รื้อใหญ่ภาษีรถยนต์ทั้งระบบ ดันอีวี-อุ้มรถสันดาปต่ออีก 3 ปี

รถอีวี

ยกเครื่องภาษีสรรพสามิตใหม่ดัน “รถอีวี-กระบะอีวี” เต็มสูบ มีผลทันทีลดภาษีจาก 8% เหลือ 2% เปิดช่องอุ้มรถสันดาปต่ออีก 3 ปี เริ่มใช้ปี 2569 ชี้ยังอิง CO2 ค่ายไหนทำไม่ได้เสียอัตราภาษีเพิ่มเป็นขั้นบันได  ค่ายรถแฮปปี้มีเวลาปรับตัว หลายแบรนด์พร้อมขยับหนีไปไฮบริด ส่วนค่ายอีโคคาร์ยอมรับสภาพต้นทุนต่อคันเพิ่มแน่ คลังเผยรถอีวีจีนพร้อมเข้าร่วมมาตรการจูงใจอีก 2-3 รายในปีนี้ ย้ำชัดลดภาษีเหลือ 2% รถจีนต้องลดราคาอีกคันละ 7-8 หมื่นบาท ยุโรปอาจจะได้ถึง 6 แสนบาท จับตาขาดแคลนชิปทำมาตรการส่งเสริมอีวีสะดุด

นายเอกนิติ นิติทัณฑประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป

“อีวี-อีโคคาร์” มีผลทันที

รายงานจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตามกฎกระทรวงฉบับล่าสุดจะมีผลในการเก็บภาษีรถยนต์ 6 ประเภททันทีนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (9 มิ.ย. 2565) ได้แก่ 1.รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) หรือรถยนต์อีวี จะแบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค. 2568 จะจัดเก็บภาษีในอัตรา 8% (ยกเว้นกรณีอธิบดีประกาศกำหนด หรือตามมาตรการส่งเสริมอีวี จัดเก็บที่ 2%) และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป จะจัดเก็บภาษี 10%

2.รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบมาตรฐานสากล (Eco car) หรืออีโคคาร์ โดยกรณี “อีโคคาร์ เฟส 1” จัดเก็บภาษีในอัตรา 14% ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค. 2566 ส่วนกรณี “อีโคคาร์ เฟส 2” จัดเก็บภาษีในอัตรา 10-12% ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค. 2568 ซึ่งจะพิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2 และการติดตั้งมาตรฐานความปลอดภัย

3.รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (PPV) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) หรือ PPV ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จัดเก็บภาษี 10% ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค. 2578

4.รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จัดเก็บภาษี 5% ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป

Advertisment

5.รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า หรือกระบะอีวี แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค. 2568 จัดเก็บภาษี 0% จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578 จัดเก็บภาษี 2% และ 6.รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) จัดเก็บภาษี 0-1% กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค. 2568 และ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578 จะจัดเก็บภาษี 5%

เสียภาษีอัตราใหม่เริ่มปี’69

ส่วนกรณีรถสันดาปภายใน โครงสร้างภาษีใหม่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 โดยการจัดเก็บภาษีจะพิจารณาตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 “รถยนต์นั่ง” ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2570 จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าที่ 13-34% จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2571-31 ธ.ค. 2572 จัดเก็บภาษี 14-36% และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป จัดเก็บภาษี 15-38% (ปล่อย CO2 ไม่เกิน 100, 100-120, 120-150, 150-200 และเกิน 200 กรัม/กม.) ส่วนรถเกิน 3,000 ซีซี จัดเก็บภาษี 50%

Advertisment

“รถ PPV” ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578 จัดเก็บภาษี 18-50% ส่วน “รถ PPV” ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) จัดเก็บภาษีที่ 16-50% (ปล่อย CO2 ไม่เกิน 185, 185-200 และเกิน 200 กรัม/กม.)

“รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน” ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2570 จัดเก็บภาษี 13-34%, ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2571-31 ธ.ค. 2572 จัดเก็บภาษีในอัตรา 14-36% และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป จัดเก็บภาษีในอัตรา 15-38% (ปล่อย CO2 ไม่เกิน 100, 100-120, 120-150, 150-200 และเกิน 200 กรัม/กม.) ส่วนรถที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี จัดเก็บภาษี 50%

สำหรับ “รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน” ประเภท “ไฮบริด” ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี จะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2570 จัดเก็บภาษี 6-9-14-19-24%, ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2571-31 ธ.ค. 2572 จัดเก็บภาษี 8-11-16-21-26% และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป จัดเก็บภาษี 10-13-18-23–28% (ปล่อย CO2 ไม่เกิน 100, 100-120, 120-150, 150-200 และเกิน 200 กรัม/กม.) ส่วนความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี จะจัดเก็บภาษี 40%

ด้าน “รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน” ประเภท “ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี กรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 80 กม./การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร จัดเก็บภาษี 5% ส่วนกรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ต่ำกว่า 80 กม./การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตร จัดเก็บภาษี 10% ส่วนรถความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี จะจัดเก็บภาษี 30% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569

กรณี “รถยนต์นั่ง” ประเภทประหยัดพลังงานแบบเซลล์เชื้อเพลิง กรณีเป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด จะจัดเก็บภาษี 1% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ส่วนกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากอธิบดีกำหนดจะเก็บที่ 5% นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค. 2568

ส่วน “รถยนต์กระบะ น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม” ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป หากเป็น “กระบะ No Cab” จัดเก็บภาษี 3-5%, “กระบะ No Cab ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20)” จัดเก็บภาษี 2-4%, “กระบะ Space Cab ที่ใช้ B20” จัดเก็บภาษี 3-7%, “กระบะ Space Cab” จัดเก็บภาษี 5-8%, “กระบะ 4 ประตู หรือ Double Cab” จัดเก็บภาษี 8-13%, ส่วน “กระบะ Double Cab ที่ใช้ B20” จัดเก็บภาษี 6-12% (ปล่อย CO2 ไม่เกิน 185, 185-200 และเกิน 200 กรัม/กม.)

โครงสร้างสรรพสามิตรใหม่

ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กล่าวว่า โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะทำให้ภาษี “รถอีวี” ลดลงจาก 8% เหลือ 2% ทันที ยกเว้น “รถกระบะอีวี” จะลดลงเหลือ 0% ทันที แล้วไปปรับขึ้นเป็น 2% ในปี 2569 เช่นเดียวกับรถยนต์สันดาปภายใน ที่โครงสร้างภาษีใหม่จะเริ่มมีผลต่อรถยนต์ที่ผลิตในปี 2569 เพื่อให้เวลาผู้ผลิตทุกรายได้มีเวลาปรับตัวในการผลิตรถยนต์ที่สามารถปล่อยก๊าซ CO2 ลงให้ได้ตามเกณฑ์ใหม่ เพื่อที่จะเสียภาษีในอัตราเท่าเดิม หรือน้อยลงกว่าเดิมได้

ปรับตัวไม่ได้ต้องเสียภาษีเพิ่ม

“หลังจากนี้จึงขึ้นกับว่า แต่ละค่ายผู้ผลิตจะพัฒนารถยนต์ของตัวเองไปในทิศทางไหน ถ้าผู้ผลิตสามารถปรับตัว ผลิตรถยนต์ที่ปล่อย CO2 ได้น้อยลง ก็จะเสียภาษีน้อยลงกว่าเดิมได้ แต่หากใครยังผลิตรถที่ปล่อย CO2 อยู่เท่าเดิม อัตราภาษีก็จะค่อย ๆ ทยอยปรับขึ้น ทีละ 1-2% ตั้งแต่ปี 2569 จากนั้นจะปรับอีกในปี 2571 และปรับอีกทีในปี 2573 คือ ปรับทุก ๆ 2 ปี” นายณัฐกรกล่าว

ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่นั้น กรมสรรพสามิตไม่ได้คาดหวังเรื่องการเก็บรายได้ภาษีที่จะเพิ่มขึ้น แต่มุ่งหวังการปรับเพื่อให้การปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศมากกว่า
“เรื่องรายได้อาจจะเพิ่มเล็กน้อย หรือเท่า ๆ เดิม แต่ยังคาดการณ์ได้ยาก เพราะต้องดูการปรับตัวของผู้ผลิตเป็นสำคัญ ว่าเขาจะปรับตัวกันไปอย่างไรในอนาคต เราต้องการให้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือถ้าจะไม่พัฒนาทางเครื่องยนต์สันดาปภายในแล้ว ก็ปรับตัวไปผลิตรถอีวี รถไฮบริดไปเลย” นายณัฐกรกล่าว

รถอีวีจีนร่วมอีก 2-3 ค่าย

นายณัฐกรกล่าวว่า หลังจากที่การลดภาษีรถอีวี 2% มีผลตามประกาศแล้ว คาดว่าจะทำให้ค่ายรถทยอยเข้ามาเซ็นสัญญาเข้าร่วมมาตรการกับกรมสรรพสามิตมากขึ้น โดยภายในปีนี้น่าจะมีค่ายรถยนต์จากจีนอีก 2-3 ค่าย

หวั่นชิปขาดแคลนอีวีสะดุด

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ภาษีสรรพสามิตรถอีวีที่ลดเหลือ 2% จะทำให้รถอีวีที่เข้าร่วมมาตรการได้รับส่วนลดลงมาอีก 70,000-80,000 บาทต่อคัน โดยส่วนลดดังกล่าวยังไม่รวมกับการลดภาษีนำเข้าศุลกากร และเม็ดเงินที่รัฐสนับสนุนให้อีกคันละ 150,000 บาท

รวมส่วนลดทั้งหมดที่ประชาชนได้รับ ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีนำเข้าศุลกากร และเม็ดเงินสนับสนุนจากรัฐแล้ว โดยรถอีวีที่นำเข้าจากจีนจะได้รับส่วนลดคันละ 250,000 บาท เพราะภาษีนำเข้าเป็น 0% ตามข้อตกลงการค้า ส่วนรถจากประเทศอื่น ๆ จะได้รับส่วนลดตั้งแต่ 300,000-600,000 บาท แล้วแต่ประเทศที่นำเข้า ซึ่งรถอีวีที่นำเข้าจากยุโรปจะได้รับส่วนลดกว่า 600,000 บาท

“แม้การประกาศลดภาษีสรรพสามิตจะสร้างความชัดเจนให้ค่ายรถยนต์สนใจที่จะเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้รถอีวี แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิป ซึ่งสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ส่วนนี้อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมมาตรการชะลอออกไปก่อนเพื่อวางแผนธุรกิจ เนื่องจากหากเข้าร่วมมาตรการแล้ว แต่ไม่มีรถเข้ามาวางจำหน่ายก็อาจจะมีผลกระทบ”

ฮอนด้าหนีไป e-HEV

แหล่งข่าวระดับบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฮอนด้าปรับตัวพร้อมรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่มาระยะหนึ่ง ตอนนี้ฮอนด้าพยายามเพิ่มไลน์อัพสินค้า โดยการนำเสนอรถยนต์ในกลุ่มไฮบริด หรือ e-HEV เพิ่มมากขึ้น โดยมีการนำเสนอรถยนต์ทุกโมเดลของบริษัท อย่างล่าสุดในฮอนด้า เอชอาร์-วี ได้ถอดรุ่นเครื่องยนต์เพียวเบนซินออกไปแล้ว เป็นไฮบริดทั้งหมด รวมทั้ง ฮอนด้า ซีวิคด้วย

