หุ้นไทยเข้าสู่ช่วงจับตา “กลุ่มโรงกลั่น-ท่าที กนง.” แกว่งตัว 1,550-1,570 จุด

หุ้น น้ำมัน

โบรกเกอร์ “ฟิลลิป” คาดตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัว 1,550-1,570 จุด เข้าสู่ช่วงจับตาประเด็นสำคัญภายในประเทศ “กลุ่มโรงกลั่น-ท่าที กนง.” เผยในอดีตที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมีผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยต่อครั้ง 6-10 จุด

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า ดัชนี SET Index คาดแกว่งตัวออกด้านข้างในกรอบ 1,550-1,570 จุด โดยตลาดหุ้นเข้าสู่ช่วงจับตาประเด็นสำคัญภายในประเทศคือ 1.จับตากลุ่มโรงกลั่นและพลังงานเป็นพิเศษ จากประเด็นการนำมติช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน รวมถึงการขอความช่วยเหลือจากโรงกลั่นเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ หลังมีการเรียกประชุมนัดพิเศษในสัปดาห์ก่อน ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบตามมติเดิมอาจกดดันต่อกลุ่มโรงกลั่นเพิ่มเติม

2.ทิศทางท่าทีของ กนง. หลังเฟดตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ทำให้ไทยและสหรัฐมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างกันกว่า 1.25% กดดันต่อเม็ดเงินลงทุนและค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงล่าสุดแตะระดับ 35.22 บาทต่อดอลลาร์ กลับมาหนุนหุ้นในกลุ่มบาทอ่อนอีกครั้ง

โดยรวมจึงมองตลาดวันนี้จะแกว่งตัวออกด้านข้างเพื่อรอพิจารณาพัฒนาการของปัจจัยต่าง ๆ สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังชอบ 1.หุ้นในกลุ่มเปิดเมือง เช่น ERW, CENTEL 2.หุ้นบาทอ่อน เช่น TU, CPF 3.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับลงของราคาพลังงานและเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น เช่น GPSC, CKP, GULF, BGRIM

ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดดิ่งลงหนักกว่า 8.03 ดอลลาร์ หรือ 6.83% เมื่อวันศุกร์ โดยมีสาเหตุจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังธนาคารกลางต่าง ๆ เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ อีกทั้งมีข่าวแนวโน้มผลผลิตน้ำมันของรัสเซียจะเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค. หลังจากการส่งออกน้ำมันในเดือน มิ.ย.สูงกว่า
คาด และรายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐและแคนาดาเพิ่มขึ้น 4 แท่น และ 10 แท่น ตามลำดับ ในสัปดาห์ก่อน

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทอ่อนสุดในรอบ 5 ปี โดยหากเปรียบเทียบ Year to date ค่าเงินบาทอ่อนค่า เป็นอันดับที่ 4 จากตะกร้าสกุลในเอเชียทั้งหมด 9 ประเทศ (Source : Bloomberg) แม้การอ่อนค่าจะเป็นบวกต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ความผันผวนที่มาก และมีอัตราเร่งสูงเกินไป ย่อมส่งผลลบต่อกลุ่มผู้นำเข้าที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

เช่น TVO-นำเข้าถั่วเหลือง, RSP-นำเข้าสินค้ารองเท้า รวมถึงสร้างอุปสรรคให้หุ้นที่มีภาระหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศสูง ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของ กนง. ในการดูแลผลกระทบทั้งต่อเสถียรภาพด้านราคา การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราแลกเปลี่ยน

โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ไทยเผชิญอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทย-สหรัฐไทยต่ำกว่าอยู่ถึง 1.25%

ขณะที่การประชุม กนง. ไทยครั้งต่อไปจะเป็นช่วงเดือน ส.ค. (ต้องผ่านการประชุมเฟดอีกครั้งในเดือน ก.ค. ทำให้ยังไม่ปิดโอกาสที่จะเห็นการจัดการประชุมวาระพิเศษของ กนง. เพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ทั้งนี้ หากย้อนไปในอดีต ช่วงที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พบว่ามีผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยต่อครั้งราว 6-10 จุด