมากโดยไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเก่าก็ไม่ได้แก้ ปัญหาใหม่ที่เข้ามาก็ไม่ได้แตะ

เศรษฐกิจหลังโควิดต้องปรับโครงสร้าง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็ไม่ได้ปรับนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มีแต่มาตรการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน แค่ประคองกำลังซื้อ แต่ไม่รู้เลยว่าเศรษฐกิจไทยจะหาการเติบโต (growth engine) จากไหนมาขับเคลื่อน คนจะทำอาชีพอะไรกันในอนาคต

“เพราะปัญหาเยอะมาก จับไปตรงไหนก็มีปัญหาหมด อุตสาหกรรมเกษตรก็มีปัญหาเยอะ โปรดักทิวิตี้ก็ต่ำ ความสามารถการแข่งขันก็ลดลง อย่างส่งออกข้าวก็ลดลงมาเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เคยเป็นจุดแข็ง โลกเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมอีวี แต่วันนี้ประเทศไทยก็ยังไม่เริ่ม”

ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด ตอนนี้ก็ยังไม่มีแผนการปรับโครงสร้างภาคท่องเที่ยวว่าจะเดินไปต่ออย่างไร หรือแม้แต่อุตสาหกรรมพลังงาน ก๊าซในอ่าวไทยก็กำลังจะหมด แตะเรื่องไหนก็มีปัญหาหมด

แม้กระทั่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ควรจะเป็น support industry โครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจในอนาคต แต่กลับพบว่าผู้เล่นในตลาดลดลงไปเรื่อย ๆ แสดงว่ากำลังถูกโมโนโพลี ทั้ง ๆ ที่ควรจะทำให้เกิดการแข่งขัน มีผู้เล่นหลายราย เพราะการที่ผู้ประกอบการแข็งแรงก็ดี แต่ถ้าแข็งแรงมากไปผู้บริโภคก็แย่

“เลือกตั้ง” ความหวัง-ทางเลือก

ดร.ศุภวุฒิกล่าวทิ้งท้ายว่า คงไม่ต้องพูดถึงศักยภาพการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เอาตัวเองให้รอดคงไม่ต้องไปดูคนอื่น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยอาจมีความหวังถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปก็หวังว่าพรรคการเมืองจะมีอะไรมาเสนอประชาชน อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนมีความหวังและทางเลือก

“ปัญหาเศรษฐกิจไทยจะลากยาวแค่ไหนมี 2 ทางเลือก คือ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมีมาตรการสร้างและฟื้นฟูประเทศอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือรัฐบาลจะยุบสภาเมื่อไหร่เพื่อให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอมาตรการและแผนการในการฟื้นฟูปรับโครงสร้างประเทศ”