“นโยบายของบริษัทแม่มุ่งสู่เป้าหมายว่า ภายในปี 2030 ฮอนด้าจะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง ให้เป็นสัดส่วน 40% ของยอดขายทั่วโลก และเพิ่มเป็น 80% ในปี 2035 จนไปถึง 100% ในปี 2040 เชื่อว่าจากนี้ไปจะได้เห็นรถยนต์พลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น และฮอนด้าก็จะมีสัดส่วนของรถยนต์ไฮบริดเพิ่มมากขึ้น ก่อนก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานไฟฟ้า 100%”

เผยแกปไอเสียแคบลง

แหล่งข่าวระดับสูงจากค่ายฮอนด้ากล่าวเสริมว่า การปรับแกปของค่าไอเสียให้แคบลงจากเดิม ซึ่งห่างกันเป็นร้อยกรัมต่อ กม. มาเป็น 100-120, 120-150, 150-200 กรัมต่อ กม. และทุกแกปมีผลต่ออัตราภาษี ทำให้ค่ายรถยนต์มีความพยายามใส่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไป เพื่อทำให้ค่าไอเสียต่ำลง

“ต่างจากเมื่อก่อน พยายามแล้วพยายามอีก แต่ก็กดไอเสียลงมาได้เพียงเล็กน้อย ด้วยความกว้างของแกปก็ไม่สามารถจะไปเสียภาษีในอัตราต่ำลงได้ ตอนนี้เรียกว่ามีขั้นบันไดทุกก้าวมีความหมาย ที่ผ่านมาต้องอย่างน้อย 5 ขั้นกว่าจะเป็นผล”

ต้นทุนเครื่องยนต์สันดาปเพิ่ม

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีในเชิงการสนับสนุนพลังงานสะอาด ซึ่งหากค่ายรถยนต์รายใดต้องการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่ม ต้องพัฒนารถยนต์ให้เข้ากับเงื่อนไข แต่ต้องยอมรับว่าต้องมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเพื่อพัฒนาโปรดักต์ให้ได้รับภาษี และจำหน่ายรถยนต์ในราคาเท่าเดิม หรือใกล้เคียงราคาเดิมมากที่สุด ซึ่งวันนี้ทุกค่ายยังมีเวลาพอที่จะเตรียมตัว ส่วนการรอคอยภาษีสรรพสามิตใหม่วันนี้ถือว่าสิ้นสุด ค่ายรถจะได้สามารถส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าให้ลูกค้าได้สักที หลังจากที่รอมาหลายเดือน และเร็ว ๆ นี้ก็น่าจะเปิดรับจองรถยนต์ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดในครึ่งปีหลังขยายตัวได้แน่นอน

ผู้บริโภคต้องการรถที่เข้าถึงง่าย

ส่วนกรณีที่โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่เลิกส่งเสริมอีโคคาร์ แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีโคคาร์รายใหญ่กล่าวยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สุดท้ายเมื่อเงื่อนไขข้อกำหนดเปลี่ยน ผู้ผลิตรถยนต์ย่อมต้องปรับตัวหนีไปไฮบริดให้มากขึ้น แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องยอมรับว่าราคารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปอาจจะแพงขึ้นจากต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วยังเชื่อว่าจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาจำหน่ายสูงอยู่นั้น และปัญหาของแร่ที่จะนำมาผลิตแบตเตอรี่ก็แพงขึ้น แน่นอนว่าผู้บริโภคจำเป็นต้องมองหารถยนต์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

“วันนี้ไม่ใช่รัฐบาลจะพยายามเร่งทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการลงทุน แต่ต้องมองด้วยว่าประเทศไทยใช่แหล่งลงทุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ โดยเฉพาะความพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ ค่าแรง ซึ่งไม่ใช่ว่าแค่ปรับภาษีแล้วจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้ ยกเว้นบางค่ายที่เข้าต้องมาลงทุนอย่างเกรทวอลล์ฯ และเอ็มจี ดังนั้นการสานต่อนโยบายให้ไทยเป็นดีทรอยต์ของรถยนต์ไฟฟ้าต่อจากเครื่องยนต์สันดาปนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย”